Gen Z Travel Trends การท่องเที่ยวแบบไหนโดนใจ Gen Z ?

ทำไมเราต้องศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค Gen Z ทำไมพวกเขาถึงเป็นเจเนอเรชันที่สำคัญต่อธุรกิจต่าง ๆ และน่าจับตามอง นั่นก็เพราะว่า Gen Z หรือกลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี ค.ศ. 1995 ถึงช่วง ค.ศ. 2010 กำลังทยอยเข้าสู่ตลาดแรงงาน มีอำนาจการใช้จ่ายต่อปีประมาณกว่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐตามข้อมูลของ Business Insider และจะมีกำลังซื้อมากขึ้น ในไม่ช้าพวกเขาจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่สำคัญของธุรกิจต่าง ๆ รวมทั้งตลาดการท่องเที่ยวด้วย เนื่องจากคน Gen Z ใช้จ่ายกับการท่องเที่ยวรองลงมาจากที่พักอาศัยและเสื้อผ้า ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต

ดังนั้น Business+ จะพาไปส่องเทรนการท่องเที่ยวของคน Gen Z ว่าพวกเขาวางแผนการท่องเที่ยวอย่างไร ทำกิจกรรมอะไรระหว่างการท่องเที่ยว และคนเจนซีที่เติบโตมาพร้อมสมาร์ตโฟนและโซเชียลมีเดีย พวกเขาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการเดินท่องเที่ยวอย่างไรบ้าง

 

ลักษณะเด่นของผู้บริโภค Gen Z

Generation Z หรือกลุ่มคนที่เกิดช่วงปี 1995 – 2010 โดย Gen Z เป็นเจเนอเรชันในยุคดิจิทัลที่แท้จริงรุ่นแรก พวกเขาส่วนใหญ่จำชีวิตก่อนมีสมาร์ตโฟนไม่ได้ เพราะเติบโตขึ้นมาในช่วงเวลาที่สามารถเข้าถึงเนื้อหาสตรีมมิ่งและโซเชียลมีเดียได้ง่าย ทำให้คนเจนซีพึ่งพาและใช้โซเชียลมีเดียในชีวิตประจำวันอย่างมาก ซึ่งโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเดินทางและการตัดสินใจของพวกเขาด้วยเช่นกัน และในบรรดาทุกเจเนอเรชันพวกเขามีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าผ่านโซเชียลมีเดียมากที่สุด

 

อีกทั้ง Gen Z มักจะเป็น ‘ผู้บริโภคที่หาข้อมูลด้วยตนเอง’ และมักจะค้นคว้าและชั่งน้ำหนักตัวเลือกต่าง ๆ ก่อนตัดสินใจซื้อ นอกจากนี้ พวกเขายังมีแนวโน้มที่จะคล้อยตามคำแนะนำของผู้ใช้ในชีวิตจริงมากกว่าคำแนะนำจากคนดัง และมักจะไม่ค่อยยึดติดกับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งมากนัก แต่จะเลือกซื้อสินค้าในราคาที่ดีที่สุด

 

และที่สำคัญคนเจนซีให้ความสำคัญต่อจริยธรรมของแบรนด์และความรับผิดชอบต่อองค์กรมากกว่าคนรุ่นมิลเลนเนียล ตัวอย่างเช่น พวกเขาให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว ได้แก่ การแบ่งปันข้อมูลส่วนบุคคล และมาตรการรักษาความปลอดภัยของแบรนด์ต่าง ๆ รวมทั้งพวกเขาสนใจผลิตภัณฑ์และแบรนด์ที่ยั่งยืน และเต็มใจจ่ายมากขึ้นเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้

 

Gen Z ใช้เงินส่วนใหญ่ไปกับอะไร?

จากผลสำรวจพบว่า คนเจนซีใช้จ่ายกับค่าบ้านและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ มากที่สุด 52.34% รองลงมาคือ เสื้อผ้าและเครื่องประดับ 44.07% และอันดับที่ 3 คือการท่องเที่ยว 38.78% และตามด้วยความบันเทิง สั่งอาหาร/รับประทานอาหารนอกบ้าน การดูแลส่วนบุคคล บริการออนไลน์ ของเล่นและเกม และอื่น ๆ จะเห็นได้ว่านอกจากค่าบ้าน และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตแล้ว คน Gen Z จ่ายเงินไปกับการท่องเที่ยวสูงเป็นอันดับหนึ่ง สอดคล้องกับข้อมูลที่ว่า 52% ของคนเจนซีท่องเที่ยวมากกว่า 3 ทริปต่อปี และเดินทางเฉลี่ย 29 วันต่อปีเป็นรองแค่ Millennials ที่ 35 วันต่อปี

 

แรงจูงใจในการท่องเที่ยวของ Gen Z

เหตุผลในการออกเดินทางท่องเที่ยวของคน Gen Z ก็คล้ายกับคนรุ่นอื่น ๆ คือ ไปเพื่อพักผ่อน หลีกหนีความวุ่นวาย ใช้เวลากับเพื่อนและครอบครัว แต่พวกเขามีแนวโน้มที่จะออกเดินทางด้วยเหตุผลอย่างการผจญภัย และการพบกับประสบการณ์ทางวัฒนธรรมใหม่ ๆ เพราะพวกเขาแสวงหาสิ่งใหม่ที่น่าสนใจอยู่เสมอ อีกเหตุผลคือท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพจิตที่ดี เพราะคนในเจเนอเรชันนี้ให้ความสำคัญกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีอย่างมาก

 

ทั้งนี้ ระหว่างเดินทางท่องเที่ยวคนเจนซีนิยมไปเที่ยวชม สัมผัสวัฒนธรรมใหม่ ทานอาหาร ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ พบผู้คนใหม่ ๆ แต่คนเจนซีสนใจการเที่ยวคลับหรือสถานบันเทิงน้อยที่สุด เพราะพวกเขาสนใจการท่องเที่ยวสัมผัสธรรมชาติและสัมผัสวัฒนธรรมในท้องถิ่นมากกว่า

 

และคนเจนซีไม่เพียงเดินทางท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อน พวกเขาต้องการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เพื่อสร้างรายได้ การจ้างงาน และการอนุรักษ์ระบบนิเวศในท้องถิ่นที่ไปเยือน และส่วนใหญ่ชอบการเดินทางและที่พักที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบด้านลบต่อการท่องเที่ยว และสนับสนุนแบรนด์ที่มีแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนอีกด้วย

 

โซเชียลมีเดียกับการท่องเที่ยวของ Gen Z

Gen Z พึ่งพาและใช้โซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น TikTok หรือ Instagram ซึ่งพวกเขาค้นพบสถานที่ท่องเที่ยว รีสอร์ต หรือจุดหมายปลายทางจากอินฟลูเอนเซอร์สายท่องเที่ยว และมีความต้องการเดินทางเพื่อพบประสบการณ์เดียวกันกับคนที่พวกเขาติดตาม

ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารกับคน Gen Z ยกตัวอย่างเช่น โรงแรมสามารถแนะนำสถานที่ที่น่าไปที่ได้รับเลือกจากคนท้องถิ่นลงใน Instagram และเพื่อต่อยอดการขายและสร้างประสบการณ์เดินทางที่พิเศษให้ผู้เข้าพัก โรงแรมสามารถออกแพ็กเกจเพิ่มเติมได้ เช่น ทัวร์หมู่บ้านเพื่อสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่น กินอาหารท้องถิ่น

 

ดังนั้นการสร้างตัวตนที่แข็งแกร่งบนโซเชียลมีเดียถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยแพลตฟอร์มที่เน้นรูปภาพและวิดีโอมากกว่าข้อความ เช่น Instagram YouTube และ TikTok ได้รับความนิยมมากกว่า Twitter และ Facebook ในกลุ่ม Gen Z โดยสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเดินทางด้วยการสร้างเรื่องราวที่น่าสนใจ เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต้องการไปสำรวจจุดหมายปลายทางอย่างลึกซึ้ง มีความหมาย และไม่เหมือนใคร ถ้าหากใช้ช่องทางเหล่านี้เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ จะช่วยให้สื่อสารกับลูกค้าและต่อยอดการขายได้ดียิ่งขึ้น

 

Gen Z นักเดินทางที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการประหยัดงบ

นักเดินทาง Gen Z ที่เดินทางเป็นประจำเกินครึ่งมีรายได้น้อยกว่า 50,000 ดอลลาร์ต่อปี คนเจนซีไม่เหมือนกับรุ่นก่อน ๆ พวกเขาไม่รอจนกว่าจะทำงานที่ได้ค่าตอบแทนสูงหรือมีเงินออมเพียงพอสำหรับการเดินทาง แต่พวกเขาหาวิธีปรับให้เข้ากับงบประมาณของพวกเขา

 

โดยผลสำรวจของ Yahoo Finance คนเจน Z ในช่วงอายุ 18 ถึง 24 49% ของผู้ตอบแบบสอบถามใช้จ่ายน้อยกว่า 1,000 ดอลลาร์ในการเดินทางตลอดทั้งปี 25% ใช้จ่ายระหว่าง 1,000 ถึง 2,000 ดอลลาร์ และ 20% ใช้จ่าย 2,000 ดอลลาร์ขึ้นไป

 

และถึงแม้จะมีเงินไม่มากพอที่จะใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยในช่วงวันหยุดพักผ่อน แต่ Gen Z ก็ยินดีจ่ายเงินมหาศาลกับที่พักและประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครได้ ถ้าพวกเขาสามารถซื้อตั๋วเครื่องบินได้ในราคาถูก และเทคโนโลยีก็มีบทบาทสำคัญที่ทำให้พวกเขาค้นพบสถานที่ที่ไม่เหมือนใคร และค้นหาส่วนลดการจองการเดินทาง อ้างอิงข้อมูลจาก Booking.com ที่เผยว่า Gen Z ประมาณ 62% ใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยประหยัดค่าเดินทาง

 

และคนเจนซียังใช้บริษัทตัวแทนท่องเที่ยวออนไลน์ (Online Travel Agents: OTA) เช่น Agoda booking.com Expedia มากขึ้น เนื่องจากมีแพ็กเกจแบบไดนามิก ที่เราสามารถสร้างแพ็กเกจที่มีทั้งเที่ยวบิน ที่พัก และรถเช่าที่ยืดหยุ่นเวลาเดินทางได้ รวมทั้งมีโปรแกรมสะสมคะแนน

 

นอกจากนี้ นักเดินทาง Gen Z ยังจองตั๋วเครื่องบิน โรงแรม และรถยนต์ผ่าน OTA มากกว่าช่องทางออนไลน์อื่น ๆ เช่น เว็บไซต์ของบริษัทโดยตรง เมตาเสิร์ช หรือเว็บไซต์ตัวแทนการท่องเที่ยวรายย่อย

 

จากข้อมูลที่ Business+ รวบรวมมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า เทรนการท่องเที่ยวของคนเจนซีแตกต่างจากคนรุ่นอื่น แรงจูงใจสำคัญในการออกเดินทางของพวกเขามาจากความต้องการออกไปผจญภัย เพื่อพบกับประสบการณ์ทางวัฒนธรรมใหม่ ๆ และผ่อนคลายเพื่อสุขภาพจิตที่ดี ถึงแม้จะไม่สามารถใช้จ่ายในการท่องเที่ยวอย่างฟุ่มเฟือยได้ แต่คนเจนซีรู้วิธีใช้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียช่วยในการค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ และหาส่วนลดต่าง ๆ เพื่อเป็นตัวช่วยในการประหยัดค่าที่พัก ตั๋วเครื่องบิน ดังนั้นที่พักโรงแรมที่ทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดียจึงได้เปรียบในการแข่งขัน

 

อีกทั้งคนเจนซีนิยมใช้ Online Travel Agents ในการจองที่พัก ตั๋วเครื่องบิน และแพ็กเกจท่องเที่ยวแบบไดนามิกที่สามารถจองได้ครบครันและยืดหยุ่นทั้งที่พัก ตั๋วเครื่องบิน รถเช่า และกิจกรรมต่าง ๆ มากกว่าการจองผ่านเว็บไซต์ของบริษัทโดยตรง ดังนั้นการใช้แพลตฟอร์ม OTA เป็นช่องทางในการจองที่พักและแพ็กเกจต่าง ๆ จะทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงผู้บริโภคเจนซีได้มากขึ้น

 

นอกจากนี้คนในเจเนอเรชันนี้ยังให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนท้องถิ่นที่พวกเขาเดินทางไป อีกทั้ง พวกเขามีแนวโน้มยอมจ่ายให้กับแบรนด์ที่ยั่งยืนมากกว่า เพื่อสังคม สิ่งแวดล้อม และโลกที่ดีขึ้น

 

ที่มา CNBC, oaky, Gitnux Blog, trekksoft, britannica

 

เขียนและเรียบเรียง : สีน้ำ แผ่วฉิมพลี
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS