ประเทศไทยถือว่าเป็นเป็นประเทศที่มีการแข่งขันในตลาด Food Delivery สูงจากการที่มีทั้งผู้สร้างแพลตฟอร์มในประเทศ และต่างประเทศได้เข้ามาทำตลาดจำนวนมาก นั่นจึงทำให้หลายๆ บริษัทยังประสบกับผลขาดทุนสุทธิเพราะจะต้องทำแคมเปญการตลาดเพื่อแย่งชิงฐานลูกค้า และต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น
ซึ่งในปี 2567 มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดจะอยู่ที่ 8.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งหดตัวลดลงราว 1% จากปี 2566 แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการสั่งอาหารเฉลี่ยต่อครั้งน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น (Price per Order) ประมาณ 2.8% จากค่าเฉลี่ยในปี 2566 หรือมีราคาเฉลี่ยประมาณ 185 บาทต่อครั้งของการสั่ง (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
และตลาดในไทยยังคงท้าทายจากการเปลี่ยนมือ หรือเปลี่ยนเจ้าของแพลตฟอร์มรายใหญ่อีกเจ้า นั่นคือ Robinhood ซึ่งก่อนหน้านี้ SCBX เจ้าของแอปพลิเคชัน Robinhood ประกาศปิดตัววันที่ 31 ก.ค.2567 ซึ่งขณะนั้นเป็นข่าวดีต่อเจ้าอื่น เพราะจะมีฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้น และแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดจาก Robinhood
แต่ล่าสุดได้เลื่อนปิดบริการออกไป เพื่อรอผู้ลงทุนรายใหม่เทคโอเวอร์จึงได้มีมติอนุมัติให้เลื่อนการยุติการให้บริการส่งอาหารออกไป และขณะนี้มีผู้ส่งข้อเสนอเข้าซื้อกิจการทั้งหมดจำนวนมากอีกด้วย ซึ่ง Robinhood เป็นแอปพลิเคชันสัญชาติที่ถูกสร้างและพัฒนาโดยคนไทย ถือเป็นแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีสัญชาติไทย อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ในเครือเอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) เปิดกิจการในปี 63 และถูกพัฒนาขึ้นมาจากความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการร้านอาหารโดยเฉพาะร้านเล็ก ๆ มากกว่า 16,000 ร้านค้า ซึ่งแน่นอนว่า การที่มีเจ้าของใหม่ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็น 1 ใน 4 รายที่เคยมีอยู่แล้วจะกลายเป็นผลเสียต่อผู้เล่นเดิม เพราะจะมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามา ซึ่งอาจจะมีเงินลงทุน และพัฒนาแอปพลิเคชั่นของ Robinhood ให้ดีขึ้นกว่าเดิม
ทีนี้มาดูกันว่า 5 อันดับ แอปพลิเคชันที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุดในไทยเป็นใคร และมีข้อมูลที่น่าสนใจอะไรบ้าง?
อันดับที่ 1 Grab Food เป็นบริษัทสัญชาติสิงคโปร์ ก่อตั้งในไทยปี 2556 ซึ่งปัจจุบัน (ปี 2567) มีส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 47% และคิดค่า GP (Gross Profit) หรือส่วนแบ่งที่ร้านค้าจ่ายให้แก่แอปพลิเคชันอยู่ที่ 30% ซึ่งในปี 2566 มีรายได้ 15,622 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 1,308 ล้านบาท โดย Grab ถือเป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด และเป็นแบรนด์แรกๆที่ทำให้การสั่งอาหารเป็นที่นิยมมากในไทย ซึ่งแพลตฟอร์มนี้มีจุดเด่นคือ ใช้งานง่ายโดยเฉพาะกับคนที่มีแอพ Grab อยู่แล้ว โชว์เฉพาะร้านค้าที่อยู่ในบริเวณที่ให้บริการเท่านั้น และมีการออกแบบ Interface และขั้นตอนการสั่งซื้อที่ง่ายต่อการใช้งาน และยังติดตามออเดอร์ได้ง่าย
อันดับที่ 2 LineMan ก่อตั้งในปี 2562 มีส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 36% และคิดค่า GP อยู่ที่ 30% ซึ่งในปี 2566 มีรายได้ 11,634 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 254 ล้านบาท โดยจุดเด่นคือ การมีหมวดหมู่อาหารให้เลือกชัดเจน (ไม่ต้อง filter เอง) มีการแนะนำร้านที่น่าสนใจจาก Wongnai และสามารถเลือกได้ว่าจะสั่งอาหารจากร้านยอดนิยมหรือร้านที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง มีระบบการสั่งซื้อและ assigned งานให้คนขับอย่างชัดเจน และมีระบบ GPS ให้เราสามารถติดตามได้ว่าคนขับอยู่ที่จุดไหน ระบบ Review ร้านค้าก็ใช้งานง่ายเพราะเป็นพันธมิตรกับ Wongnai มี Street Food ให้เลือกหลากหลาย ฐานร้านค้าใหญ่มาก
อันดับที่ 3 Food Panda ก่อตั้งในปี 2555 มีส่วนแบ่งการตลาด 8% และคิดค่า GP อยู่ที่ 32% ซึ่งในปี 2566 มีรายได้ 3,843 ล้านบาท และประสบกับผลขาดทุนสุทธิ 522 ล้านบาท โดยมีจุดเด่นที่มีหมวดหมู่อาหารให้เลือกชัดเจน สามารถเลือกประเภทอาหาร ระดับราคา และเลือกดูเฉพาะร้านที่จัดโปรโมชั่นได้ (ต้อง filter เอง) สามารถสั่งอาหารได้ทั้งเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น โดยมีระบบ GPS ให้เราสามารถติดตามได้ว่าคนขับอยู่ที่จุดไหน และสามารถสั่งหลายออเดอร์พร้อมกันได้
อันดับที่ 4 Robinhood ก่อตั้งในปี 2563 โดยถือว่าเป็นแพลตฟอร์มน้องใหม่ที่สุด และมีส่วนแบ่งการตลาด 6% จุดเด่นคือการไม่คิดค่า GP ซึ่งในปี 2566 มีรายได้ 724 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ 2,156 ล้านบาท ซึ่ง Robinhood นั้นไม่คิดค่า GP เพราะต้องการสนับสนุนร้านอาหารเล็ก ส่วนการใช้งานแอปพลิเคชันนั้นก็ใช้งานง่ายและปลอดภัย บริหารจัดการโปร่งใส และมุ่งเน้นการพัฒนาชุมชนและสร้างรายได้เสริมให้พนักงานและร้านค้า
อันดับที่ 5 ShopeeFood ก่อตั้งในปี 2560 มีส่วนแบ่งการตลาด 3% และคิดค่า GP อยู่ที่ 30% มีผลขาดทุนสุทธิ 0.03 ล้านบาท ในปี 2566 ซึ่งจุดเด่นคือฐานผู้ใช้งานกว้างขวาง โปรโมชั่นและส่วนลดที่ดึงดูดใจ การสั่งอาหารและชำระเงินผ่าน ShopeePay ที่สะดวกสบาย การจัดส่งรวดเร็วติดตามได้แบบเรียลไทม์ และมีร้านค้าให้เลือกหลากหลายตั้งแต่ร้านใหญ่จนถึงร้านท้องถิ่น
จะเห็นได้ว่ามีเพียงแค่ 1 บริษัทที่มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 อย่าง Grab Food เท่านั้นที่มีกำไรสุทธิ ส่วนบริษัทอื่นยังคงเจอกับผลขาดทุนสุทธิ โดยตลาดในเมืองไทยยังเผชิญกับ 2 ปัญหาหลักคือ การแข่งขันที่รุนแรงซึ่งทำให้ต้องแข่งขันกันทางด้านกลยุทธ์การตลาด และส่งเสริมการขาย ไม่ว่าจะเป็นส่วนลด หรือการมอบสิทธิพิเศษเพื่อดึงดูดและรักษาลูกค้า ปัญหาที่ 2 คือ ต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งต้นทุนวัตถุดิบและค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นก็จะส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้นตามไปด้วย และอาจทำให้ผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าผ่านหน้าร้านแทนการใช้บริการ Food Delivery
ที่มา : เว็บไซต์บริษัท , DBD
ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus
Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #ฟู้ดเดลิเวอร์รี่ #FoodDelivery