GreenInsurance

เจาะตลาดใหม่ธุรกิจประกันวินาศภัยด้วย ‘Green Insurance’

ผลิตภัณฑ์ประกันภัยโดยรวมของไทยก่อน COVID-19 จะกระจุกอยู่เพียงแค่ประกันภัยแบบดั้งเดิม คือ ประกันชีวิตแบบสามัญ และประกันภัยรถยนต์ ส่วนผลิตภัณฑ์ประกันรูปแบบใหม่ ๆ ยังมีพอร์ตเบี้ยประกันไม่มากนัก ดังนั้น ในช่วงที่เกิดวิกฤตจึงทำให้ธุรกิจประกันภัยได้รับผลกระทบอย่างหนักทั้งผลประกอบการติดลบ และบางรายต้องเจอกับสภาพคล่องที่เสื่อมถอยลงจนเกิดเป็นแรงกระเพื่อมไปทั้งอุตสาหกรรมประกันภัย

และเมื่อพูดถึงประกันวินาศภัย ถึงแม้ว่าจะเริ่มมีประกันภัยใหม่ๆ อย่างประกันภัยด้านดิจิทัลเข้ามา แต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก ซึ่งในปี 2565 ส่วนแบ่งการตลาดจากเบี้ยประกันวินาศภัยไปกระจุกอยู่แค่ประกันรถยนต์เกิน 55% รองลงมาเป็นประกันภัยอุบัติเหตุ 12% และตามด้วยประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ส่วนประกันประเภทอื่น เช่น ประกันอัคคีภัย หรือ ประกันภัยทางทะเล และประกันอื่น ๆ ยังมีสัดส่วนไม่ถึง 4% ทำให้อุตสาหกรรมประกันวินาศภัยต้องเผชิญกับการแข่งขันทางราคาที่ดุเดือดจนบางรายผลประกอบการติดลบ ซึ่งหนึ่งในวิธีการแก้เกมเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง และกระจายความเสี่ยงของบริษัทประกันวินาศภัยที่เป็นผู้เล่นหลักของไทยที่เราได้เห็นในช่วงที่ผ่านมา คือ การมองหาเทรนด์ใหม่ ๆ เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งด้วยความรวดเร็ว และหนึ่งในนั้นคือการให้ประกันภัยกับธุรกิจที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ‘Green Insurance’

โดย ‘Business+’ มองว่าในอีกไม่กี่ปี ‘Green Insurance’ จะกลายเป็นพอร์ตเบี้ยประกันขนาดใหญ่ในตลาดประกันภัยจากการเติบโตของ Green Business ที่ได้รับการสนับสนุนจากแผนพัฒนาสิ่งแวดล้อมของโลก และจะกลายเป็น New S-Curve ของธุรกิจประกันวินาศภัยไทย ซึ่งสาเหตุของการเติบโตนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ World Economic Forum (WEF) ได้รายงานข้อมูลความเสี่ยง The Global Risks Report 2021 ออกมาช่วงปี 2021 ทำให้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจที่ก่อให้เกิดมลภาวะ เพราะในอีก 10 ปีข้างหน้า โลกมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเผชิญกับวิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนอย่างรุนแรงซึ่งความกังวลนี้ทำให้รัฐบาลหลายๆ ประเทศพยายามขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) กันมากขึ้น

แน่นอนว่า Green Economy ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมากมาย เพราะเป็นระบบเศรษฐกิจที่เพิ่มสวัสดิการ และการจ้างงานของคน รวมไปถึงต้องลดการปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม และยิ่ง Green Business เติบโตมากขึ้นเท่าไหร่ ความต้องการทำประกันความเสี่ยงภัยของธุรกิจเหล่านี้ก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น นำมาสู่แนวคิดของ Green Insurance ผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เอื้อประโยชน์ และรับประกันความเสี่ยงให้กับธุรกิจเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจพลังงานทางเลือก หรือการสร้างตึกหรืออาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงในมุมของลูกค้าที่ใช้พลังงานทางเลือกก็มีความต้องการประกันภัยเฉพาะที่ให้สิทธิประโยชน์หรือคุ้มครองมากกว่าการซื้อประกันธุรกิจทั่วๆ ไป

ซึ่งการที่ประกันภัย Green Insurance มีความต้องการสูงตามการเติบโตของ Green Business เป็นเพราะว่าธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อมมีความเสี่ยงที่แตกต่างจากธุรกิจทั่วไป ดังนั้น จึงต้องอาศัยการวิเคราะห์ความเสี่ยงจากวิศวกรประกันภัย (Risk Engineer) ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเป็นพิเศษ โดยวิศวกรจะมีความถนัดเฉพาะด้านตามที่เรียนหรือมีประสบการณ์จากการทำงาน ยกตัวอย่าง เช่น วิศวกรเครื่องกล วิศวกรอุตสาหการ วิศวกรไฟฟ้า วิศวกรโยธา วิศวกรเคมี และวิศวกรเหล่านี้จะต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อประกอบการประเมินความเสี่ยงภัย หมายความว่า วิศวกรประกันภัย จำเป็นต้องมีความรู้ทั้งวิศวกรรม รวมไปถึงความรู้ทางด้านกฎหมาย ความปลอดภัย และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง การมีธุรกิจใหม่ๆด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนั่นแปลว่า ต้องมีวิศวกรรมที่สามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงธุรกิจในเชิงลึกให้สอดคล้องกับความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อค้นหาความเสี่ยงของธุรกิจและเสนอแนะแนวทางลดความเสี่ยงนั้น เช่น ความเสี่ยงของความเสียหายต่อทรัพย์สิน (Property Damage) หรือสิ่งแวดล้อมโดยรอบ

‘Green Insurance’ กับการเติบโตแบบ S-Curve

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทประกันภัยได้ออกผลิตภัณฑ์‘Green Insurance’ ระดับองค์กรที่เป็นการค้าระหว่างธุรกิจกับธุรกิจด้วยกัน (Business-to-Business :B2B) อย่างเช่น การออกประกันภัยความเสี่ยงสำหรับบริษัทโซลาร์ฟาร์ม ประกันความเสี่ยงสำหรับระบบหลังคาโซลาร์ หรือประกันความเสี่ยงของผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ออกมามากมาย

นอกจากนี้ยังมีการออกผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าการค้าระหว่างผู้ค้าแบบ B2C (Business-to-Customer) ด้วยเช่นกัน โดยบริษัทประกันได้สร้างแรงจูงใจด้วยการให้ส่วนลดเบี้ยประกันพิเศษสำหรับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ แม้กระทั่งการให้ส่วนลดพิเศษสำหรับบ้านที่ผ่านการรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม

ยกตัวอย่างเช่น การให้ส่วนลดเบี้ยประกันภัยรถยนต์ไฮบริด การรับรองที่อนุญาตให้มีการเปลี่ยนรถไฮบริด โดยมีหลักการคือ การให้ความคุ้มครองที่เลือกได้ โดยหลังจากการสูญเสียรถทั้งหมด ผู้เอาประกันภัยสามารถเปลี่ยนรถยนต์แบบดั้งเดิมของตนด้วยรถยนต์ไฮบริดที่เทียบเคียงราคาได้ รวมไปถึงการให้ส่วนลดเบี้ยประกันภัยเชื้อเพลิงทางเลือก

ทั้งนี้หากมองภาพรวมของมูลค่าการให้ประกันภัยในส่วนของ Green Business ในเมืองไทยแล้ว อาจจะยังไม่ได้มีมูลค่าที่สูงมากนักในปัจจุบัน แต่เราเห็นการเติบโตของเบี้ยประกันภัยอย่างก้าวกระโดดจากหลาย ๆ บริษัทฯ เช่น กรุงเทพประกันภัย ทิพยประกันภัย วิริยะประกันภัย และประกันวินาศภัยอีกหลายรายที่มีทั้งการรับประกันภัยให้กับธุรกิจ Solar Power Plant, Wind Power Plant, Bio Gas Power Plant

ขณะที่ในส่วนของมุมที่เป็น B2C เราพบข้อมูลว่า มูลค่าตลาดประกันภัยรถยนต์ EV เติบโตอย่างต่อเนื่องตามอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งทาง ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ คาดการณ์ภาพรวมตลาดรถยนต์ไฟฟ้า 100% (BEV) ในปี 2566 ว่า จะมีโอกาสที่จะมีตัวเลขแตะระดับ 50,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 270% เมื่อเทียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 13,454 คัน ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของรถยนต์ไฟฟ้า BEV จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 5.8% ของภาพรวมตลาดรถยนต์ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 8.65-8.95 แสนคัน

ยิ่ง EV เติบโตเท่าไหร่ ประกันภัยยิ่งโตมากขึ้นเท่านั้น

แน่นอนว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยที่ขยายตัวขึ้นก็จะทำให้ความต้องการประกันภัยรถไฟฟ้าในไทยสูงขึ้นตาม ซึ่ง ‘Business+’ พบข้อมูลจากปี 2565 ว่า ส่วนแบ่งการตลาดเบี้ยฯประกันภัยรถยนต์ทั่วไปในไทยนั้น อันดับ 1 เป็นของ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) และอันดับ 2 คือ บริษัท คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ส่วนอันดับ 3 คือ กรุงเทพประกันภัย จํากัด (มหาชน) หรือ BKI แต่ในมุมของการประกันภัยรถ EV ก็มีผู้เล่นที่ครองตลาดแตกต่างกัน

โดยปี 2566 ทางสถาบันยานยนต์ คาดการณ์ว่าจะมียอดรถ EV จดทะเบียนใหม่ (ป้ายแดง) จำนวนประมาณ 50,000 คัน ซึ่งหากรวมกับรถที่มีอยู่เดิมจะทำให้มีรถ EV จดทะเบียนสะสมประมาณ 63,000 คัน โดยบริษัทประกันวินาศภัยที่มีการรับประกันภัยรถยนต์ EV และมีส่วนแบ่งการตลาด (Market share) สูง 3 อันดับแรกของไทยในปี 2565 คือ

ส่วนแบ่งการตลาดประกันภัยรถยนต์ EV ปี 2565 (ทำเป็นแผนภูมิวงกลมเล็กๆ)

  1. วิระยะประกันภัย Market Share : 38.52% จำนวนรถ EV ในความคุ้มครอง 5,286 คัน
  2. ธนชาตประกันภัย Market Share : 14.57% จำนวนรถ EV ในความคุ้มครอง 2,000 คัน
  3. กรุงเทพประกันภัย Market Share : 9% จำนวนรถ EV ในความคุ้มครอง 1,235 คัน

โดยในปี 2565 ตลาดมียอดจดทะเบียนรถยนต์นั่ง EV รวมสะสมจำนวน 13,723 คัน ซึ่ง ‘วิระยะประกันภัย’ ครองแชมป์ตลาดประกันรถ EV ด้วย Market Share ที่ 38.52% มีจำนวนรถ EV ในความคุ้มครองปี 2565 จำนวน 5,286 คัน ส่วนอันดับที่ 2 คือ ‘ธนชาตประกันภัย’ ด้วย Market Share ที่ 14.57% ซึ่งมีรถในความคุ้มครองกว่า 2,000 คัน คิดเป็นเบี้ยรับกว่า 200 ล้านบาท ขณะที่ในปีนี้ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่ม Market Share เป็น 20% ส่วน กรุงเทพประกันภัย มี Market Share ในปี 2565 อยู่ที่ 9% ด้วยจำนวนรถ EV ในความคุ้มครองราว 1,235 คัน ขณะที่ตั้งเป้าว่าในปี 2566 คาดว่าจะมีเบี้ยประกันประมาณ 120-140 ล้านบาท

ซึ่งทั้ง 3 เจ้านี้เป็นผู้เล่นหลักที่กินส่วนแบ่งการตลาดรวมกันไปถึง 62.09% โดยที่เรามองว่าประกันรถ EV เป็น New S-Curve เพราะปัจจุบันอัตราการจ่ายเบี้ยประกันของรถยนต์ไฟฟ้านั้น สูงกว่าการทำประกันภัยรถยนต์น้ำมันถึง 10-20% เพราะการทำประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึงศูนย์ซ่อมนั้นยังมีน้อย จึงทำให้ประกันภัยสำหรับรถยนต์ไฟฟ้ามีอัตราการชำระเบี้ยประกันภัยที่สูงมาก เพราะไม่มีการแข่งขันกันด้านราคา และยังมีเรื่องของการให้ประกันภัยแบตเตอรี่ที่เป็นเชื้อเพลิงหลักของรถ EV ซึ่งมีการซ่อมไม่เหมือนตัวถังรถ และยังไม่สามารถเปลี่ยนเฉพาะส่วนได้ พอเกิดอุบัติเหตุต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ นั่นจึงทำให้เบี้ยประกันรถยนต์ EV แพงกว่ารถยนต์สันดาปทั่วไป โดยราคาประกันชั้น 1 รถยนต์ EV เริ่มต้นที่ประมาณ 20,000 บาท ไปจนสูงได้ถึง 80,000 บาทได้เลยทีเดียว

