‘เฮลท์ลีด’ หุ้นไต่ระดับจน P/E สูง!! แต่มองด้านมูลค่า ไม่ได้แปลว่า ‘แพง’

ตลาดผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ และเวชภัณฑ์กลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) หลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ผู้เล่นที่อยู่ในตลาดสุขภาพสามารถโกยกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ
หนึ่งในบริษัทที่มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจครบทั้ง 3 ด้าน คือ ในแง่ของ Business Model และกลยุทธ์การบริหารธุรกิจ ผลประกอบการที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด และในแง่ของราคาหุ้นในกระดานที่ตอบรับกันเป็นอย่างดีคือ ‘บริษัท เฮลท์ลีด จำกัด (มหาชน) หรือ HL’
โดยธุรกิจของ HL มีลักษณะเป็น Holding Company หรือบริษัทที่ประกอบธุรกิจลงทุนบริษัทอื่น โดยปัจจุบันสามารถแบ่งเป็น 2 ธุรกิจหลัก คือ ร้านขายยา และธุรกิจคิดค้น และพัฒนาร่วมกับทีมวิจัยภายนอก รวมทั้งว่าจ้างผู้ผลิต เพื่อจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ แค่ดูจากโมเดลธุรกิจก็ต้องยอมรับว่ามีความน่าสนใจหลายอย่าง
ซึ่งปัจจัยที่จะสนับสนุนการเติบโตของ HL หลักๆ มีอยู่ 4 ประเด็นด้วยกัน คือ
1. ธุรกิจด้านสุขภาพเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) หลังเกิด COVID-19 ซึ่งในอนาคตเราจะได้เห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องในตลาดนี้ โดยเฉพาะเมื่อมองด้านมูลค่าของตลาดยาที่มีรูมสำหรับการเติบโตได้อีกมากจากสังคมผู้สูงอายุ
2. HL ถือว่าเป็นผู้เล่นอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศในด้านตลาดยา และยังเป็นบริษัทในตลาดหุ้นเพียงรายเดียวที่มีธุรกิจร้านขายยา นั่นทำให้บริษัทฯ แห่งนี้มีความได้เปรียบเชิงแข่งขัน ทั้งด้านของประสบการณ์ และความน่าเชื่อถือ รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ ที่นำมาใช้กับธุรกิจ รวมไปถึง HL เป็นบริษัทฯ ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น
3. การเติบโตของผลประกอบการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 10% ซึ่งเป็นการเติบโตจากยอดขายจากสาขาเก่า (SSSG) ทั้งหมด ซึ่งหากบริษัททำการเปิดสาขาใหม่จะยิ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของยอดขาย โดยกลยุทธ์ของการเติบโตที่ผ่านมาคือการปรับโมเดลธุรกิจใหม่ ทั้งในส่วนของการปรับปรุงรูปแบบร้าน รวมไปถึงการลงทุนด้านเทคโนโลยี
4. เม็ดเงินลงทุนที่จะสามารถใช้ในการขยายธุรกิจ หรือเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของ HL ยังมีจำนวนมาก จากการขาย IPO ที่ได้รับจาก IPO อยู่ที่ 705.60 ล้านบาท รวมไปถึงยังมีสภาพคล่องที่ค่อนข้างสูง อัตราส่วนหนี้สินค่อนข้างต่ำ D/E
เมื่อปัจจัยทั้ง 4 ประกอบเข้าด้วยกัน ได้ทำให้หุ้น HL ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งรายใหญ่และรายเล็ก รวมไปถึงต่างชาติที่ถือหุ้นผ่าน ‘บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด’ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนถือหุ้น 1.26%
นั่นทำให้ราคาหุ้น HL ปรับตัวขึ้นตลอดระยะเวลากว่า 6 เดือนที่เข้ามาจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ mai นับจากวันแรกที่เริ่มซื้อขายคือ 3 ธ.ค.2564 ด้วยราคา IPO ที่ 9.80 บาทต่อหุ้น บนอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) 27.63 เท่า (คำนวณจากกำไร 4 ไตรมาส ของเดือนตุลาคม 2563 ถึง 30 กันยายน 2564 ซึ่งกำไรสุทธิอยู่ที่ 70.95 ล้านบาท)
ขณะที่ราคาหุ้นในวัน First day trade ขึ้นไปสู่ปิดที่ระดับ 13.00 บาท ยืนเหนือราคา IPO 32.65% และได้ขึ้นไปทำจุดสูงสุดเมื่อวันที่ 20 เม.ย.2565 ซึ่งปิดตลาดที่ราคา 31.25 บาท
มาจนถึงปัจจุบันนี้ราคาหุ้น HL ยังคงอยู่ในระดับสูง ล่าสุด ณ วันที่ 28 มิ.ย.2565 ราคาหุ้นปิดที่ระดับ 25 บาท คิดเป็น P/E สูงถึง 71 เท่า
