The Success Story of The Month By ‘Business+’ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2567 จะพาผู้อ่านมาพบกับบทสัมภาษณ์สุดพิเศษจาก “เดวิด หลี่” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด ซึ่งจะมาพูดคุยถึงกลยุทธ์การบริหารจัดการธุรกิจของหัวเว่ย เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในระดับโลก และกลยุทธ์การขยายธุรกิจในประเทศไทย ต่อด้วยอีกหนึ่งหัวข้อที่น่าสนใจ คือ ข้อได้เปรียบในด้านการแข่งขันของหัวเว่ยในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสุดท้ายคือ บทบาทของหัวเว่ยในยุคที่ AI มีอิทธิพลอย่างมากต่ออนาคตของประเทศไทย
ต้องยอมรับว่า แบรนด์หัวเว่ย (HUAWEI) สามารถก้าวมายืนอยู่แถวหน้าของโลกธุรกิจได้อย่างเต็มภาคภูมิ ด้วยมูลค่าของแบรนด์ติด Top ของโลกภายในระยะเวลาไม่นาน ล้วนเกิดจากการวางรากฐานสำคัญในเรื่องของ “คน” เป็นหลัก ทั้งในแง่ปริมาณที่ดึงดูดคนรุ่นใหม่จากทั่วโลกให้เข้ามาร่วมงาน และในแง่คุณภาพ สามารถสร้างนักวิจัยและนักพัฒนาระดับหัวกะทิได้นับแสนคน
เช่นเดียวกับ “เดวิด หลี่” เข้าร่วมงานกับหัวเว่ยตั้งแต่ปี 2545 ในตำแหน่งวิศวกรแผนกวิจัยและพัฒนา จนสั่งสมประสบการณ์ในอุตสาหกรรมไอซีที ผนวกกับความสามารถในการบริหารธุรกิจของหัวเว่ยในตลาดหลายประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงเขายังมีความเชี่ยวชาญด้านการวางกลยุทธ์ที่นำไปสู่การขับเคลื่อนธุรกิจของหัวเว่ยในตลาดหลายประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน ทำให้เขาได้รับการยอมรับในฐานะผู้บริหารมากประสบการณ์คนหนึ่ง
แน่นอนว่าการเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด เมื่อปีที่ผ่านมา เขาตั้งเป้าหมายที่จะนำพาบริษัทเติบโตไปพร้อมกับการเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทยให้มีความก้าวหน้าทางดิจิทัล มีความอัจฉริยะ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และร่วมกันสร้างชีวิตที่ยั่งยืน โดยมีผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง
ทาง BusinessPlus มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษกับ “เดวิด หลี่” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด ถึงกลยุทธ์การบริหารจัดการธุรกิจของหัวเว่ย เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในระดับโลก และกลยุทธ์การขยายธุรกิจในประเทศไทย ต่อด้วยอีกหนึ่งหัวข้อที่น่าสนใจ คือ ข้อได้เปรียบในด้านการแข่งขันของหัวเว่ยในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสุดท้ายคือ บทบาทของหัวเว่ยในยุคที่ AI มีอิทธิพลอย่างมากต่ออนาคตของประเทศไทย
หนึ่งเดียวในจีนที่ขึ้นแท่นผู้นำเทคโนโลยีครบวงจรระดับโลก
บริษัทระดับโลกมากมายต้องใช้เวลานานหลายสิบปีกว่าจะเป็นที่รู้จักในด้านความโดดเด่นด้านใดด้านหนึ่ง แต่กับแบรนด์หัวเว่ย (HUAWEI) ซึ่งก่อตั้งในปี 2530 ณ เมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน เริ่มต้นจากการเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม โดยจากจุดเริ่มต้นในวันนั้น ผ่านไปเพียงแค่ 30 กว่าปี หัวเว่ยได้พัฒนาองค์กรจนขึ้นเป็นผู้นำระดับโลกในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ สมาร์ทดีไวซ์ คลาวด์ คอมพิวติ้ง ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยานยนต์อัจฉริยะ และดิจิทัล พาวเวอร์ ซึ่งต้องยอมรับว่า หัวเว่ยเป็นหนึ่งใน Big Tech Company ของโลก มีพนักงานกว่า 200,000 คนทั่วโลก กระจายอยู่ในกว่า 170 ประเทศและภูมิภาค โดย 55% เป็นบุคลากรที่ทำงานด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) และเป็นพันธมิตรที่ได้รับการยอมรับด้านการขับเคลื่อนด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันให้กับบริษัทกว่า 70% ในบริษัทที่อยู่ใน Fortune 500
คุณเดวิด หลี่ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด ให้สัมภาณ์พิเศษกับ BusinessPlus ว่า “ทุกช่วงเวลาการเติบโตของหัวเว่ย เรายึดมั่นในวิสัยทัศน์ที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลให้เข้าถึงทุกคน ทุกบ้าน และทุกองค์กร เพื่อสร้างโลกอัจฉริยะที่เชื่อมโยงกันอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งหากเจาะลึกไปในแต่ละอุตสาหกรรม จะพบว่าหัวเว่ยมีบทบาทอย่างชัดเจนในการช่วยพัฒนาภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาคโทรคมนาคม ที่หัวเว่ยเป็นผู้นำตลาดมายาวนาน และมีความร่วมมือกับผู้ให้บริการต่าง ๆ เพื่อนำเสนอบริการเชื่อมต่อคุณภาพสูงให้กับประชากรกว่า 3,000 ล้านคนทั่วโลก
สำหรับภาคองค์กร หัวเว่ยมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันในหลายธุรกิจ เช่น รัฐบาล การเงิน และการศึกษา หรือแม้แต่อุตสาหกรรมภาคพลังงานสีเขียว หัวเว่ยได้พัฒนาโซลูชันพลังงานแสงอาทิตย์ และโซลูชันการจัดเก็บพลังงาน ซึ่งช่วยลดการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกได้ถึง 700 ล้านตัน ส่วนในภาคผู้บริโภค ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ Wearable และสมาร์ทโฟนจอพับได้ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในระดับโลก และส่วนในภาครถยนต์ไฟฟ้า หัวเว่ยได้จับมือกับพันธมิตร เพื่อพัฒนาแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่ เช่น AITO ซึ่งได้รับความนิยมและกลายเป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำที่ขายดีที่สุดในประเทศจีน เป็นต้น
25 ปีในไทย กับ 4 บทบาทสำคัญ
แน่นอนว่าคนไทยหลายคนอาจจะเริ่มได้ยินชื่อหัวเว่ยในวันที่เข้ามาทำตลาดสมาร์ทโฟนเมื่อปี 2556 หรือประมาณ 11 ปีที่ผ่านมา แต่ในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ หัวเว่ยได้เข้ามาทำธุรกิจในไทยถึง 25 ปีแล้ว และไทยเป็นตลาดเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญของหัวเว่ยมาโดยตลอด โดยเริ่มตั้งแต่ยุค 2G จนปัจจุบันเดินทางมาถึงยุค 5G
คุณเดวิด หลี่ เล่าให้ฟังว่า “ภารกิจของเราคือเติบโตในประเทศไทย และมีส่วนร่วมเพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานเทคโนโลยีและพันธมิตรที่น่าเชื่อถือในการพัฒนาประเทศที่ก้าวสู่ความก้าวหน้าทางดิจิทัล มีความอัจฉริยะ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และร่วมกันสร้างชีวิตที่ยั่งยืน โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทย หัวเว่ยแบ่งเทคโนโลยีออกเป็น 4 แกนสำคัญ ประกอบด้วย
- การเชื่อมต่อที่ครอบคลุม โดยหัวเว่ยนับว่าเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และมีส่วนสำคัญในการทำทรานส์ฟอร์มประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัล ผ่านการนำเสนอบริการมือถือและบรอดแบนด์ในราคาที่เข้าถึงได้และมีคุณภาพสูง รวมถึงยังนำเทคโนโลยี 5G เข้ามาปลดล็อกศักยภาพอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ ภาคการผลิต เฮลท์แคร์ และโลจิสติกส์ เช่น การจับมือกับ Midea สร้างมาตรฐานใหม่ให้โรงงานในไทย ผ่านการเชื่อมต่อด้วย 5G เต็มรูปแบบ ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ถึง 20% นำ AI มาลดการทำงานซ้ำซ้อนได้ 75% และจากความร่วมมือในครั้งนี้ ทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีสามารถเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรมได้อย่างไร