นั่นเท่ากับว่า บริษัทประกันวินาศภัยรายใดที่เข้าสู่ตลาดนี้ได้ก่อนก็จะได้เปรียบทั้งความน่าเชื่อถือ และแน่นอนการมีผู้เล่นในตลาดน้อยบริษัทเหล่านี้จะสามารถตั้งราคาที่ได้รับกำไรสูงสุดได้ (Maximize Profit) แต่ในอนาคตเมื่อคนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น ก็จะทำให้การจัดหาอะไหล่และการเปิดศูนย์ซ่อมศูนย์บริการที่มีเพิ่มมากยิ่งขึ้นนั้น เบี้ยประกันภัยสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจะค่อยปรับตัวลดลงตามการแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้นนั่นเอง

การย้ายค่าย สงครามราคา สงครามข้อมูล’ 3 ปัญหาเรื้อรัง

นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่บริษัทประกันวินาศภัยต้องปรับตัวนอกจากการหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แล้ว เพื่อรับมือกับปัญหาเรื้อรังอย่างสงครามราคา และสงครามข้อมูล คือ บริษัทประกันวินาศภัยจำเป็นต้องใช้ดิจิทัลเข้ามาขายประกันมากขึ้น เพราะการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลในการขายประกันจะทำให้ต้นทุนของการขายต่ำลง ซึ่งจะเข้ามาทดแทนเบี้ยประกันที่จะลดลงจากกำลังซื้อผู้บริโภคในภาวะเงินเฟ้อได้

ถึงแม้ว่าอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) ของบริษัทประกันวินาศภัยทั้งระบบในช่วงปี 2563-2565 จะยังคงรักษาระดับค่าเฉลี่ยไว้ได้ที่ระดับประมาณ 440% แต่ที่ผ่านมาหลังจากเกิดวิกฤตก็ทำให้เห็นว่า หากบริษัทประกันไม่คำนวณความเสี่ยง และความคุ้มค่าของผลิตภัณฑ์ให้ดีก่อนจะรับประกันภัยก็ทำให้สถานะทางการเงินดิ่งฮวบลงได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยลบจากพฤติกรรมของคนเปลี่ยนแปลงไป โดยคนจะให้แพลตฟอร์มดิจิทัลในการเปรียบเทียบราคา และเลือกประกันที่คุ้มค่ามากกว่า ซึ่งการแข่งขันด้านราคาอาจจะทำให้บริษัทประกันวินาศภัยเจอกับผลขาดทุนสุทธิเพราะราคาที่ขายไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

ดังนั้น บริษัทประกันวินาศภัยจึงต้องปรับตัวอีกด้านด้วยการออกผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการส่วนบุคคล (Personal) มากยิ่งขึ้น ซึ่งในปีที่ผ่านมาเราเห็นการให้ประกันที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น การให้ประกันแก่ผู้ใช้รถยนต์ตามระยะทางที่ใช้รถจริง ซึ่งทำให้ผู้บริโภครู้สึกคุ้มค่ามากกว่า

ขณะที่เมื่อมองแนวโน้มของประกันภัยในปี 2566 แล้ว ยังถือว่าจะมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้น โดย ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’  ได้เผยถึงภาพรวมการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2566 จากมิติของเบี้ยประกันภัยรับตรง มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลักจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประกอบกับการแข่งขันด้านราคาลดลง ทั้งจากจำนวนบริษัทประกันลดลง และต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนการเอาประกันภัยต่อที่สูงขึ้น โดย คาดว่า เบี้ยรับรวมของธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2566 จะเติบโตได้ต่อเนื่องที่ 4-5%

อย่างไรก็ตาม Business+ มองว่า อุตสาหกรรมประกันวินาศภัยยังมีปัจจัยที่เป็นปัญหาเรื้อรัง คือ การย้ายค่าย สงครามราคา และการทำสงครามข้อมูล ซึ่งทำให้การประกันวินาศภัยต้องใช้ความรอบคอบในการรับประกันเพิ่มขึ้น ด้วยการให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ความเสี่ยงรอบด้าน ซึ่งบริษัทที่การให้ความสำคัญกับการมีวิศวกรประเมินความเสี่ยงที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และการมีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่เชี่ยวชาญก็เป็นอีกหนึ่งการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ได้เช่นกัน

ที่มา : OIC ,สถาบันยานยนต์
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS