ฟรีโฟลต

17 บริษัทที่เจ้าของไม่อยากปล่อยให้คนเข้ามาถือ แม้จะเป็นบริษัทมหาชน

การจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน และเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นนั้น ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้ามาซื้อหุ้นและเป็นเจ้าของกิจการนั้นตามสัดส่วนหุ้นที่ถืออยู่ แต่ก็มีหลายบริษัทที่เจ้าของถือหุ้นมากเกินไป ไม่ยอมปล่อยหุ้นในบริษัทของตัวเองออกมาให้คนทั่วไปได้เป็นเจ้าของร่วม ซึ่งจริง ๆ แล้วบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นเป็นบริษัทมหาชน จึงมีกฎเกณฑ์เอาไว้ว่า ต้องมีการกระจายหุ้นให้กับรายย่อย หรือที่เรียกว่า Free Float ให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด

หากอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ บริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นต้องมีกลุ่มคนที่ไม่ใช่เจ้าของบริษัทหรือกลุ่มที่มีส่วนร่วมในการบริหาร (strategic shareholder) ถือหุ้นตั้งแต่ 150 คนขึ้นไป หรือต้องมากกว่า 15% ของทุน

แต่ที่ผ่านมาก็ยังมีหลายบริษัทที่มีสัดส่วนการถือหุ้นของคนทั่วไปน้อยกว่าที่เกณฑ์กำหนด ซึ่งมีผลเสียคือ ยิ่งการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อยน้อยเท่าไหร่ ก็ทำให้สภาพคล่องในการซื้อขายหุ้นต่ำมากเท่านั้น ลองนึกภาพตามว่า หากเราเป็นนักลงทุนที่ต้องการเข้าไปซื้อหรือขายหุ้นตัวนึง เราก็จะซื้อขายได้ยาก เพราะหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัทนี้เป็นของเจ้าของกิจการ (ที่อาจจะไม่อยากขายหุ้นออกมา)

นอกจากนี้ หุ้นที่มีฟรีโฟลตต่ำก็จะมีโอกาสที่ราคาหุ้นจะเคลื่อนไหวในลักษณะที่ผิดปกติมากกว่าหุ้นทั่วไป เพราะมีกลุ่มคนที่ถือหุ้นจำนวนมากอยู่ในมือ หากเทขายออกมาครั้งใหญ่ราคาหุ้นก็จะลงหนักมากกว่าหุ้นที่มีรายย่อยถือเยอะกว่าเพราะหุ้นส่วนใหญ่อยู่ในมือของนักลงทุนรายใหญ่เพียงไม่กี่คน สามารถที่จะถูกควบคุมราคาได้ง่ายกว่า

ซึ่งหุ้นที่มีฟรีโฟลตต่ำนอกจากในสายตานักลงทุนรายย่อยจะไม่ค่อยดีแล้ว ในมุมของการร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ธุรกิจหรือในมุมของบริษัทที่ต้องการลงทุนในบริษัทอื่นก็อาจมีความน่าสนใจน้อยกว่าบริษัทที่มีฟรีโฟลตสูง

ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้แจ้งเตือน 17 บริษัทที่มีการกระจายหุ้นให้รายย่อยถือไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของบริษัทมหาชน และบังคับให้ซื้อขายด้วยเงินสด หรือ Cash Balance เท่านั้น มีผลตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย. ยาวไปจนกว่าจะเพิ่มฟรีโฟลตได้

และหากครบกำหนด 1 ปี ยังไม่สามารถกระจายการถือหุ้นให้รายย่อยเพิ่มตามเกณฑ์ได้ ก็จะขึ้นเครื่องหมาย SP เพื่อหยุดการซื้อขายชั่วคราว

ทีนี้เราไปดูกันค่ะว่า 17 บริษัทแห่งนี้มีฟรีโฟลตต่ำกว่าเกณฑ์มีบริษัทอะไรบ้าง

ซึ่งเอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (ANI) ANI และ KWI เป็นหลักทรัพย์ที่มีการกระจายการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่ครบถ้วนเป็นปีแรกส่วนหลักทรัพย์อื่นมีการกระจายการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่ครบถ้วนตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป

โดยบริษัททั้ง 17 รายนี้ต้องเพิ่ม Free Float ให้ทันตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดเอาไว้ ไม่งั้นอาจจะถูกพักการซื้อขายได้ โดยการเพิ่มฟรีโฟลตทำได้ 2 อย่างคือ 1. บริษัทออกหุ้นเพิ่มทุน เพื่อทำให้มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยมากขึ้น 2. ผู้ถือหุ้นกลุ่ม Strategic shareholder ขายหุ้นออกมาให้รายย่อยถือแทน

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ที่มา : Set
ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus
Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS