ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรของไทยในปัจจุบันมีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน และยังเป็นอันดับ 4 ของเอเชีย ขณะที่หากวัดมูลค่าทั่วโลกแล้วนั้น ตลาดสมุนไพรไทยยังเป็นอันดับที่ 8 ของโลก โดยปี 2566 ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยสร้างรายได้มูลค่ารวม 56,944 ล้านบาท ซึ่งคาดการณ์ว่า ในปี 2570 ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรของไทยจะมีมูลค่าเติบโต 104,000 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดถึง 82% เกิดจาก ค่านิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง หันมาเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และสมุนไพรเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยาและสมุนไพรที่ผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จำนวนกว่า 17,300 รายการ และมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยกว่า 2,000 รายการที่ได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพ (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
และเมื่อเจาะเข้าไปในข้อมูลเชิงลึก ถึงแม้อุตสาหกรรมสมุนไพรไทยกำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าจะแตะแสนล้านบาทในปีนี้ แต่ส่วนใหญ่แล้วการบริโภคนั้น ยังเป็นการบริโภคภายในประเทศ ส่วนตลาดส่งออกปัจจุบันมีเพียง 1.2 หมื่นล้านบาท
โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตัวเลขสัดส่วนการส่งออกยังไม่เติบโต เป็นเพราะโรงงานสมุนไพรไทยหลายแห่งยังไม่ได้มาตรฐานการผลิตในระดับสากล โดยเฉพาะมาตรฐานที่นานาชาติกำหนด
ซึ่ง ‘Business+’ พบข้อมูลว่ามีผู้ผลิตยาสมุนไพรอีกหลายเจ้าที่ยังไม่ได้รับมาตรฐานที่ดีสำหรับการส่งออก เพื่อที่จะได้รับการยอมรับในตลาดโลก โดยข้อมูลจาก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พบว่ามีโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐานกว่า 500 แห่ง ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกปิดตัว และยังถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการสร้างมูลค่าตลาดสมุนไพรทั้งในและต่างประเทศ
ถึงแม้การพึ่งพากำลังซื้อในประเทศนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะหากประเทศคู่ค้าเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเราก็ยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่อย่างไรก็ตามในภาวะที่กำลังซื้อชะลอตัวเหมือนตอนนี้ก็จะทำให้กระทบต่อยอดขายโดยตรง และทำให้ผู้ประกอบการด้านสมุนไพรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำได้รับผลกระทบทั้งห่วงโซ่อุปทาน และการที่จะปล่อยให้ตลาดสมุนไพรไทยพึ่งพากำลังซื้อในประเทศอย่างเดียวนั้นถือว่ามีขีดจำกัด และทำให้ไทยเสียโอกาสให้กับประเทศอื่น ๆ
ซึ่งการที่กลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร ส.อ.ท. ได้ร่วมมือกับ อย. และหน่วยงานส่งเสริมต่าง ๆ เช่น กรมการแพทย์แผนไทย และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในการประชุมหารือเพื่อหาแนวทางปรับปรุงมาตรฐานอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยอย่างครอบคลุม ทั้งสำหรับโรงงานขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ และพัฒนาโรงงานผลิตยาสมุนไพรให้ได้มาตรฐานสากล จะส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศเพื่อช่วยเพิ่มยอดขายให้เติบโต และยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร
โดยแผนการนี้สามารถแบ่งออกเป็นระดับต่าง ๆ ตามศักยภาพของโรงงาน เพื่อให้สามารถรองรับการผลิต ทั้งในประเทศและการส่งออก 3 ด้าน ได้แก่
- การพัฒนาโรงงานให้ได้มาตรฐาน PIC/S GMP: สำหรับโรงงานที่มีศักยภาพสูง จะได้รับการสนับสนุนให้ยกระดับมาตรฐานการผลิตสู่ GMP/PIC/S ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อเปิดโอกาสในการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดโลก
- การพัฒนาโรงงานให้ได้มาตรฐาน ASEAN GMP: โรงงานส่วนใหญ่จะได้รับการส่งเสริมให้ได้มาตรฐาน GMP ASEAN เพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันในภูมิภาคอาเซียน
- การสนับสนุนโรงงานขนาดเล็ก: โรงงานขนาดเล็กจะได้รับการพัฒนาให้ได้มาตรฐานพื้นฐานระดับเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง เพื่อรักษาองค์ความรู้แพทย์แผนไทย และสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ
ที่มา : อย. , IQ , ศูนย์วิจัยกสิกรไทย , ส.อ.ท.
ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus
Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #สมุนไพรไทย #โรงงานสมุนไพร