ธนาคารออมสิน กับเส้นทางสู่ความยั่งยืน : Thailand Top Company Awards 2020

“ที่ผ่านมา ธนาคารออมสิน หรือ GSB ภายใต้การนำทัพของ ‘ชาติชาย พยุหนาวีชัย’ ที่เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ตั้งแต่ปี 2558 สังคมไทยได้เห็นบริการใหม่ ๆ จากการส่งมอบและนำเสนอในคุณค่าที่แจกจ่าง และเหมาะสมทันต่อความต้องการของลูกค้าในทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างสะดวกสบาย เข้าถึงง่าย และปลอดภัย

การขับเคลื่อนธนาคารที่มีอายุกว่า 107 ปี ก้าวสู่ธนาคารที่มีความทันสมัยและปลอดภัย ให้ความสำคัญกับการลงทุนระบบเทคโนโลยี นอกจากจะนำธนาคารออมสินก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้าน Digital Banking ในประเทศไทย นี่ยังเป็นเส้นทางสู่การเป็นธนาคารอย่างยั่งยืน เพราะสามารถอำนวยประโยชน์สูงสุดแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายอีกด้วย”


หลายปีมานี้ ธุรกิจธนาคารเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (Digital Disruption) ที่มีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจแบะชีวิตประจำวันของคนไทย ตลอดจนพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลง การนำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาเป็นแนวทางการดำเนินกิจการ ที่จะช่วยรักษาสมดุลทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ดังเช่นธนาคารออมสิน หรือ GSB ภายใต้การนำทัพของ ‘ชาติชาย พยุหนาวีชัย’ จะพบว่าธนาคารออมสินได้ปรับตัวเองมาตลอด เพราะเข้าใจดีว่าภายใต้ภารกิจหลัก ‘ก้าวเข้าสู่การเป็นธนาคารของประชาชน’ ธนาคารจึงต้องรุกก้าวทุกจังหวะ

ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน หลอมรวมและเติมบริการอันทันสมัย กระทั่งเปลี่ยนโฉมหน้าธนาคารที่มีอายุกว่า 107 ปี ให้มีความทันสมัยไม่แพ้ธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ ในประเทศ ให้ความสำคัญกับการลงทุนระบบเทคโนโลยี เพื่อนำธนาคารออมสินก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้าน Digital Banking ในประเทศ โดยมีเป้าหมายตอบโจทย์การให้บริการที่สะดวกรวดเร็ว

เห็นได้จากยุทธศาสตร์บริหารธนาคารออมสิน ตั้งแต่ปี 2558 – 2562 สังคมไทยได้เห็นการส่งมอบคุณค่าและประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ล้ำสมัย ใช้งานง่ายและปลอดภัย ควบคู่กับการให้ความรู้ทางการเงิน สร้างความเข้าใจในผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัล เพื่อให้ลูกค้ามีความพร้อมในการใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนนี้ คือผู้อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนโฉมธนาคารออมสินผ่านการใช้เทคโนโลยี ให้ลูกค้าได้รับความสะดวกและปลอดภัยสูงสุด

และแผนกลยุทธ์ปี 2563 นี้ เขาเสนอแผนงานและยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความแข็งแกร่งขององค์กรอย่างยั่งยืน ที่พร้อมปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์และวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ของธุรกิจอยู่ตลอดเวลา ด้วยแนวคิด ‘เติบโต ยั่งยืน ตอบแทนคืนสู่สังคม’ ขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ GSB SUSTAINABLE BANKING 4 มิติ ประกอบด้วย

มิติที่ 1 Financial Strengthening : สร้างความมั่นคงทางการเงินเพิ่มเติบโตอย่างแข็งแกร่ง มิติที่ 2 Stakeholder Responsibility : ดูแลลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม มิติที่ 3 Business Environment : สร้างความเข้มแข็งแก่สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และมิติที่ 4 Corporate Governance : ดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล ด้วยยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนผ่านกลไก 3 Banking (3 ธนาคารในธนาคารเดียว) ประกอบด้วย

ยุทธศาสตร์ที่ 1 Traditional Banking ซึ่งจะทำงานเชิงรุกมากขึ้น ปรับเปลี่ยนการให้บริการจากแบบเดิมไปสู่ Delivery Service Banking หาลูกค้ามากขึ้น ซึ่งธนาคารมีเครื่องมือพร้อมอยู่แล้ว เช่น รถโมบายเดิมมีอยู่ 130 คัน ก็จะมีรถโมบายรุ่นใหม่ที่พร้อมไปให้บริการ รวมถึงการมีเรือเคลื่อนที่

