FormosaChang

‘Formosa Chang’ เชนร้านขายพะโล้ในไต้หวัน ที่พัฒนาจากแผงลอยสู่ร้านอาหารอัจฉริยะ

ไต้หวันขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีจากบทบาทของการเป็นผู้ผลิตและส่งออก Semiconductor ให้กับบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลก แต่ปัจจุบันไต้หวันกำลังยกระดับจากผู้ส่งออกมาเป็นผู้เล่นหลักในธุรกิจเทคโนโลยีของโลก เห็นได้จากการนำเทคโนโลยี หรือ AI  ใหม่ ๆ มาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีในธุรกิจต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อทดแทนแรงงานที่ขาดแคลนของไต้หวันหลังจากการเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aged society)

โดยในปี 2561 ไต้หวันมีจำนวนผู้สูงอายุหรือประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป 14.05% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งทำให้ไต้หวันกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) และภายในปี 2569 ถูกคาดการณ์ว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Hyper-Aged Society) ซึ่งจะเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรงขึ้น ดังนั้น คนไต้หวันจึงทำเริ่มพัฒนา AI และ Machine ต่างๆ มาใช้กับธุรกิจเพื่อทดแทนพนักงานมากขึ้น

ทั้งนี้ ‘Business+’ พบข้อมูลว่า หนึ่งในเทคโนโลยีที่น่าสนใจมากเป็นพิเศษคือ การนำ AI มาใช้กับธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะเชนร้านอาหารที่มีหลายสาขาจึงต้องการพนักงานจำนวนมาก โดยหลักการออกแบบ AI ในร้านอาหารนั้น ถูกคิดมาเพื่อรับมือกับค่าแรงที่สูงขึ้นจากจำนวนแรงงานที่ขาดแคลนในประเทศ จนกลายเป็นที่มาของร้านอาหารอัจฉริยะที่ไม่ต้องพึ่งพาพนักงานจำนวนมากอีกต่อไป เพราะ AI นี้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและทำแทนคนได้ทุก Session

สำหรับเชนร้านอาหารในไต้หวันที่เพิ่งเปิดตัวเทคโนโลยีล่าสุดและเกิดเป็นกระแสที่โด่งดังในแวดวงธุรกิจเทคโนโลยี และธุรกิจร้านอาหาร คือ Formosa Chang ร้านอาหารท้องถิ่นที่ได้รับความนิยมอย่างมากในไต้หวัน ซึ่งครั้งนี้เป็นการร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีกับบริษัท LaFresh มาในรูปแบบ Concept Store ของ Formosa Chang คือร้าน Formosa Chang iPlus+ โดยทั้ง 2 บริษัทได้ร่วมกันคิดค้นการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาประยุกต์ใช้มากมาย ทั้งตู้สั่งอาหารอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยี AI , ตู้รับอาหารอัจฉริยะที่จะทำการเพิ่ม/ลดอุณหภูมิภายในทันทีที่มีอาหารวางเข้าไป รวมไปจนถึง ระบบการทำงานหลังบ้านในการส่งออร์เดอร์ไปยังห้องครัวแบบอัตโนมัติ อีกหนึ่งจุดเด่นคือการถูกพัฒนาจนสามารถใช้งานได้หลากหลายภาษา

ซึ่งภายหลังจากการนำ AI มาใช้จะทำให้ร้าน Concept Store ของ Formosa Chang จะทำให้ร้านไม่จำเป็นต้องมีพนักงานไปรอรับออร์เดอร์จากลูกค้าอีกต่อไป เพราะจะมี AI ในรูปแบบเครื่อง Kiosk ที่ให้บริการลูกค้าผ่านเครื่อง Kiosk สำหรับสั่งอาหาร โดยนำเทคโนโลยี Azure, Open AI, Speech to Text มาใช้ทำให้สามารถรับออร์เดอร์จากลูกค้าได้มีประสิทธิภาพ และสื่อสารได้มากถึง 5 ภาษาทั้งจีน อังกฤษ ฝรั่งเศส เกาหลีและญี่ปุ่น จึงทำให้เครื่อง Kiosk นี้สามารถสนทนาโต้ตอบแบบง่ายๆ กับลูกค้าได้ รวมถึงยังสามารถให้คำแนะนำที่เหมาะสมตามความชอบของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หากลูกค้าพูดกับเครื่องว่า “อยากรับประทานเนื้อหมู” ทางเครื่องก็จะแสดงเมนูที่เกี่ยวข้องของร้านขึ้นมาทั้งหมด นอกจากนี้ เครื่อง Kiosk ยังสามารถรับชำระเงินได้ทั้งแบบเงินสด LINE Pay หรือบัตรเครดิต รวมไปจนถึงการพิมพ์ใบเสร็จออกมาให้กับลูกค้าจนครบกระบวนการทั้งหมดในเครื่องเดียว