- เพิ่มประสิทธิภาพองค์กร โดยบทบาทที่สำคัญต่อมาของหัวเว่ย คือ การนำโซลูชันสมัยใหม่เข้ามาเพื่อประสิทธิภาพองค์กร ไม่ว่าจะเป็นในภาคการเงิน การศึกษา เฮลท์แคร์ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยโซลูชันเข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนในการทำงาน เช่น ในด้านการศึกษา หัวเว่ยนำ Wi-Fi 7 เข้ามาสร้างวิทยาเขตอัจฉริยะให้กับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สามารถเพิ่มความเร็วเฉลี่ยได้ 2 เท่า และยังส่งเสริมการใช้งานดิจิทัล รวมถึง AI ในห้องเรียน ด้านเฮลท์แคร์ได้ติดตั้งโซลูชัน 5G และ IdeaHub ให้กับสถาบันมะเร็งแห่งชาติของประเทศไทย ช่วยให้ผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลสามารถปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามายังโรงพยาบาลในเมือง ส่วนด้านการเงินได้นำโซลูชัน High-end flash storage ที่ความหน่วงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 60% และประมวลผลเร็วขึ้น 25% เข้ามาช่วยจัดการระบบไอทีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังลดต้นทุนอีกด้วย
- Cloud, AI, และ Big data ซึ่งอีกหนึ่งบทบาทที่หัวเว่ยมุ่งมั่นในการพัฒนา คือ การให้บริการคลาวด์ (Cloud) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับลูกค้า หากมองเรื่องของอัตราการเติบโต หัวเว่ยคลาวด์นับเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการคลาวด์ที่เติบโตเร็วที่สุดในไทย และมีผู้ใช้บริการมากเป็นอันดับ 3 หัวเว่ยมี Data Center อยู่ในไทย 3 แห่งที่ปฏิบัติตามข้อกำหนด PDPA ไม่เพียงเท่านั้น หัวเว่ยยังมีทีมวิศวกรคลาวด์ AI จำนวน 200 คน มีพันธมิตร 800 ราย และนักพัฒนาท้องถิ่นอีก 10,000 คน ไว้คอยเข้ามาสนับสนุนลูกค้ารีเทลและบริษัทค้าส่งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพและรองรับการกู้คืนข้อมูลจากภัยพิบัติ ด้านประสิทธิภาพการทำงาน หัวเว่ยคลาวด์สามารถช่วยการจัดการข้อมูลรวดเร็วขึ้น 20% ลดต้นทุน (TCO) ลง 20% รวมถึงยังมีฐานข้อมูล GaussDB ที่เป็น AI-native ที่มีความปลอดภัยสูง และปรับใช้กับอีโคซิสเต็มของลูกค้าได้ ซึ่งตัวอย่างการนำไปใช้กับธนาคารชั้นนำของจีน คือ สามารถลดเวลารอคิวของลูกค้าจาก 300 นาที เหลือเพียง 90 วินาที และยังเพิ่มประสิทธิภาพระบบได้ 50% ขณะที่ยังลดต้นทุน (TCO) อีกด้วย
- Digital power โดยบทบาทสุดท้าย คือ ด้านพลังงานที่เข้ามาสนับสนุนแผนความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทยในปี 2593 โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาผสานกับพลังงานอิเล็กทรอนิกส์ โดยที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ฝึกอบรมวิศวกรด้านพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 2,000 คน ติดตั้งโซลูชันพลังงานสีเขียวให้กับธุรกิจกว่า 1,000 ราย และกว่า 100,000 ครัวเรือน ซึ่งหากนำมาเทียบจะเป็นการช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 5 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดลติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์และการจัดเก็บพลังงาน ช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ปีละ 80 ล้านบาท เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 15,000 ต้น ยั่งยืนด้วยการพัฒนาบุคลากร เพื่อสร้างระบบนิเวศให้ครบสมบูรณ์
นอกเหนือจากการนำโซลูชันเข้ามาส่งเสริมให้ประเทศไทยแล้ว ตลอด 25 ปีที่หัวเว่ยเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย ยังได้พัฒนาบุคลากรคนไทยให้มีความรู้ความสามารถด้านดิจิทัล โดยปัจจุบันหัวเว่ยมีพนักงานกว่า 1,900 คนในไทย และเป็นพนักงานคนไทยมากถึง 77%