หลายคนอาจจะมองว่า เมื่อมองจากค่า P/E ราคาหุ้น HL ขณะนี้ค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับตลาด mai ซึ่ง P/E อยู่ที่ 52.19 เท่า และยังค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ที่ทำธุรกิจใกล้เคียงกัน เช่น บริษัท อินเตอร์ ฟาร์มา จำกัด (มหาชน) หรือ IP ผู้ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพและนวัตกรรมความงามซึ่งอยู่ในตลาด mai เหมือนกัน ซึ่งขณะนี้ค่า P/E อยู่ที่ 48.86 เท่า
แต่เมื่อมองถึงโอกาสการเติบโต จะเห็นว่าไตรมาส 1 ที่ผ่านมา กำไรสุทธิของ HL เติบโตได้สูงกว่า คือเติบโตถึง 109% เมื่อเทียบกับ IP ที่เติบโต 72%
นอกจากนี้ กำไรสุทธิของ HL เพียงไตรมาส 1/2565 ไตรมาสเดียว กลับทำได้ถึง 30.19 ล้านบาท คิดเป็น 37.89% จากกำไรทั้งปีของปี 2564 ที่ผ่านมาเสียด้วย เท่ากับว่าหากแต่ละไตรมาส HL สามารถรักษากำไรในระดับนี้ได้ สิ้นปีจะมีกำไรสุทธิมากเกินระดับ 150 ล้านบาท หรือเติบโตจากปี 2564 ถึง 88% หรือเกือบ 1 เท่าตัว
มาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่าค่า P/E ที่สูงอาจไม่ได้สะท้อนว่าราคาขณะนี้แพง หรือถูกได้เสมอไป โดยเฉพาะกับหุ้นที่คาดการณ์ว่ามีโอกาสเติบโตในอนาคตสูง
โดยปกติค่า P/E จะเป็นตัวชี้วัดความ ‘ถูก-แพง’ ได้ เพราะเป็นอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้วัดระหว่างราคาหุ้นในปัจจุบันเทียบกับกำไรสุทธิต่อหุ้น จึงถูกนำมาใช้คำนวนว่า หากราคาหุ้นเท่านี้จะสามารถคืนทุนได้ภายในกี่ปี
ดังนั้น สำหรับหุ้นที่มีการเติบโตสูงมากๆ แล้ว เราจึงใช้อัตราส่วนอีกประเภทคือ อัตราส่วน PEG (Price Earning to Growth) ซึ่งถูกนำมาวัดว่า P/E ในปัจจุบันเมื่อเทียบกับการเติบโตของกำไรสุทธิแล้ว ราคาหุ้นในปัจจุบันถือว่า “สูง หรือ ต่ำ”
อธิบายให้ฟังอย่างง่ายๆ คือ เมื่อ P/E ของหุ้น HL ซึ่งอยู่ที่ 71 เท่า มาหารด้วยอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น ที่เราคาดการณ์ว่าจะเติบโต 88% ในปี 2565 จะทำให้อัตราส่วน PEG อยู่ที่ 0.80 เท่า
นั่นแสดงว่า P/E ของ HL ยังอยู่ในระดับเหมาะสมเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ เพราะอัตราส่วน PEG ที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 1 เท่า หากเกินกว่า 1 เท่าจะเท่ากับว่า การเติบโตของกำไรยังต่ำกว่าความคาดหวังต่อราคาหุ้น หรือพูดง่ายๆว่าหาก PEG เกิน 1 เท่าจะเท่ากับว่า ‘ราคาแพงเกินไป’
นอกจากค่า PEG ที่ค่อนข้างดีแล้ว HL ยังมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของผลประกอบการ คือการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และการขยายสาขา ซึ่งมีเม็ดเงินจาก IPO คอยรองรับ และเมื่อดูจากกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรรอีกจำนวน 75.85 ล้านบาท เท่ากับว่า ฐานะการเงิน และเม็ดเงินลงทุนของ HL ค่อนข้างเพียบพร้อมที่จะทำให้บริษัทแห่งนี้ยังเติบโตได้อีกก้าวกระโดด
ซึ่งในประเด็นนี้ จากการสัมภาษณ์ ‘ภก.ร.อ.ธัชพล ชลวัฒนสกุล’ หัวเรือใหญ่ ตั้งเป้าหมายว่าจะเปิดสาขาของร้านขายยาใหม่ 10 สาขาภายในปี 2565 และจะเปิดเพิ่มอีก 14 สาขาในปี 2566 และยังมีแผนส่งผลิตภัณฑ์เข้าไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศภายในปีนี้ ซึ่งเป้าหมายแรกคือ ‘จีน-สหรัฐฯ’
เมื่อมองปัจจัยบวกจากประเด็นทั้งหมดนี้ แล้วย้อนกลับมามองผลประกอบการของ HL ในช่วง 3 ปีย้อนหลังจากรายได้ในปี 2562 อยู่ที่ 854.00 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมาเป็นระดับ 1,080.11 ล้านบาท ในช่วงปี 2563 จนก้าวเข้าสู่บริษัทที่มีรายได้ระดับ 1,216.41 ล้านบาทในปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งมีเบื้องหลังของการเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ในทุกๆ ปี ได้จากยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ล้วนๆ !!
ดังนั้น หากมองไปข้างหน้าตามแผนขยายสาขา และบุกตลาดต่างประเทศตามที่ผู้บริหารวางเอาไว้ จึงยิ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมที่จะทำให้ HL เติบโตได้มากขึ้นยิ่งกว่าเดิมอย่างแน่นอน
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ที่มา : SET , Exclusive content
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #สุขภาพ #นวัตกรรมสุขภาพ #ร้านขายยา #HL