ทองคำไทย

โจทย์ใหญ่ตลาดค้าทองคำไทย ภายใต้โมเดลธุรกิจ ‘รายได้สูง แต่กำไรต่ำ’

ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของอันดับบริษัทที่รายได้สูงที่สุดในประเทศไทย โดยสลับหน้าจากธุรกิจพลังงานรายใหญ่ มาเป็นธุรกิจทองคำ ซึ่งเกิดจากราคาทองคำในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้รายได้ผู้ค้าทองพุ่งตาม แต่หากมองในแง่ของความสามารถในการทำกำไรแล้ว กลับตรงข้ามกัน เพราะส่วนใหญ่ผู้ประกอบการในไทยเป็นเพียงตัวกลางการซื้อขาย ยิ่งราคาทองสูงขึ้นยิ่งส่งผลให้ต้นทุนสูงตามไปด้วย

นอกจากนี้ไทยเองยังต้องอาศัยการส่งออกทองคำไปยังโรงงานสกัดทองคำในต่างประเทศ เพื่อให้ได้ทองคำบริสุทธิ์ที่ได้มาตรฐานระดับสากล และจึงนำเข้าทองบริสุทธิ์กลับมาเพื่อผลิตสินค้าขั้นปลายอีกครั้ง จึงทำให้ไทยไม่สามารถควบคุมต้นทุนได้ทั้งห่วงโซ่อุปทานเป็นปัจจัยกดดันต่อกำไรสุทธิของผู้ค้าทองในประเทศ

ราคาทองคำในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีสาเหตุหลัก ๆ มาจาก 3 ประเด็นคือ 1. สงครามในตะวันออกกลาง 2. ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว 3. การผลิตทองคำทั่วโลกชะลอตัว หลังจากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศจีน ผู้ผลิตทองคำรายใหญ่ที่สุดในโลกผลิตน้อยลง

ขณะที่ในปี 2024-2025 นั้น มีอีกหนึ่งปัจจัยเร่งคือการที่ธนาคารกลางสหรัฐจะลดดอกเบี้ยลง จึงทำให้เม็ดเงินลงทุนไหลเข้าสู่ทองคำมากขึ้นอีกเพราะนักลงทุนมองว่า ดอกเบี้ยที่ลดลงนั้น อาจทำให้ผลตอบแทนจากทองคำดีกว่า

ขณะที่ในมุมของอุปสงค์ อุปทานโลกในอนาคต จะพบว่าทองคำในปัจจุบันนี้มีจำนวนที่เหลืออยู่อย่างจำกัด จากการคาดการณ์ของสภาทองคำโลก (World Gold Council) พบว่าทั่วโลกได้ขุดแร่ทองคำออกมาทั้งหมดประมาณ 212,582 ตัน และทางสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกาคาดการณ์ว่า ปริมาณทองคำทั่วโลกเหลืออยู่ประมาณ 59,000 ตัน เท่านั้น หากคิดเป็นระยะเวลาในการขุดเจาะคือ 19 ปี ทองคำจะหมดไปจากโลกนี้ (หากไม่มีการสำรวจ และค้นพบแหล่งทองคำเพิ่ม)

โดยในปี 2023 พบว่า ประเทศที่มีทรัพยากรแร่ทองมากที่สุดในโลก คือ ออสเตรเลีย ด้วยจำนวนทองมากถึง 12,000 ตัน ตามมาด้วยอันดับที่ 2 คือ รัสเซีย 11,100 ตัน และอันดับ 3 แอฟริกาใต้ 5,000 ตัน จะเห็นว่า ทรัพยากรทองบนโลกนี้ส่วนใหญ่มาจากแค่ 3 ประเทศเท่านั้น ถ้าหากทรัพยากรของทั้ง 3 ประเทศหมดไปก็จะทำให้อุปทานทองคำโลกขาดแคลน

ขณะที่ในส่วนของผู้ผลิตทองรายใหญ่ที่สุดในโลกในตอนนี้คือ ประเทศจีน ซึ่งในปี 2023 ผลิตทองได้มากถึง 370 ตัน และประเทศที่ผลิตทองมากที่สุดเป็นอันดับ 2 คือ ออสเตรเลีย ซึ่งผลิตทองในปี 2023 ได้ทั้งหมด 310 ตัน (ที่มา : Statista)

