ทำไม ร้านที่ขายของเหมือนกัน ถึงชอบเปิดใกล้กัน ?

หลายคนน่าจะเคยเห็นร้านที่ขายของคล้าย ๆ กันตั้งอยู่ติดกัน ไม่ว่าจะเป็น ร้านสุกี้ชาบูที่ตั้งอยู่ในโครงการเดียวกัน หรือแม้แต่ร้านกาแฟที่อยู่แทบจะติดกัน แล้วอาจจะสงสัยว่า การตั้งร้านอยู่ข้างคู่แข่งแบบนี้ไม่ทำให้ลูกค้าลดลงเหรอ ?

รู้หรือไม่ว่า มีทฤษฎีเศรษฐศาสตร์หนึ่งชื่อว่า “Hotelling’s Law” ที่มีใจความว่า ธุรกิจคล้าย ๆ กันที่ตั้งอยู่ใกล้กันอาจทำให้มีลูกค้าเดินเข้าร้านมากกว่าการที่มีแค่ร้านเดียวตั้งอยู่แบบเดี่ยว ๆ

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ คือ ถ้าชายหาดแห่งหนึ่งมีร้านสองร้าน ที่ขายของเหมือนกันทุกอย่างและมีราคาขายเท่ากัน ตั้งร้านกันอยู่คนละมุมหาด ทำให้สองร้านนี้มีจำนวนลูกค้าพอ ๆ กัน เพราะผู้บริโภคจะเลือกไปซื้อของกับจุดที่อยู่ใกล้ตัวที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองเจ้าของร้านก็ย่อมอยากชิงส่วนแบ่งทางการตลาดจากคู่แข่งเป็นธรรมดา ทำให้มีร้านหนึ่งตัดสินใจย้ายจากมุมหาดไปอยู่ตรงกลางหาดแทน เพื่อที่จะสามารถดึงดูดลูกค้าที่อยู่กลางหาดได้มากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่ออีกร้าน เพราะจะมีจำนวนลูกค้าน้อยลง ทำให้พอเรื่องเป็นแบบนี้ เจ้าของร้านขายของอีกคนก็จำเป็นต้องย้ายมาอยู่กลางหาดบ้าง เพื่อชิงส่วนแบ่งทางการตลาดกลับมา

จนสุดท้ายแล้วเจ้าของร้านทั้งสองแห่ง จากเดิมที่ตั้งร้านอยู่กันคนละมุม ก็ต้องมาอยู่ติดกัน โดยแต่ละร้านก็ไม่สามารถขยับไปไหนได้อีกแล้ว เพราะตรงกลางหาดเป็นจุดที่มีโอกาสที่จะมีลูกค้าเข้ามาในร้านที่สุดแล้ว

หากนำตัวอย่างนี้มาบรรยายในชีวิตจริงนั้น ผู้ประกอบการย่อมเลือกตั้งร้านค้าในพื้นที่ที่มีโอกาสเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด ดังนั้นร้านที่เลือกจะไปตั้งอยู่ที่ห่างไกลเพราะกลัวการแย่งชิงลูกค้าก็จะเสียโอกาสไป นอกจากนี้ การมีร้านขายของคล้ายกันมาตั้งใกล้กันยังเป็นการช่วยเพิ่มแทรฟฟิกให้กับร้าน เนื่องจากร้านเหล่านี้มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่คล้ายกัน ทำให้ลูกค้ามีทางเลือกเยอะขึ้น และมีโอกาสใช้เวลาอยู่ในพื้นที่บริเวณนั้นนานขึ้นอีกด้วย

ตัวอย่างของ Hotelling’s Law ที่มีให้เห็นในปัจจุบันก็อย่างเช่นเวลาที่มีร้านอาหารหนึ่งได้รับความนิยมมาก ๆ จนมีร้านอาหารแบบเดียวกันไปเปิดร้านใกล้ ๆ กันเต็มไปหมด หรือแม้แต่อย่างร้านสะดวกซื้อ 7-11 ที่เปิดในซอยเดียวกันสองสามร้าน เป็นต้น