วิกฤตการณ์กรีซ

270,000 ล้านยูโร คือตัวเลขที่เจ้าหนี้ต่างๆ ปล่อยกู้ให้กรีซ ซี่งหากรวมกับเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย ตัวเลขจะสูงถึง 300,000 ล้านยูโร คำถามที่ตามว่าคือ กรีซจะหาทางออกนี้อย่างไร

ถ้าจะถามว่า ทำไมทางกลุ่มยูโรถึงต้องช่วยเหลือกรีซตั้งแต่แรก ก็ตอบได้ว่า เพราะกรีซเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศยูโร ดังนั้น เพื่อให้สถานะของเงินยูโรมีความมั่นคง และการรวมตัวของกลุ่มประเทศยูโรมีความมั่นคงน่าเชื่อถือ ประเทศใหญ่ก็ตัดใจช่วยเหลือให้เงินกู้แก่กรีซ ในการชำระหนี้ระหว่างประเทศและใช้จ่ายในกิจการของรัฐ

 

แต่การให้ความช่วยเหลือดังกล่าว มีเงื่อนไขว่า กรีซต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจและการบริหารประเทศของตน ด้วยการตัดการใช้จ่ายรัฐบาล และการเปิดกว้างให้คนต่างชาติมาทำธุรกิจในกรีซ

 

ในช่วงที่มีการทำข้อตกลงดังกล่าวรัฐบาลของกรีซ เป็นรัฐบาลฝ่ายขวามีดำเนินการตามข้อตกลงที่ทำไว้ แต่แน่นอนการที่รัฐบาลกรีซต้องรัดเข็มขัด ต้องปฏิรูปเศรษฐกิจ ก็แสดงว่า การอุดหนุนช่วยเหลือจากรัฐ ประเภทนโยบายประชานิยมลดแลกแจกแถมต่างๆ ก็ต้องหยุดหรือลดลง ทำให้สร้างความเดือดร้อน หรือความไม่พอใจในหมู่คนกรีซ เรื่องหนี้นั้นเรื่องหนึ่ง แต่มันกระทบต่อผลประโยชน์ และความเป็นอยู่อันนี้ทำให้ความไม่พอใจเกิดขึ้น

 

ลองนึกดูภาพตอนเกิดวิกฤตปี 2540 และต้องขอความช่วยเหลือจาก IMF ตอนนั้นรัฐบาลของไทยต้องรับเงื่อนไขในการดำเนินการตัดลดงบประมาณ การอออกกฎหมายต่างๆ ที่กระทบต่อภาคเศรษฐกิจการเงิน เช่น เรื่องการปิดสถาบันการเงิน การขายทอดตลาดทรัพย์สิน เป็นต้น

 

ช่วงที่ผ่านมา กรีซมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อย และมาตอนนี้เป็นรัฐบาลพรรคฝ่ายซ้ายที่ชนะการเลือกตั้ง ส่วนหนึ่งคงเพราะการสัญญากับประชาชนว่า จะไม่ยอมรับข้อตกลงที่รัฐบาลก่อนได้ทำไว้กับเจ้าหนี้ต่างๆ และจะไม่ยอมรับการต่ออายุความช่วยเหลือทางการเงินด้วย เรียกว่า ยอมผิดนัดชำระหนี้ และไม่ยอมรับเงื่อนไขการปฏิรูปใดๆ อีกต่อไป จนชนะใจคนกรีซ ว่าอย่างนั้น

 

รัฐบาลกรีซปัจจุบัน กับเจ้าหนี้มีการเจรจากันมาหลายเดือนแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จใดๆ จนที่สุดเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้แทนเจรจาของ IMF ก็ประกาศว่า จะไม่มีการเจรจากับกรีซอีกต่อไป เพราะทั้งสองฝ่ายไม่สามารถหาจุดร่วม หรือประนีประนอมหาข้อตกลงกันได้ ข้างฝ่ายเยอรมัน ที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ก็ยังคงมีการเจรจาต่อไปด้วยความต้องการที่จะรักษากลุ่มประเทศยูโรไว้

 

ติดตามอ่านบทความทั้งหมดได้ที่ นิตยสาร Business+ July 2015 Issue 317

ผู้เขียน : เผด็จ พิรุฬห์สิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)