The Success Story Wisdom+ Best Partner จุดสร้างความสำเร็จ ‘เฮงลิสซิ่ง’

The Success Story By Business+ เดือนนี้จะพาผู้อ่านมาพบ ‘เฮงลิสซิ่ง’ บริษัทที่มีต้นกำเนิดมาจากการรวมตัวกันของ 4 พันธมิตรท้องถิ่น ถือเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา การันตีได้จากผลงานที่เติบโตอย่างโดดเด่น และสาขาที่มีอยู่ครอบคลุมทั่วประเทศ

ซึ่งจุดแข็งที่เห็นได้เด่นชัดคือ สายสัมพันธ์จากการให้บริการกับลูกค้าท้องถิ่น เครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่ง และผู้บริหารที่มากประสบการณ์ในธุรกิจสินเชื่อ นั่นทำให้เป้าหมายหลาย ๆ ด้านของพวกเขาเป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ทุก ๆ ด้าน จนในวันนี้ ‘เฮงลิสซิ่ง’ กลายเป็นผู้เล่นที่น่าจับตามอง และเชื่อว่าจะมีการเติบโตได้ต่อเนื่องอย่างไม่มีข้อกังขา

คุณสุธารทิพย์ พิสิฐบัณฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ HENG กล่าวกับ ‘Business+’ ว่า เฮงลิสซิ่ง เกิดขึ้นจากการรวมตัวของผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อ ให้สินเชื่อรถยนต์มือสอง จากผู้ประกอบการ 4 กลุ่มในภาคเหนือ  โดยที่มีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการให้สินเชื่อ และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการรายเล็กในท้องถิ่น

โดยพันธมิตรทั้ง 4 ได้ร่วมมือกันทำธุรกิจโดยเสริมสร้างความแข็งแกร่งในแต่ละจุดที่ตัวเองมี ซึ่งทำให้เกิดความแข็งแกร่งที่หลากหลาย และกลายเป็นเฮงลิสซิ่งที่สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ในทุกวันนี้

นอกจากนี้ เฮงลิสซิ่งยังมีความโดดเด่นจากแผนการขยายธุรกิจที่ชัดเจนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการขยายสาขาเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี โดยภายในปี 2566 คุณสุธารทิพย์ ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะมีสาขาทั้งหมด 830 สาขา จากปัจจุบันมีสาขาทั้งหมด 630 สาขาทั่วประเทศ

“ตั้งแต่วันแรกที่รวมตัวกันของกลุ่มผู้ถือหุ้น เฮงลิสซิ่งมีเป้าหมายคือ จะต้องเข้าตลาดในตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังนั้นพวกเขาจึงเริ่มต้นจากการใช้ผู้ตรวจสอบบัญชีที่เป็น Big 4 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานบัญชี ซึ่งทำให้เราสามารถได้รับใบอนุญาตและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2564 เมื่อเดือนตุลาคมปี 2564 ที่ผ่านมา” คุณสุธารทิพย์ กล่าว

แม่ทัพหญิงมากประสบการณ์

นอกจากเฮงลิสซิ่งจะมีความแข็งแกร่งด้านการให้บริการและพันธมิตรแล้ว ในแง่ของผู้บริหารหญิงที่เป็นผู้กุมหัวเรือของเฮงลิสซิ่ง อย่างคุณสุธารทิพย์ พิสิฐบัณฑูรย์ ยังเป็นผู้บริหารที่สั่งสมประสบการณ์ในธุรกิจสินเชื่อมาอย่างยาวนาน

คุณสุธารทิพย์ บอกกับเราว่า ตัวเองเป็นลูกจ้างมืออาชีพที่ทำงานเป็นพนักงานของธนาคารขนาดใหญ่ โดยเกษียณอายุจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานบริหารความเสี่ยง ซึ่งบริหารลูกค้า SMEs ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

และหลังจากนั้นได้รับคำเชิญจากธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ให้เข้ารับตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เพื่อดูแลเรื่องความเสี่ยงและสินเชื่อ Corporate อีก 5 ปี หลังจากนั้นจึงได้เข้ามานั่งตำแหน่งกรรมการอิสระให้กับเฮงลิสซิ่ง 1 ปี ก่อนจะขึ้นมาสู่ตำแหน่ง CEO ในปัจจุบัน

โดยก่อนที่จะเข้ามานั่งตำแหน่ง CEO คุณสุธารทิพย์ มองเห็นว่าเฮงลิสซิ่ง มีผู้บริหารดี ผู้ถือหุ้นดี มีมาตรฐานในการทำงาน และมีแนวคิดชัดเจนว่าอยากเป็นบริษัทที่มีความโปร่งใส ช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่น

“กลุ่มพันธมิตรทั้ง 4 กลุ่มอยู่บนธุรกิจนี้มาอย่างยาวนาน จึงมีความผูกพันและสามารถให้ความช่วยเหลือลูกค้าท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี โดยเราเชื่อว่าลูกค้าทุกคนไม่ได้ตั้งใจจะไม่ชำระหนี้ แต่ต้องมีเหตุผลที่ทำให้เขาชำระหนี้ไม่ได้ เค้าจึงมาขอชำระหนี้น้อยลง

ซึ่งเราก็คิดว่าเราต้องช่วยลูกค้าตลอดเวลาโดยเฉพาะในช่วงวิกฤต นั่นคือสิ่งที่ทางผู้บริหารของเราพูดมาตลอดเวลาว่า หากลูกค้ารอด เราก็จะรอด แต่ถ้าเราไม่ช่วยลูกค้าเราก็จะไม่รอดเหมือนกัน ซึ่งทั้งหมดนี้คือ Philosophy ในการทำธุรกิจของกลุ่มผู้ถือหุ้นทั้ง 4 ของเรา” คุณสุธารทิพย์ กล่าว

ผลการดำเนินงานที่เติบโตตามเป้าหมาย

สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 เฮงลิสซิ่งประสบความสำเร็จในการผลักดันการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากพอร์ตสินเชื่อรวมที่เพิ่มขึ้นเป็น 10,527 ล้านบาท และรายได้รวม 952 ล้านบาทที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 24% และมีกำไรสุทธิ 156 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ซึ่งการเติบโตทั้งหมดนี้เป็นการเติบโตทั้งของยอดปล่อยสินเชื่อจากสาขาเก่า และสินเชื่อจากสาขาใหม่ที่เข้ามาเป็นตัวช่วย ผ่านการนำจุดแข็งของเฮงลิสซิ่ง ซึ่งมีเครือข่ายพันธมิตรผู้ประกอบการเต็นท์รถมือสองกว่า 5,100 ราย และการให้คำแนะนำลูกค้าเข้ามาใช้บริการสินเชื่อตอบสนองความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ เฮงลิสซิ่งยังสร้างความแตกต่างกับคู่แข่งรายอื่นในเรื่องของการบริหารคน โดยบริษัทแห่งนี้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพนักงานให้มีความละเอียดในการให้บริการ และใส่ใจลูกค้า

โดยที่เฮงลิสซิ่งมีพนักงานจำนวนมาก ในแต่ละสาขาจะต้องมีพนักงานประมาณ 2-4 คน ทำให้ปัจจุบันเฮงลิสซิ่งมีพนักงานที่ทำงานหน้าสาขาประมาณ 1,800 คน

และคุณสุธารทิพย์ ยังกล่าวว่า ต้องมีการปรับตัวให้เป็นบริษัทที่มี Dynamic เพราะการแข่งขันสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เพื่อรับมือกับคู่แข่งที่มีโปรดักต์ใกล้เคียงกัน

4 มิติที่จะช่วยให้ ‘เฮงลิสซิ่ง’ เติบโตอย่างก้าวกระโดด

คุณสุธารทิพย์ กล่าวว่า เป้าหมายในอนาคตของเฮงลิสซิ่งคือการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ด้วยผลประกอบการเติบโตเฉลี่ยปีละ 30% รวมถึงการควบคุม NPL ให้ไม่เกิน 3.1% เพื่อนำไปสู่กำไรสุทธิที่จะต้องเติบโตราว 30-40% ต่อปี

โดย 4 มิติที่จะถูกนำมาใช้ขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย มีดังนี้

มิติที่ 1 การออกแบบโปรดักต์ให้ตอบโจทย์ ด้วยการวาง Position ให้ถูกต้อง และต้องพัฒนาให้โปรดักต์ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา

มิติที่ 2 การเลือกลูกค้าให้ถูกต้อง โดยที่เฮงลิสซิ่งจะเลือกลูกค้าที่มีความตั้งใจ และมีความสามารถในการชำระหนี้ โดยอาศัยการวิเคราะห์ถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าแต่ละราย รวมถึงต้องตรวจสอบและระบุตัวตน และพิสูจน์ตัวตนของลูกค้าให้ได้

มิติที่ 3 ต้องอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมต่อการขยายธุรกิจ ด้วยการเลือกพื้นที่การกระจายสาขาไปในจุดที่มีรายได้สม่ำเสมอ และมีศักยภาพทางเศรษฐกิจ

มิติที่ 4 ระบบงานที่รองรับการทำงานได้ดีและรวดเร็ว โดยจะต้องเน้นไปที่ความคล่องตัวเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต

เมื่อถามถึงแนวโน้มของธุรกิจสินเชื่อ คุณสุธารทิพย์ มองว่าในช่วงเศรษฐกิจไม่ดีทำให้เกิดการแข่งขันสูงขึ้น โดยจะมีผู้ประกอบการรายใหม่ที่อัปเกรดตัวเองขึ้นมา และมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาเสมอ ดังนั้นเราจึงต้องปรับปรุงตัวเองตลอดเวลา ด้วยการเพิ่มโปรดักต์ใหม่ ๆ และอาศัยการบริหารแบบลีนเพื่อเพิ่ม Efficacy

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของตลาดสินเชื่อเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นหลังจากประเทศกลับมาเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเข้าสู่วงโคจรปกติ ดังนั้นธุรกิจจึงเริ่มมีความจำเป็นในการกลับมาดำเนินธุรกิจอีกครั้ง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนแผนการเติบโตในช่วงครึ่งปีหลัง

โดยโปรดักต์ที่คาดว่าจะเติบโตได้อย่างโดดเด่นเป็นสินเชื่อเช่าซื้อ และธุรกิจจำนำทะเบียนรถที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีให้กับบริษัทฯ

นอกจากนี้ การควบคุม NPL ให้อยู่ในระดับที่วางเอาไว้ยังเป็นอีกปัจจัยสนับสนุนการเติบโตได้ดี โดยการคุม NPL ให้ไม่เกิน 3.1% บริษัทฯ ต้องบริหารและควบคุมความเสี่ยงด้วยการสร้างเงื่อนไขตั้งแต่แรก โดยประเมินจากความสามารถในการชำระเงินของลูกค้า และกำหนดเงื่อนไขสินเชื่อให้ยืดหยุ่น ซึ่งจะต้องถูกกำหนดตั้งแต่วันที่จะเริ่มทำธุรกิจ

“โปรดักต์ของเราจะยืดหยุ่นตามลูกค้า หากลูกค้าอยากได้เงินก้อนสูงก็จะต้องมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น แต่เราจะดูที่ความสามารถของลูกค้าว่ามีโอกาสผ่อนไหวแค่ไหน โดยไม่บีบบังคับลูกค้า เพราะเราต้องการให้ลูกค้าผ่อนสม่ำเสมอได้ทุก ๆ เดือน จึงต้องฟังเสียงลูกค้าว่าอยากผ่อนเท่าไร และนำมาคำนวณกับความเสี่ยงของเราด้วย” คุณสุธารทิพย์ กล่าว

สำหรับกรณีที่ทางภาครัฐจะเข้ามาควบคุมผู้ให้บริการ Non-bank นั้น คุณสุธารทิพย์ กล่าวว่า จะเห็นผลกระทบหนักสำหรับบริษัทที่มีพอร์ตสินเชื่อรถจักรยานยนต์จำนวนมาก แต่ทางเฮงลิสซิ่งมีพอร์ตสินเชื่อรถจักรยานยนต์เพียง 4% นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยของเฮงลิสซิ่งยังต่ำกว่าเพดานที่ภาครัฐจะเข้ามากำหนดบริษัทฯ จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

นอกจากนี้ กรณีที่ ธปท. เริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ย คุณสุธารทิพย์ มองว่าจะกระทบส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เพียงเล็กน้อย เพราะเฮงลิสซิ่งมีแหล่งเงินทุนหลากหลาย

และยังสามารถบริหารดูแลต้นทุนส่วนอื่นให้ลดลงได้ แต่ในกรณีที่จำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย เฮงลิสซิ่งก็จะขึ้นตามความจำเป็นเท่านั้น โดยใช้หลักการที่ต้องคำนึงถึงลูกค้า หากลูกค้าอยู่ได้บริษัทฯ ก็จะอยู่ได้

โดยวิธีการคือ ใช้หลักการบริหารแบบลีน (LEAN Management) ในบ้านตัวเอง ด้วยการลดค่าใช้จ่ายของตัวเองให้ได้มากที่สุดเพื่อจะให้ส่งผลกระทบต่อลูกค้าน้อยที่สุด เพราะถ้าหากลูกค้าอยู่รอดได้ บริษัทก็อยู่รอดได้เช่นเดียวกัน

จากพื้นฐานและประสบการณ์ในการบริหารความเสี่ยงให้กับ 2 ธนาคารใหญ่ของคุณสุธารทิพย์ ถือเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งที่ทำให้เฮงลิสซิ่งสามารถบริหารคุณภาพพอร์ตสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ การเติบโตของเฮงลิสซิ่งยังเกิดจากการให้บริการด้วยความใส่ใจของพนักงานท้องถิ่น การมีโปรดักต์ที่หลากหลาย และมีความยืดหยุ่นของสินเชื่อเป็นอย่างมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้บริษัทฯ สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มทุกรายได้แม้จะเจอการแข่งขันที่ดุเดือดแค่ไหนก็ตาม