ด้านความร่วมมือในภาคโทรคมนาคม ที่ผ่านมาได้มีการอบรมและสรรหาวิศวกรมากกว่า 6,000 คนทุกปี ส่วนในด้านองค์กรและคลาวด์ หัวเว่ยได้ร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่นเกือบ 2,000 ราย โดย คุณเดวิด หลี่ กล่าวว่า “เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นดิจิทัล อัจฉริยะ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ เราไม่สามารถทำให้สำเร็จโดยลำพัง ดังนั้น เราจึงได้สร้างระบบนิเวศของพันธมิตรที่มีแนวทางร่วมมือกันในระยะยาว สร้างความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน และสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน”
ไม่เพียงเท่านั้น หัวเว่ยยังเปิดตัวโปรแกรมฝึกอบรม Huawei ASEAN Academy เพื่อพัฒนาทักษะบุคลากร โดยที่ผ่านมาได้ฝึกอบรมบุคลากรด้านดิจิทัลในประเทศไทยไปแล้วถึง 96,000 คน และมี 20,000 คนได้รับประกาศนียบัตรจากหัวเว่ย ซึ่งเป็นตัวช่วยให้บุคลากรเหล่านี้มีความได้เปรียบในการทำงานในตลาดแรงงาน
สำหรับภาคการศึกษา ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและบริษัทต่าง ๆ ฝึกอบรมผู้พัฒนาคลาวด์จำนวน 10,000 คน และในปี 2567 นี้ ได้จัดการแข่งขัน Asia Pacific Developer Competition ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาทักษะของวิศวกรซอฟต์แวร์ที่มีความเชี่ยวชาญสูง เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีในประเทศไทย ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
และไม่เพียงแค่การสนับสนุนด้านธุรกิจ แต่หัวเว่ยยังมีโครงการที่ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) อีกด้วย โดยจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นในปี 2551 หัวเว่ยได้ริเริ่มโครงการ Seeds for the Future ในประเทศไทย จนปัจจุบันมีนักศึกษาไทยกว่า 300 คนที่ได้เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและเทคโนโลยีนี้ ต่อมาในปี 2564 หัวเว่ยได้จัดโครงการ CSR อย่าง Digital Bus ซึ่งสร้างโอกาสให้เยาวชนไทยได้รับการฝึกอบรมด้านดิจิทัลไปแล้วมากกว่า 5,000 คน ใน 14 จังหวัดห่างไกล และล่าสุดในปี 2567 นี้ ได้ร่วมมือกับ UNESCO บริจาคระบบพลังงานแสงอาทิตย์และโซลูชันห้องเรียนอัจฉริยะให้กับโรงเรียน 21 แห่งทั่วประเทศไทย
ทุ่มงบ R&D สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
หากถามถึงข้อได้เปรียบเชิงการแข่งขัน ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเข้มข้นของหัวเว่ย หนึ่งในกุญแจสู่ความสำเร็จที่หัวเว่ยให้ความสำคัญมาโดยตลอดคือการทุ่มเม็ดเงินลงทุนไปกับการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อให้ตัวเองยังคงเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเฉลี่ยประมาณ 20% ของรายได้ประจำปี ทำให้วันนี้หัวเว่ยมีความก้าวหน้าในด้านวัสดุ ส่วนประกอบ กระบวนการผลิต โซลูชันจัดเก็บข้อมูล (Flash storage) ที่ช่วยลดการใช้พลังงานลง 50% ช่วยลดระยะเวลาการจัดส่งลง 30% และใช้พื้นที่เก็บน้อยลง 40%
สำหรับโซลูชันด้านเน็ตเวิร์ค นวัตกรรมด้านการออกแบบเข้ามาช่วยลดการใช้ชิ้นส่วนออปติก (Optical components) และยังรับประกันว่าต้นทุนด้านเน็ตเวิร์คนั้นจะไม่เกิน 20% ของต้นทุนทั้งหมด ในส่วนด้านการสื่อสารด้วยออปติกมีการพัฒนาเทคโนโลยีอัลกอริธึมการชดเชย สามารถเพิ่มระยะทางการส่งสัญญาณของไฟเบอร์ 800G ได้ประมาณ 20%
“นอกจากการลงทุนใน R&D เรายังอยากจะเน้นถึงอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือค่านิยมหลักของหัวเว่ย ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนความสำเร็จ ในบรรดาค่านิยมเหล่านี้ การมุ่งเน้นที่ลูกค้าถือเป็นรากฐานที่สำคัญ ซึ่งเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์นวัตกรรม การสร้างความร่วมมือ และการดำเนินกลยุทธ์ของหัวเว่ย นั่นคือเหตุผลที่เราได้ตั้งทีมงานท้องถิ่นจำนวน 2,000 คนในประเทศไทย เพื่อฟังเสียงและตอบสนองต่อปัญหาที่แท้จริงของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” เดวิด หลี่ กล่าวเสริม
เดินหน้าสนับสนุนไทยสู่ยุคดิจิทัลและความยั่งยืน
สำหรับประเด็นสุดท้าย คือเรื่องบทบาทของหัวเว่ยกับประเทศไทยในยุคที่เกิดการเปลี่ยนทางด้านดิจิทัล และ AI เข้ามามีอิทธิพลอย่างมากต่ออนาคตของประเทศ ซึ่งคุณเดวิด หลี่ กล่าวว่า “เราเชื่อเรื่อง Digitalization และ Low-carbonization เป็นสองเทรนด์ที่มีแนวโน้มชัดเจนที่สุดในปัจจุบัน หากมองภาพรวมของเศรษฐกิจอัจฉริยะที่มีการคาดการณ์ว่าอาจจะมีมูลค่าสูงถึง 18.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2573 คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 37.9% ของเศรษฐกิจโลกเมื่อรวมกับเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งการสนับสนุนประเทศไทยในการก้าวสู่ยุคดิจิทัลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หัวเว่ยจะเข้ามาสนับสนุนประเทศไทยให้สามารถรับมือกับโอกาสและความท้าทายอย่างต่อเนื่อง ใน 4 ด้าน ประกอบด้วย”
- สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบในองค์กร โดยเริ่มจากการเปลี่ยนผ่านจากระบบออนไลน์สู่คลาวด์ และสู่ระบบอัจฉริยะ ผ่านการร่วมมือกับลูกค้าในทุกรูปแบบ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT ให้กลายเป็นระบบคลาวด์อัจฉริยะ มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
- ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยหัวเว่ยมีการจัดตั้งทีมงานเฉพาะทาง และเชิญผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเข้ามาร่วมงาน เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์อย่างครอบคลุม เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าจากภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงธนาคาร การศึกษา สาธารณสุข และการผลิต รวมถึงพัฒนาโซลูชันที่เหมาะสมกับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) ผ่านแบรนด์ HUAWEI eKit พร้อมผลิตภัณฑ์ด้านเครือข่าย การจัดเก็บข้อมูล และจอแสดงผล มากกว่า 100 รายการ โดยผลิตภัณฑ์ถูกออกแบบมาเพื่อสนับสนุน SMEs ในด้านการแข่งขันและการเติบโตในตลาด ทั้งในมิติด้านความคุ้มค่า ประสิทธิภาพการใช้งาน และความง่ายในการใช้งาน
- ความสำเร็จของพันธมิตร คือ ความสำเร็จของหัวเว่ย โดยประเด็นนี้เป็นอีกหนึ่งในวิสัยทัศน์ของการเติบโตไปด้วยกันของหัวเว่ย คือ การสร้างระบบพันธมิตรที่มีความมั่นคงในระยะยาว ให้เกิดความเชื่อใจกันระหว่างหัวเว่ยและลูกค้า ผ่านการแชร์ทรัพยากรต่าง ๆ รวมถึงการให้ความรู้ด้านทักษะใหม่ ๆ และมีระบบการรับรองมาตรฐาน
- ส่งเสริมการเข้าถึงความรู้ด้านดิจิทัลให้กับชุมชน ซึ่งปัจจัยสุดท้ายนี้คือการส่งเสริมให้คนไทยได้เข้าถึงองค์ความรู้ โดยหัวเว่ยตั้งเป้าฝึกอบรมนักพัฒนาคลาวด์ให้ได้ถึง 20,000 คนภายในสิ้นปี 2567 และยังพัฒนาความรู้ให้กับวิศวกรด้านพลังงานสีเขียวอีก 10,000 คนภายในปีนี้เช่นกัน ไม่เพียงเท่านี้ หัวเว่ยยังเดินหน้าโครงการ Digital Bus อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งต่อความรู้ไปยังผู้ใช้ทั่วไปและกลุ่มที่ด้อยโอกาส รวมถึงโรงเรียนในพื้นที่ชนบทจำนวนมาก
จากบทสัมภาษณ์ทั้งหมดเราจะเห็นว่า คุณเดวิด หลี่ คือผู้นำขับเคลื่อนหัวเว่ย ประเทศไทย สู่การเติบโตระดับโลกไปพร้อม ๆ กับการเติบโตของประเทศไทย ร่วมกับพันธมิตรทุกฝ่ายเพื่อสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
เขียนและเรียบเรียง : ทรงกลด แซ่โง้ว
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #Business #Huawei