โดยการทำงานในระบบหลังบ้านนั้น หลังจากที่ลูกค้าสั่งอาหาร ระบบจะจัดคิวพร้อมส่งข้อมูลออร์เดอร์ของลูกค้าไปที่หน้าจอของพนักงานในครัว พร้อมเรียงลำดับออร์เดอร์ตามคิว ซึ่งช่วยให้พนักงานหลังร้านสามารถจัดเตรียมและปรุงอาหารตามที่ลูกค้าสั่งได้อย่างรวดเร็ว และเมื่ออาหารถูกจัดเตรียมเรียบร้อย ก็จะมีการส่งไปยังตู้รับอาหารซึ่งมีการติดตั้งระบบอุ่น/แช่เย็นสำหรับอาหารอยู่ในตัว พร้อมทั้งประกาศเรียกลูกค้าตามหมายเลขคิวให้ไปรับอาหารจากตู้ด้วยตัวเองตามหมายเลขช่องที่แจ้งไว้

นอกจากนี้ ระบบยังสามารถเชื่อมโยงกับระบบของแพลตฟอร์มดีลิเวอรี่ ทั้ง Food Panda และ Uber Eats ซึ่งเป็น 2 แพลตฟอร์มหลักที่คนไต้หวันนิยมใช้ ซึ่งผู้ให้บริการจะสามารถรับอาหารที่ลูกค้าสั่งได้ตามช่องรับอาหารที่แจ้งไว้ในระบบได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งการใช้งาน AI ได้อย่างครบวงจรทำให้ร้านอาหารโลคอล Formosa Chang ถูกยกระดับขึ้นเป็นร้านอาหารอัจฉริยะสุดไฮเทค

ตัวอย่างของ Formosa Chang ที่สามารถพัฒนาตัวเองจากแผงขายอาหารเล็กๆ เพียงสาขาเดียว ที่เปิดตัวตั้งแต่ปี 2503 และพัฒนามาตลอดกว่า 60 ปี จนกลายเป็นหนึ่งในผู้นำของตลาดร้านอาหารจานด่วนในไต้หวัน และยังไม่หยุดพัฒนาด้วยการกำลังก้าวขึ้นมาเป็นร้านอาหารอัจฉริยะที่จะกลายเป็นต้นแบบของร้านอาหารและธุรกิจอื่น ๆ ถือว่าเป็นการปรับตัวให้สอดคล้องกับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Hyper Aged Society) ของไต้หวันที่จะทำให้ค่าแรงสูงขึ้น และกลายเป็นปัจจัยกดดันให้ธุรกิจร้านอาหารในไต้หวันต้องปรับตัวรับมือกับต้นทุนที่สูงขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้การใช้ AI ในธุรกิจร้านอาหารถือเป็นจุดกำเนิดร้านอาหารแนวใหม่แบบที่ไม่ต้องพบหน้ากันระหว่างพนักงานและลูกค้า (Contactless) ที่สอดคล้องกับกระแสการให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหารหลังจากเกิดการระบาดของ COVID-19 อีกทั้งยังเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการต่อลูกค้าแต่ละรายด้วย

ทั้งนี้ทางผู้บริหารของ Formosa Chang เปิดเผยว่า Concept Store จะช่วยลดต้นทุนด้านแรงงานได้อย่างน้อย 10% โดยขณะนี้ได้มีการนำมาใช้งานแล้วใน 6 สาขา ซึ่งทางบริษัทเตรียมจะทยอยนำมาติดตั้งในสาขาทั้งหมดที่มีอยู่มากกว่า 70 แห่งทั่วไต้หวันในอนาคต

ข้อมูลที่น่าสนใจของ FORMOSA CHANG

โดย FORMOSA CHANG เริ่มต้นจากการตั้งร้านแผงลอยขายข้าวราดหมูพะโล้สับ ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามตลาดซวงเหลียนบนถนนหมินเซิงสายตะวันตกของไต้หวัน โดยประสบความสำเร็จในช่วงแรกได้ด้วยรสชาติอาหารที่อร่อยกลมกล่อมจากวัตถุดิบชั้นดีจึงได้รับความนิยมจากลูกค้า และปัจจุบัน กลายเป็นร้านอาหารสไตล์ไต้หวันที่หาทานได้ง่ายเนื่องจากมีหลายสาขา และมีเมนูที่โลคอลที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งจีโร่วฟั่น (ข้าวไก่ฉีก) และ หลู่โร่วฟั่น (ข้าวหมูสับพะโล้)

ซึ่งน่าสนใจตรงที่จุดเริ่มต้นแรกเริ่มของ Formosa Chang เคยเป็นแผงขายอาหารที่อยู่ข้างตลาด Shuanglian Market และได้เติบโตกลายมาเป็นเชนร้านอาหารระดับนานาชาติได้ ซึ่งเมนูพิเศษของร้านคือเนื้อตุ๋นสไตล์ไต้หวันเสิร์ฟบนข้าว โดยอาหารจานเด่นของร้านได้รับรางวัล “รางวัลยอดนิยม” จากงาน Taipei Traditional Food Carnival ครั้งที่ 9 และกลายเป็นจุดที่ดีสำหรับการเติบโตของอาหารท้องถิ่น

ผู้ประกอบการไทยกับการนำ AI มาใช้

ในปัจจุบันเราเริ่มเห็นว่าเชนร้านอาหารในประเทศไทยจำนวนมากได้นำหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารมาใช้ โดยส่วนใหญ่ที่เราคุ้นเคยกันจะเป็นหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร ซึ่งจัดอยู่ในแผนกหุ่นยนต์บริการ โดยบริษัทที่จัดทำและมีหลายแบรนด์เลือกใช้คือ บจก.ซันโรโบติกส์ แอนด์ เอไอ จำกัด ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่เป็น (Service Robot) หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร หุ่นยนต์ส่งอาหาร Delivery Robot โดยเชนร้านอาหารที่ Business+ ได้ทำการสำรวจพบว่ามีการนำหุ่นยนต์ประเภทนี้มาใช้มีจำนวนมาก เช่น Black Canyon ,นักล่าหมูกระทะ , Tops Market , AKA Shabu แม่ศรีเรือน , Sizzler , สุกี้ตี๋น้อย , คัตสิยะ และอีกมากมาย

ซึ่งในอนาคตระบบให้บริการแบบอัจฉริยะที่เน้นการ Contactless จะไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในธุรกิจร้านอาหารเท่านั้น แต่เราจะได้เห็นการใช้ในหลากหลายธุรกิจมากขึ้น อย่างเช่นในงาน COMPUTEX Taipei 2023 ซึ่งเป็นงานสร้างระบบนิเวศเทคโนโลยีระดับโลก เราก็ได้เริ่มเห็นการนำ AI มาใช้กับระบบเช็คอินของโรงแรม ร้านสะดวกซื้อ รวมไปจนถึงโรงภาพยนตร์ เพราะเมื่อมองถึงความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับการจ้างพนักงานแล้ว เราพบว่าราคาของหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารมีหลากหลาย แต่หากเรามองที่หุ่นยนต์ในระดับราคาเงินสด 325,000 บาทต่อเครื่อง ซึ่งรับประกันการใช้งานนาน 2 ปี เมื่อนำมาเทียบแบบกำปั้นทุบดิบกับการจ่ายเงินเดือนพนักงาน 15,000 บาทต่อเดือน (ซึ่งเป็นค่าจ้างเฉลี่ยวันละ 500 บาท) นาน 2 ปี จะเป็นค่าจ้าง 360,000 บาท ต่อปี เท่ากับว่าการใช้ AI ก็ช่วยให้ประหยัดได้มากกว่าราว 35,000 บาท ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากภาวะขาดแคลนแรงงานที่จะเกิดขึ้นกับไทยในอนาคตได้ (ไทยถูกคาดการณ์ว่าจะกลายเป็น Hyper-Aged Society ภายในปี 2574)

แต่ต้องยอมรับว่าหากเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะ หรือฝีมือ ก็อาจจะยังไม่สามารถใช้ AI มาทดแทนได้ทั้งหมด ดังนั้น ทั้งภาคธุรกิจ และภาคแรงงานจึงต้องปรับตัว พัฒนาทักษะให้สอดคล้องกับสภาพสังคมในอนาคตด้วยเช่นกัน

สำหรับเนื้อหาด้านผลกระทบในแง่มุมต่าง ๆ และประเด็นที่น่าสนใจที่เกี่ยวกับสงคมผู้สูงอายุอื่นๆ ‘Business+’ จะมานำเสนอในคอนเทนต์ไปกับแคมเปญพิเศษ “The Coming of a Hyper-aged Society” เฒ่าทันความสูงวัย ก่อนไทยเข้า Hyper-Aged ซึ่งสามารถรอติดตามอ่านกันได้ที่แฟนเพจ และเว็บไซต์ของ Business+ https://www.thebusinessplus.com/hyper_aged/?version=Bplus1

ที่มา: กรมธุรกิจการค้า , Digitimes / Bnext Magazine / ETToday

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #Business #AI #FormosaChang #ร้านอาหารไต้หวัน