‘บางจากฯ’ ติดอันดับ 500 บริษัทชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้รับการประกาศให้เป็นหนึ่งใน Fortune Southeast Asia 500 ซึ่งเป็นการจัดอันดับบริษัทที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจมากที่สุด 500 แห่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งแรกของนิตยสารฟอร์จูน (Fortune) โดยบางจากฯ ได้รับการจัดอันดับอยู่ในลำดับที่ 24

โดย Fortune 500 Southeast Asia เป็นการจัดอันดับบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนิตยสารฟอร์จูน สื่อธุรกิจที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เริ่มต้นจัดทำครั้งแรกในปี 2567 เพื่อเผยแพร่รายชื่อ 500 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พิจารณาจากเกณฑ์รายได้ของบริษัทในแต่ละปี ฟอร์จูนให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากภูมิภาคนี้ได้มีความสำคัญมากขึ้นในเศรษฐกิจโลกจากการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานการผลิต และเป็นภูมิภาคที่มีพัฒนาการระบบเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว การที่บางจากฯ ได้รับเลือกให้ติดอันดับทรงเกียรตินี้ ตอกย้ำถึงศักยภาพความแข็งแกร่งของบริษัทฯ ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในภูมิภาค

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในนามของบางจากฯ ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่บริษัทฯ ได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารฟอร์จูนอยู่ใน 25 อันดับแรก (Top 25) ของ 500 บริษัทที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและการขยายธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดดเด่นจากกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจที่หลากหลาย  สะท้อนความมุ่งมั่นในการให้ความสำคัญกับความยั่งยืน นวัตกรรมสีเขียว และความเป็นเลิศในทุกๆ ด้าน เป็นผลจากความทุ่มเทของผู้บริหารและพนักงาน รวมถึงการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้เสียทางธุรกิจ ที่ล้วนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนบางจากฯ ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ผมขอขอบคุณทุกท่านมา ณ โอกาสนี้”

เกี่ยวกับบางจากฯ

บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ดำเนินงานใน 5 ธุรกิจหลัก คือ

1) กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน ผู้นำด้านการกลั่นน้ำมันของประเทศ ด้วยกำลังการผลิตรวมเกือบ 300,000 บาร์เรลต่อวัน จากโรงกลั่นน้ำมันแบบ Complex Refinery มาตรฐานระดับโลก 2 แห่ง คือโรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนงและโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ศรีราชา จังหวัดชลบุรี ขยายสู่ธุรกิจการค้าน้ำมันผ่านบริษัทบีซีพี เทรดดิ้ง (BCPT) และต่อยอดเครือข่ายธุรกิจขนส่งเชื้อเพลิง ผ่านบริษัทกรุงเทพขนส่งเชื้อเพลิงทางท่อและโลจิสติกส์ (BFPL) รวมถึงลงทุนในธุรกิจเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน หรือ SAF ผ่านบริษัทบีเอสจีเอฟ (BSGF)

2) กลุ่มธุรกิจการตลาด ส่งมอบ Greenovative Experience ผ่านเครือข่ายสถานีบริการกว่า 2,200 แห่ง เสริมด้วยธุรกิจ non-oil เช่น กาแฟอินทนิล น้ำมันหล่อลื่น Furio EV Charger รวมทั้งความร่วมมือกับพันธมิตรด้านอาหารหลากหลายและนำระบบดิจิทัลมาส่งมอบประสบการณ์ทันสมัย สะดวก ปลอดภัย ให้กับผู้ใช้บริการ

3) กลุ่มธุรกิจไฟฟ้าพลังงานสะอาด ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด และการนำนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการการใช้พลังงานของผู้บริโภคและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดย บมจ. บีซีพีจี ผู้นำธุรกิจพลังงานสะอาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค

4) กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ดำเนินการภายใต้ บมจ. บีบีจีไอ ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวภาพรายใหญ่ของประเทศและขยายสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง

5) กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ ลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมผ่านการถือหุ้นใน OKEA ASA ประเทศนอร์เวย์ ที่เป็นที่ยอมรับว่ามีมาตรฐานด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง และมีกลุ่มธุรกิจใหม่ (New Businesses) อาทิ ธุรกิจ Battery as a Service สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า Winnonie และสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ (BiiC) เน้นการลงทุนในธุรกิจใหม่ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้งช่วยสร้างระบบนิเวศสำหรับ นวัตกรรมสีเขียว

นอกจากนี้ ยังได้ก่อตั้ง Carbon Markets Club เพื่อส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวิกฤตสภาวะภูมิอากาศและการ
ซื้อขายคาร์บอนเครดิต และร่วมก่อตั้งภาคีเครือข่ายเทคโนโลยีชีวภาพแห่งอนาคต SynBio Consortium

บางจากฯ ได้รับการประเมินจาก S&P Global CSA ผู้จัดทำการประเมินความยั่งยืนดัชนี DJSI (ผลประเมินเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2566)  ได้คะแนนการประเมินสูงเป็น Top  5% ในกลุ่มอุตสาหกรรม Oil & Gas Refining and Marketing และเป็นบริษัทไทยรายเดียวที่ได้รับการประเมินความยั่งยืน MSCI ESG Ratings ระดับ AA สูงสุดในกลุ่ม Oil & Gas Refining, Marketing, Transportation & Storage ต่อเนื่อง 5 ปีซ้อน

กลุ่มบริษัทบางจากตั้งเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2030 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2050