กระทั่งการให้บริการลูกค้าผ่านเครื่อง Smart Device Sale and Service Unit On Mobile : SUMO สามารถให้บริการรับฝากเงิน เปิดบัญชีเงินฝาก ฝากสลากออมสินฯ ฝากเงินกองทุนต่าง ๆ เปิดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ รับชำระสินเชื่อ โดยปีนี้จะมีจำนวนถึง 3,700 เครื่อง

ยุทธศาสตร์ที่ 2 Social Development Banking บทบาทการพัฒนาสู่ความยั่งยืนให้สังคมด้วย Sustainable Development Center จำนวน 1,000 สาขาทั่วประเทศ ครอบคลุม 77 จังหวัด เพื่อเป็นศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน ศูนย์พัฒนาอาชีพ ศูนย์รักษาพยาบาล Financial Logistic Center ศูนย์แก้ไขหนี้นอกระบบ ศูนย์ SMEs Development Center 82 ศูนย์ อีกทั้งสามารถสร้างตลาด Business Networking Business Matching สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนด้วย SMEs Lending / Venture Capital

เรียกได้ว่า วันนี้ไม่มีใครทำ Social Development Banking มากเท่ากับธนาคารออมสิน อันนี้เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด และเป็นสิ่งที่ทำให้แบรนด์ของธนาคารออมสินแข็งแรงที่สุด จากการที่มีมุมในการดูแลสังคม มีมุมในการดูแลเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ จึงถือเป็นบทบาทที่สำคัญต่อการพัฒนาสู่ความยั่งยืน อันเป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจของคนออมสินทั้งองค์กร

ยุทธศาสตร์ที่ 3 Digital Banking ที่จะพัฒนาให้มีบริการที่รวดเร็วและทันสมัยมากขึ้นไปอีกในโลกยุคดิจิทัล ธนาคารมุ่งสร้าง Digital Lifestyle Ecosystem พร้อมสร้างความสะดวกสบายบน Digital Platform ใหม่ ๆ ซึ่งปัจจุบัน Digital Banking ของธนาคารออมสิน สามารถรองรับทุกผลิตภัณฑ์และบริการได้เทียบเคียงธนาคารพาณิชย์ ซึ่งลูกค้าไม่ต้องเดินทางมาใช้บริการที่สาขาก็ได้

เพราะธนาคารออมสินจะมีบริการทางการเงินทุกด้านบนโทรศัพท์มือถือ ในแอปพลิเคชัน MyMo ตั้งแต่เปิดบัญชีเงินฝาก ยื่นขอสินเชื่อ สมัครบัตรเครดิต ระบบจัดการเบิกถอดเงินสด โอนเงิน หรือชำระค่าสินค้า ซื้อขายหน่วยลงทุน กองทุน การซื้อขายสินค้า (My Merchant) และการสะสมคะแนนจาการใช้บริการ

“ด้วยความร่วมมือของธนาคารกับพันธมิตร และ Venture Capital ด้าน Startup / FinTech ช่วยกันพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ จะทำให้ธนาคารมี In-house ที่แข็งแรง มีทีมงานไอทีที่แข็งแกร่ง พัฒนาต่อยอด MyMo อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการฝากเงิน เงินกู้ Investment ประกัน Payment ช้อปปิ้ง การศึกษา Dining Entertainment Traveling ฟังก์ชันบริการทุกอันจะใส่เข้าไปใน MyMo ทำให้ MyMo สมบูรณ์แบบ

อีกทั้งจะมีบริการ New Feature ที่กำลังออกมาอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองทุกช่วงชีวิตของลูกค้า อาทิ บริการซื้อประกันภัย รถยนต์/ที่พักอาศัย/ประกันชีวิต ผ่าน i-Insurance บริการบัญชีเพื่อการออม ด้วย i-Saving บริการซื้อขายหลักทรัพย์กับ i-Investment และบริการการค้ำประกันสินเชื่อด้วย Digital สลากด้วย i-Loan เป็นต้น

จะเห็นว่าที่กล่าวมาล้วนเป็นบริการใหม่ ๆ ที่ Digital Banking จะพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เพราะความมีวิสัยทัศน์กว้างไกล กับทีมงานไอทีที่มีการเตรียมการ มีพันธมิตรใหม่ ๆ ที่มีความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ตอบสนองความต้องการลูกค้ามากยิ่งขึ้น” ชาติชายระบุ พร้อมกล่าวว่า

