ธอส. ผู้นำตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย ปักหมุดหมายสู่ “ธนาคารเพื่อความยั่งยืน” ภายใต้แนวคิด GHB Next Move : Sustainable Bank

ธอส. ยังคงความเป็นผู้นำของตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยในฐานะสถาบันการเงินของรัฐที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน”   ด้วยส่วนแบ่งการตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างในระบบสถาบันการเงินที่ 33.48% พร้อมโชว์ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ปี 2565 ทะลุเป้าหมาย 286,888 ล้านบาท ด้วยการเติบโตได้มากถึง 16.21% และในปี 2566 ธอส. พร้อมขับเคลื่อนองค์กรมุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน ผ่าน 3 แนวทางหลัก ภายใต้แนวคิด GHB Next Move : Sustainable Bank

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ยังคงมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลด้านการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ต้องการมีบ้าน ด้วยการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากผลการดำเนินงานของธนาคาร ณ สิ้นปี 2565 ที่สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 286,888 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.21% เมื่อเทียบกับปี 2564 และสูงกว่าเป้าหมายสินเชื่อใหม่ปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 226,423 ล้านบาท จำนวน 60,465 ล้านบาท โดยสินเชื่อที่ปล่อยใหม่ แบ่งเป็นสินเชื่อที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางจำนวน 120,415 ราย โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2564 ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างปี 2565 เป็น 1,598,290 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.57% คงความเป็นผู้นำของตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยมีส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างในระบบสถาบันการเงินที่ 33.48% (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2565) ซึ่งถือเป็นความสำเร็จจากการดำเนินงานของผู้ปฏิบัติงานธนาคารทั้ง 5,000 ชีวิต ตามแผนยุทธศาสตร์ด้านการขยายสินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย (Social Solution) และกลุ่มรายได้ปานกลาง (Business Solution) ด้วยผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่หลากหลายและตรงความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย โดย ธอส. ได้ดำเนินงานภายใต้แนวคิด GHB Next Move : Sustainable Bank มุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืนผ่าน 3 แนวทางหลักในการขับเคลื่อนองค์กร คือ

  1. การใช้ Digital Technology ในการปรับกระบวนการให้บริการลูกค้า ด้วย Digital Services และ Implement Digital Operation ด้วยการยกระดับการให้บริการผ่าน Mobile Application : GHB ALL GEN ซึ่งเป็น New Version ของ Mobile Application : GHB ALL ที่มีความทันสมัยใช้งานง่ายตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์แบบ New Normal ของลูกค้าทุกช่วงอายุทั้งในด้านเงินฝากตั้งแต่กระบวนการเปิดบัญชี การโอนเงิน การซื้อสลากออมทรัพย์ การชำระหนี้เงินกู้ก็สามารถใช้บริการผ่าน Mobile Application ได้ทั้งหมดในด้านบริการสินเชื่อ ธนาคารจะยกระดับทั้งกระบวนการตั้งแต่การให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ การติดต่อเจ้าหน้าที่สินเชื่อ (Digital Loan Officer) รวมถึงการทราบราคาประเมินผ่านระบบ GHB Digital Appraisal การแจ้งผลอนุมัติสินเชื่อ และการลงนามสัญญาแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Contract ซึ่งลูกค้าจะได้รับเอกสารสัญญาเงินกู้รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
  1. การยกระดับ Operation การทำงานที่เกี่ยวกับลูกค้า เพื่อให้ผลการดำเนินงานในแต่ละปีเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ อาทิ เป้าหมายการปล่อยสินเชื่อใหม่ และการบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) โดยมีลูกค้าเป็นศูนย์กลางผ่าน Customer Journey เพื่อให้ลูกค้า รู้จัก : การส่งเสริมภาพลักษณ์ของ ธอส. ให้เป็น Super Brand ธนาคารที่ดีที่สุดสำหรับการมีบ้าน เข้าถึง : การเพิ่มช่องทางการติดต่อให้กับลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัลของธนาคาร ใช้จริง : ผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่หลากหลายและอัตราดอกเบี้ยต่ำ บอกต่อ : การจัดทำโครงการ “Data Driven Analytic” การนำฐานข้อมูลการใช้บริการของลูกค้ามาวิเคราะห์และจัดทำผลิตภัณฑ์หรือโปรโมชันให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า และ Loyalty : การใช้บริการอย่างต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น และยังคงอยู่กับ ธอส. ตลอดไป
  1. การพัฒนาผู้ปฏิบัติงานสู่ People Excellence ด้วยการสร้าง Mindset บุคลากรในองค์กรให้มีความพร้อม ความสามารถในการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และทำงานด้วยความรวดเร็ว เป็นมืออาชีพ เพื่อเดินหน้าตามพันธกิจ : ทำให้คนไทยมีบ้าน ผ่านการ Up-skill ให้มีความรู้ความเข้าใจ สามารถแนะนำลูกค้าเกี่ยวกับบริการดิจิทัลต่าง ๆ ของธนาคารได้อย่างชัดเจน รวมถึงการ Re-skill ให้มีทักษะในการให้บริการตรงกับความต้องการของลูกค้าในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ธอส. มุ่งเดินหน้าพัฒนาองค์กรสู่การเป็นธนาคารที่ดีที่สุด สำหรับการมีบ้านอย่างยั่งยืน  The Best Housing and Sustainable Bank โดยเป้าหมายความยั่งยืนของธนาคารจะดำเนินการใน 4 มิติ หรือ E2SG ได้แก่ มิติด้านเศรษฐกิจ (Economic) ผ่านผลการดำเนินงานที่แข็งแรง แข็งแกร่ง และเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน มิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ และการปฏิบัติการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มิติด้านสังคม (Social) ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง เพื่อยกระดับคุณภาพความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้น และมิติด้านธรรมาภิบาล (Governance) โดยใช้แนวทาง 3 Lines of Defense หรือ แนวทางในการบริหารความเสี่ยง และการตรวจสอบที่เชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อช่วยควบคุมการทำงานให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของธนาคาร ขณะที่ ธอส. ดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อย (Social Solution) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 65% ของจำนวนสินเชื่อปล่อยใหม่ทั้งหมดในแต่ละปี มุ่งเน้นช่วยเหลือให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางได้มีบ้านเป็นของตนเองได้ง่ายขึ้น อาทิ โครงการบ้านล้านหลัง สำหรับผู้มีรายได้น้อย รวมถึงสินเชื่อสำหรับผู้สูงอายุให้ได้มีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยในยามเกษียณ ผ่านโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage : RM)

จากนโยบายการขับเคลื่อนองค์กรของผู้บริหารระดับสูงที่ต้องการให้ ธอส. เป็นองค์กรที่เป็น Resilient Organization มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถก้าวข้ามทุกการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยให้ความสำคัญกับการปรับตัวให้เร็วที่สุดของผู้ปฏิบัติงานของธนาคารเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ลูกค้า คู่แข่ง และเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการยึดหลักมีธรรมาภิบาลที่ดี ปรับเปลี่ยนองค์กรให้เป็น Digital Bank เต็มรูปแบบ ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม โปร่งใส รับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดี มีการกำกับดูแลความเสี่ยง และสร้างคุณค่าให้ธนาคารอย่างเหมาะสมในระยะยาวและยั่งยืน เพื่อให้ ธอส. เป็นองค์กรหลักที่ช่วยดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” ตามพันธกิจของธนาคาร และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ธอส #GHB #สินเชื่อที่อยู่อาศัย #SustainableBank #กู้ซื้อบ้าน #ธนาคารอาคารสงเคราะห์ #ธนาคารเพื่อความยั่งยืน