HairCare

‘ธุรกิจแฮร์แคร์’ ตลาดที่มีมูลค่ามากกว่าแสนล้านเหรียญ แต่กลับมีผู้เล่นหลักแค่ไม่กี่เจ้า

ตลาดผลิตภัณฑ์เส้นผม (Haircare) นับเป็นหนึ่งในธุรกิจความงาม ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ทุกคนต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้ชาย ผู้หญิง หรือวัยชรา โดยคุณสมบัติของแต่ละผลิตภัณฑ์ก็จะแตกต่างตามรูปแบบการใช้งาน และความเหมาะสม

สำหรับภาพรวมตลาดผลิตภัณฑ์เส้นผมของประเทศไทยในปัจจุบัน มีมูลค่าสูงถึง 5.8 หมื่นล้านบาท แบ่งออกเป็น กำลังซื้อภายในประเทศ มูลค่า 3.3 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ประกอบด้วย แชมพู คอนดิชันเนอร์ ทรีทเมนท์มาส์ก ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด คิดเป็นสัดส่วนถึง 82% หรือประมาณ 27,000 ล้านบาท ส่วนผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผม มีสัดส่วนในตลาด 13%, ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม มีสัดส่วน 4% และผลิตภัณฑ์ยืด/ดัดผม มีสัดส่วน 1%

ขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท โดยตลาดส่งออก 5 อันดับแรกของไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย เวียดนาม และมาเลเซีย ซึ่งตลาดใหญ่ 3 ใน 5 ชาติล้วนเป็นประเทศเพื่อนบ้านอยู่ในอาเซียน

โดยจากการสำรวจข้อมูลล่าสุดช่วงระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2566 พบว่า ไทยส่งออก *FOB ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผมไปฟิลิปปินส์ รวมมูลค่ากว่า 912 ล้านบาท ขณะที่เวียดนาม ส่งออกกว่า 617 ล้านบาท และมาเลเซีย ส่งออกมูลค่ากว่า 479 ล้านบาท ทั้งนี้อาจจะหมายความได้ว่าฟิลิปปินส์เป็นตลาดใหญ่ และหลักของไทยหากอยู่ในแถบอาเซียนนั่นเอง

ซึ่งการที่ตลาดมีการเติบโตนั้น นั่นเป็นเพราะว่า เส้นผม คือส่วนประกอบหนึ่งที่อยู่บนร่างกาย มีความเปราะบางสูง ขาดหลุดร่วงง่าย นั่นเป็นเพราะส่วนหนึ่งอาจมาจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เริ่มตั้งแต่สภาพแวดล้อม ความเครียด กินอาหารไม่มีประโยชน์ และวิธีที่ทำร้ายเส้นผมโดยตรงคือ การใช้วิธีจัดแต่งทรงผมแบบใช้ความร้อนเข้าช่วย

สำหรับปัญหาผมหลุดร่วงนั้น เป็นสิ่งที่พบได้ในทุกวันและตลอดเวลา แม้จะอายุไม่ถึง 20 ก็ตาม ซึ่งเมื่อไม่ได้รับการแก้ไข้ หรือบำรุงที่มากขึ้น การหลุดร่วงที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ และอาจจะกระทบต่อความมั่นใจในการใช้ชีวิตในภายภาคหน้า หลายแบรนด์ชั้นนำจึงมีผลิตภัณฑ์บำรุงออกมามากมายตามท้องตลาด

ปัจจุบันที่เห็นได้ชัดเลย คือ คนทุกเพศทุกวัยทำสีผมมากกว่าในอดีต ซึ่งบางครั้งใน 1 เดือน อาจเปลี่ยนสีผมมากกว่า 1 ครั้ง แต่ความเป็นจริงก่อนการจะเปลี่ยนสีผมใหม่ได้นั้นต้องพักผมอย่างน้อย 3 เดือน ถึงแม้จะพยายามหลีกเลี่ยงสารเคมี สีสังเคราะห์ที่มีระดับความเข้มข้นน้อย หรือแม้แต่จะใช้ผลิตภัณฑ์ที่เคลมว่าออแกนิก แต่อย่างไรก็ตามเส้นผมก็ได้รับผลข้างเคียงอยู่ดี อีกทั้งยังมีการจัดทรง ที่ต้องมีการใช้ความร้อนร่วมด้วย