อีกหนึ่งหัวข้อสำคัญที่จะทำให้ธนาคารออมสินก้าวสู่ ‘เป้าหมาย’ เส้นทางธนาคารอย่างยั่งยืน นั่นก็คือ มิติขับเคลื่อนภาคสังคม โดยส่วนนี้ก็ต้องบอกว่าธนาคารออมสินให้ความสำคัญและมุ่งมั่นในการส่งเสริมนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินงานภายใต้หลักกฎหมายและมาตรฐานต่าง ๆ เพื่อไม่ให้กระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

รวมทั้งปลูกฝังจิตสาธารณะให้พนักงานทุกคนตามแนวคิดที่ว่า ‘ทุกคนมีส่วนร่วมรับผิดชอบธุรกิจ (CSR after process)’ ร่วมกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแล คณะกรรมการผู้บริหาร พนักงานลูกจ้าง ลูกค้า  เยาวชน ชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุล มั่นคง และยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ควบคู่ไปกับแนวปฏิบัติตามหลักมาตรฐานว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 ขององค์การระหว่างประเทศ ครอบคลุมผลกระบท 3 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ด้านเศรษฐกิจ-การออม

ธนาคารออมสินเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งธนาคารจำลองในสถาบันการศึกษา เรียกว่า ‘โครงการธนาคารโรงเรียนธนาคารออมสิน’ เพื่อปลูกฝังนิสัยการออม สร้างวินัยทางการเงินให้แก่เด็กและเยาวชน ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2541

กระทั่งธนาคารย่อยอด เปิด Channel ธนาคารโรงเรียนดิจิทัล เรียกว่า GSB Virtual School Bank (ธนาคารโรงเรียนเสมือนจริง) เป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ในรูปแบบ 3 มิติ มีจุดระสงค์เพื่อส่งเสริมและสร้างวินัยทางการเงินให้แก่เยาวชน ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของกลุ่มสมาชิกธนาคารโรงเรียนธนาคารออมสินที่ต้องการเรียนรู้การออมเงิน และต่อยอดการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนให้เป็นผู้ประกอบการรายใหม่ (Startup) มีแนวคิดที่มีความสุดยอดทางด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี มีศักยภาพ เติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยจัดโครงการประกวด “ออมสินจากร้อยสู่ล้าน” และจัดต่อเนื่องในปี 2562 จัดประกวดภายใต้แนวคิด “Big Boom Wow ทำได้เลย ทำเร็ว ทำได้จริง” เฟ้นหาสุดยอดแนวคิดธุรกิจ (Idea) ต้นแบบธุรกิจ (Prototype) ที่ทำจริง ขายจริง มีรายได้เกิดขึ้นจริง

ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

ธนาคารออมสินวางบทบาทมิติขับเคลื่อนงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมตามข้อกำหนดสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากล ให้สิทธิแก่ชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ มีส่วนร่วมในการดำเนินงานสาธารณประโยชน์และสาธารณสุข นโยบายและกระบวนการทำงานที่ตระหนักถึงความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ตลอดทั้งการมอบทุนการศึกษา ให้เงินสนับสนุนในสาธารณประโยชน์ สาธารณกุศลอีกมากมาย

และมีการจัดทำ โครงการศูนย์การเรียนรู้คู่ชุมชน สนับสนุนนโยบายรัฐบาล รับลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ พร้อมร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ฝึกอบรมอาชีพระยะสั้นให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในโครงการ “มหาวิทยาลัยประชาชน” ภายใต้แนวคิด “ความรู้สู่อาชีพ พร้อมเงินทุน” ตามหลัก 3 ออม 1.ออมเศรษฐกิจ 2.ออมสังคม 3.ออมสิ่งแวดล้อม และหลัก 3 สร้าง 1.สร้างความรู้/สร้างอาชีพ 2.สร้างรายได้/สร้างตลาด 3.สร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งลงทุน ตลอดทั้งโครงการ ‘ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น’ นำองค์ความรู้และนวัตกรรมสมัยใหม่จากนักศึกษาคนรุ่นใหม่ไปช่วยสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์หรือบริการ แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระดับฐานรากให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนในทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ

ส่วนมิติด้านสิ่งแวดล้อม ได้มีการวางนโยบายส่งเสริม สนับสนุน และดำเนินกิจกรรมที่ร้างสรรค์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สร้างและส่งเสริมจิตสำนึกในการดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งการปลูกป่า สร้างฝายอนุรักษ์น้ำในป่าใหญ่ ปลูกป่าชายเลนสร้างระบบนิเวศชายฝั่ง กระทั่งดำเนินนโยบายเพื่อลดการใช้ทรัพยากร ลดการสูญเสียและการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (ECO-Efficiency) และสร้างความตระหนักให้ลูกค้าเห็นความสำคัญของการใช้สินค้า/บริการ ที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งบุคลากรของธนาคารทั่งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ทั้งในฐานะผู้ให้การสนับสนุน และผู้ร่วมกิจกรรมโครงการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

ด้านดนตรี กีฬา วิชาการ

ผู้อำนวยการธนาคารออมสินมีความเชื่อว่า ความสามารถเยาวชนไทยทัดเทียมนานาชาติ ดังนั้น งานสนับสนุนด้านดนตรี ธนาคารได้ต่อยอดกิจกรรมส่งเสริมให้เดฏ้และเยาวชนในโครงการธนาคารโรงเรียนต่าง ๆ ให้รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ทำงานเป็นทีม เพิ่มทักษะประสบการณ์ด้านดนตรี กีฬา วิชาการ จัดให้มีการประกวดดนตรีธนาคาร โดยจัดการประกวด Syphonic Band และ Wind Ensemble (วงเครื่องลม) การขับร้องประสานเสียง ดนตรีพื้นบ้าน (ภาคอีสาน และภาคเหนือ) การขับร้องเพลงไทยสากลอมตะ (ลูกกรุง) และการขับร้องเพลงไทยลูกทุ่ง เป็นต้น

ด้านกีฬา ธนาคารเห็นความสำคัญและตระหนักถึงการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สนับสนุนส่งเสริมการเรียนรู้ การเพิ่มทักษะด้านการกีฬาให้กับเยาวชน ตลอดถึงการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและยกระดับวงการกีฬาของประเทศไทยให้เทียบเท่าระดับสากล โดยจัดแข่งขันกีฬาธนาคารโรงเรียนภายใต้แนวคิด ‘รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย รู้รักสามัคคี’ คัดสรรนักกีฬาช้างเผือก สร้างทีมกีฬา ‘ออมสินช้างชมพู’ ส่งต่อให้สโมสรกีฬา เยาวชน และเป้าหมายคือ การส่งเสริมให้เยาวชนเป็นนักกีฬาทีมชาติ และสามารถยึดความสามารถด้านกีฬาเป็นอาชีพสร้างรายได้เลี้ยงตนเองได้ต่อไป

นอกจากการสร้างนักกีฬาเยาวชนแล้ว ธนาคารยังสนับสนุนสมาคมกีฬาต่าง ๆ และสนับสนุนกีฬาอีกกว่า 10 ประเภท ตามแนวทาง 1 กีฬา 1 รัฐวิสาหกิจ และเป็นการดำเนินงานตามแนวทางกลยุทธ์ Sport Strategy เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารไปยังกลุ่มลูกค้า ตั้งแต่เด็ก เยาวชน คนวัยทำงาน จนถึงผู้สูงวัยที่รักในกีฬา โดยให้การสนับสนุนแก่สมาคมกีฬายิมนาสติกแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาทางอากาศและการบินแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมกีฬาฟุตบอลทีมชาติไทย และสนับสนุนกีฬาอีกหลากหลายประเภท อาทิ กีฬาบาสเกตบอล วอลเลย์บอล แบตมินตัน เทนนิส กอล์ฟ มวยไทย (ไทมไฟท์) และกีฬาอีสปอร์ต เป็นต้น

ด้านวิชาการ

มิติด้านวิชาการเป็นอีกยุทธศาสตร์ที่ทางธนาคารไม่สามารถมองข้ามได้ จึงได้มีการจัดโครงการส่งเสริมการศึกษาเยาวชนที่มีศักยภาพทางด้านวิชาการ โดยร่วมกับมูลนิธิร่มฉัตร จัดโครงการ ‘เพชรยอดมงกุฎ’ เป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือของมูลนิธิร่มฉัตร และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมความสามารถพิเศษและเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงความเป็นเลิศด้านวิชาการ และเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในการจัดการเรียนรู้ โดยมีธนาคารออมสินได้ในการสนับสนุนการจัดการแข่งขันความสามารถใน 4 ประเภท ได้แก่ ภาษาไทยเพชรยอดมงกุฎ ประวัติศาสตร์เพชรยอดมงกุฎ ภาษาอังกฤษเพชรยอดมงกุฎ และหน้าที่พลเมืองและศีลธรรมเพชรยอดมงกุฎ เป็นต้น

ทั้งหมดที่ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ‘ชาติชาย พยุหนาวีชัย’ กล่าวมา นอกจากจะพลิกโฉมการแข่งขันของธนาคารออมสินกับธนาคารพาณิชย์ได้ทัดเทียม จนปฏิเสธไม่ได้ว่า งานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งทางตรงและทางอ้อม (People, Planet และ Profit) ธนาคารออมสินยังทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์อีกด้วย