สำหรับประเทศไทยนั้น มีสถานะเป็นผู้นำเข้าทองคำ โดยปี 2023 ไทยนำเข้าทองคำเป็นอันดับที่ 7  ด้วยการนำเข้าทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปเป็นมูลค่าราว 7.9 พันล้านดอลลาร์ และส่งออกเป็นมูลค่า 5.9 พันล้านดอลลาร์ ไทยจึงเป็นผู้นำเข้าสุทธิมูลค่า 1.94 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 64,053 ล้านบาท ซึ่งแหล่งนำเข้าทองคำ 3 อันดับแรกของไทย คือ สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง และออสเตรเลีย

ส่วนทองรูปพรรณนั้น ในปี 2023 ประเทศไทยส่งออกทองรูปพรรณเป็นมูลค่า 649.7 ล้านดอลลาร์ เติบโต  12.7% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน ซึ่งตลาดส่งออกสำคัญของไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และออสเตรเลีย

โดยไทยมีศักยภาพในด้านฝีมือและการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ จึงมีโอกาสในการสร้างรายได้เข้าประเทศจากการส่งออกทองรูปพรรณหรือเครื่องประดับที่ทำจากทองคำ แต่โจทย์ใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นนั้น คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ หรือการบริหารห่วงโซ่อุปทาน’ เพราะถึงแม้โรงงานสกัดทองคำในไทยจะสามารถสกัดทองคำให้บริสุทธิ์สูงสุดได้ที่ 99.99% ก็ตาม แต่ยังต้องส่งออกทองคำจำนวนมากไปสกัดทองคำในประเทศอื่น เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ที่มีความสามารถสกัดทองคำให้บริสุทธิ์ตามมาตรฐานโลก และไทยก็นำเข้าทองคำบริสุทธิ์เหล่านั้นกลับเข้ามาผลิตเป็นเครื่องประดับอีกที จึงทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องมีต้นทุนสูงขึ้น

สาเหตุเป็นเพราะการผลิตทองส่วนหนึ่งยังต้องอาศัยการส่งออกทองคำไปยังโรงงานสกัดทองคำในต่างประเทศให้มีความบริสุทธิ์ตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะโรงงานสกัดทองคำที่เป็นสมาชิกสมาคมตลาดทองคำแห่งลอนดอน (LBMA) ซึ่งโรงงานในไทยปัจจุบันยังไม่มีโรงสกัดใดที่เป็นสมาชิก LBMA เลย สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะการผลิตในไทยผลิตได้ปีละ 3-5 ตันเท่านั้น แต่เงื่อนไขการเข้าเป็นสมาชิกนั้น โรงงานต้องผลิตทองคำไม่ต่ำกว่า 10 ตันต่อปี ทำให้โรงงานในไทยไม่มีโรงงานไหนเลยที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว

นอกจากต้นทุนการสกัดทองคำแล้ว ผู้ประกอบการไทยต้องรับมือกับต้นทุนทองคำที่ยังมีความผันผวนตามราคาทองคำในตลาดโลก รวมไปถึงค่าเงินบาทที่ผันผวนตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยพบว่า ถึงแม้รายได้ธุรกิจค้าทองในช่วงที่ผ่านมาจะขยายตัวต่อเนื่อง เฉลี่ยราว 17% ต่อปี ในช่วงปี 2019 ถึง 2022 แต่ต้นทุนขายกับพุ่งสูงขึ้นมากกว่า ซึ่งกรณีนี้ผู้ค้าทองก็สามารถส่งต่อต้นทุนขายนี้ไปยังผู้บริโภคด้วยค่ากำเหน็จได้จึงยังไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงนัก แต่ต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงขึ้น รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเป็นตัวกดดันให้อัตรากำไรของธุรกิจค้าทองลดลงต่อเนื่อง

ซึ่งข้อได้เปรียบของผู้ค้าทองรายใหญ่คือการให้บริการที่หลากหลาย และมี Brand Loyalty สูงเพราะทำธุรกิจมานาน มีความน่าเชื่อถือในมาตรฐานทองคำ อีกทั้งร้านทองในไทยใช้โมเดลการรับประกันราคารับซื้อคืนสูงหากเป็นทองคำที่ซื้อไปจากร้านเดียวกัน ทำให้มีฐานลูกค้าจำนวนมากที่เหนียวแน่น แต่ผู้ค้าทองขนาดกลางและเล็กจะให้บริการจำกัด และรับซื้อขายได้เพียงบางพื้นที่เท่านั้น ทำให้คนเลือกที่จะซื้อทองจากร้านค้าที่มีสาขาจำนวนมากแทน

ดังนั้น นอกจากผู้ผลิตสินค้ากลุ่มเครื่องประดับทองคำควรมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เช่น ออกแบบลวดลายทองรูปพรรณให้มีเอกลักษณ์ เพื่อดึงดูดกำลังซื้อจากผู้ซื้อเครื่องประดับทองคำเพื่อสะท้อนความมั่งคั่ง และเก็บสะสม ยังต้องวางแผนในการบริหารจัดการต้นทุนราคาทองคำ และสต็อกวัตถุดิบ รวมถึงบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนให้ดีอีกด้วย

นอกจากนี้ยังต้องขยายฐานลูกค้าใหม่ ๆ โดยกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพคือ กลุ่มเจ้าของธุรกิจ หรืออาชีพอิสระที่รายได้สูง แต่ไม่แน่นอนจึงต้องการสะสมสินทรัพย์เอาไว้เป็นหลักประกันในอนาคต นอกจากนี้ยังต้องแตกไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อ รวมถึงกลุ่มผู้บริโภคในประเทศเพื่อนบ้านที่นิยมเครื่องประดับจากไทย อย่างตะวันออกลาง หรือฮ่องกง

หากเจาะเข้าไปในมุมของพฤติกรรมการบริโภคแล้ว จากผลสำรวจของ SCB EIC Consumer survey 2023 พบว่า กลุ่มที่มีการลงทุนทองคำมากที่สุดคือ GenX ด้วยสัดส่วนมากถึง 51% และ GenY ราว 34% และมีแนวโน้มในการลงทุนทองคำเพิ่มต่อเนื่อง เท่ากับว่า 2 กลุ่มนี้มีศักยภาพการลงทุนสูง

นอกจากเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า การบริหารจัดการต้นทุน และเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ แล้ว บริษัทค้าทองยังต้องขยายการให้บริการกับพันธมิตรธุรกิจ เช่น สถาบันการเงิน หรือการขายทองคำผ่าน E-wallet หรืออาจจะเป็นกลุ่มพันธมิตรที่ช่วยดึงดูดความต้องการทองคำจากโพรโมชันต่าง ๆ เช่น สะสมคะแนนรับส่วนลด หรือได้รับสิทธิพิเศษอื่น ๆ

นอกจากนี้ผู้ค้าทองรายใหญ่ควรมีรูปแบบการสร้างรายได้ที่หลากหลายขึ้น โดยในไทยเราได้เห็นผู้ค้าทองรายใหญ่หลายรายเข้ามาให้บริการซื้อขายที่หลากหลายขึ้น และขายทองคำเป็นหน่วยย่อย เป็นการลงทุน การออมทอง หรือแม้กระทั่งการรับจำนำ และเน้นให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งสะดวกและรวดเร็วกว่าแบบดั้งเดิมเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตามการลงทุนทองคำผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ยังต้องอาศัยความปลอดภัยสูงมาก เพื่อป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ ผู้ค้าทองจึงต้องให้ความสำคัญกับการรักษาข้อมูลลูกค้า และไม่เปิดช่องทางให้กับการฉ้อโกงจากมิจฉาชีพที่แอบอ้างชื่อของบริษัท ซึ่งต้องอาศัยการให้ข้อมูลด้วยการทำ Content Marketing ให้ความรู้ รวมไปถึงพัฒนาแพลตฟอร์มให้ปลอดภัยสูงสุดอย่างสม่ำเสมอ

ที่มา : SCB, saranukromthai, Statista

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus

Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

Youtube : https://www.youtube.com/@thebusinessplus7829