สำหรับในไทยแบรนด์ที่คนส่วนใหญ่รู้จัก และมีชื่อเสียง เป็นที่นิยม คงหนีไม่พ้น Sunsilk, Head and Shoulders, Dove, Pantene, L’Oreal เป็นต้น ซึ่งแต่ละแบรนด์มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน และทุกแบรนด์ก็มีผลิตภัณฑ์หลายแบบ หลายเกรด

โดยแบรนด์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก และมีความเป็นสากลสูง คือ L’Oreal ซึ่งก่อนหน้านี้ ‘Business+’ ได้นำเสนอเรื่องราวของ L’Oreal ไปแล้วในบทความ ‘ลอรีอัล’ ตอกย้ำผู้นำตลาดความงามโลก เผยยอดขายทั่วโลกปี 65 โตทะลัก 3.8 หมื่นล้านยูโร พร้อมดัน ‘ลอรีอัล ประเทศไทย’สู่บริษัทความงามอันดับ 1 โดยปีที่ผ่านมาลอรีอัล กรุ๊ป ยังคงยืนหนึ่งในตลาดความงามในฐานะบริษัทความงามชั้นนำของโลก ด้วยตัวเลขการเติบโตอย่างต่อเนื่องในระดับโลกที่ 10.9% คิดเป็นมูลค่า 3.83 หมื่นล้านยูโร และทำยอดขายทั่วโลกได้สูงถึง 7,000 ล้านชิ้น

ทั้งนี้หากมองภาพรวมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมทั่วโลกในปี 2565 มีมูลค่าถึง 8.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกันในปี 2571 ทาง IMARC Group คาดว่าตลาดจะมีมูลค่าถึง 1.07 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในช่วงระหว่างปี 2566-2571 จะเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ที่ 4.4% เนื่องจากในอนาคตปัญหาของเส้นผมจะมีเพิ่มมากขึ้น รวมถึงผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมมีจำหน่ายมากมายผ่านช่องทางการจัดจำหน่าย และผลิตภัณฑ์ที่ช่วยขจัดรังแคที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติจะปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนตลาด

โดยแบรนด์ที่เป็นผู้เล่นหลักในตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมระดับโลก คือ KAO Group, L’Oréal USA, Inc., The Procter & Gamble (P&G) Company, Unilever PLC และ Johnson & Johnson, Inc.

สำหรับแบรนด์เหล่านี้ก็มีวางขายในบ้านเราเช่นกัน โดย P&G ที่เราคุ้นหูก็คือ Head and Shoulders และ Pantene ที่โด่งดังในเรื่องแชมพูขจัดรังแค ซึ่ง P&G มีส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกมากกว่า 20%

อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่ามูลค่าการเติบโตของตลาดนั้นยังมีช่องว่างอีกมาก แต่การที่ผู้เล่นรายใหม่จะเข้าไปช่วงชิงส่วนแบ่งเค้กชิ้นนี้ได้เลยนั้นอาจจะดูเป็นไปได้ยาก เนื่องจากแบรนด์ดั้งเดิมมีฐานลูกค้าแบบรอยัลตี้ และผลิตภัณฑ์มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่หากได้ลองใช้ผลิตภัณฑ์ใดแล้วได้ผลลัพธ์ที่ดี ก็จะเป็นการยากที่จะเปลี่ยนไปใช้ยี่ห้อใหม่ ๆ ซึ่งกลยุทธ์ที่จะสร้างฐานลูกค้าของตัวเองได้นั้น ต้องเริ่มจากการที่แบรนด์ต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของตัวเองก่อน

*หมายเหตุ FOB ย่อมาจาก Free On Board คือ เมื่อผู้ขายทำการส่งสินค้าเรียบร้อยแล้วให้ถือว่าสินค้าอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ซื้อ ผู้ซื้อจะต้องทำการจ่ายค่าขนส่งต่าง ๆรวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นที่อาจเกิดขึ้นด้วยตัวเอง

.

ที่มา : TNP, กรมศุลกากร, imarcgroup, opportimes

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ
.
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #เส้นผม #Haircare #ตลาดผลิตภัณฑ์เส้นผม #ผลิตภัณฑ์เส้นผม