ส่องผลดำเนินงานบริษัทน้ำปลา 3 เจ้าดัง สวนทางพฤติกรรมคนไทยติดเค็มเกินมาตรฐานโลก

เป็นธรรมดาที่มักจะเห็นคนไทยปรุงรสชาติของอาหารอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นในขั้นตอนการปรุงรสอาหาร หรือก่อนการรับประทาน เนื่องจากความคุ้นชินกับรสชาติที่มีความจัดจ้าน ส่งผลให้คนไทยมีปัญหาสุขภาพตามมาอีกหลาย ๆ ด้าน จากพฤติกรรมการปรุงอาหารเพิ่มก่อนการรับประทาน และหนึ่งในพฤติกรรมที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือปัญหาการ ‘ติดเค็ม’ ที่เกินมาตรฐานจากที่หน่วยงานระดับโลกอย่าง ‘WHO’ แนะนำ

โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เผยผลสำรวจปริมาณการบริโภคเกลือโซเดียมของคนไทยในปี 2563 พบว่า มีอัตราการบริโภคเฉลี่ย 3,636 มก./วัน ซึ่งเกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำเกือบ 2 เท่า

 

ซึ่งแหล่งอาหารที่มีโซเดียม ไม่ได้มีเพียงแค่เกลือเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบรรดาเครื่องปรุงรสต่าง ๆ อีกด้วย และแน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้น ‘น้ำปลา’ ที่ถือเป็นหนึ่งในเครื่องปรุงที่ได้รับความนิยมจากคนไทยเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยสรรพคุณที่มีความเค็มทำให้รสชาติอาหารเป็นที่ถูกอกถูกใจผู้บริโภคยิ่งขึ้น แต่กลับส่งผลเสียต่อสุขภาพกว่าที่คิด โดยในผลิตภัณฑ์น้ำปลามีปริมาณโซเดียมอยู่ที่ 1,160-1,420 มิลลิกรัม/ช้อนโต๊ะ จึงถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องปรุงที่มีปริมาณโซเดียมสูง เมื่อเทียบกับปริมาณโซเดียมที่แนะนำให้บริโภคต่อวันไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม (สำหรับผู้ใหญ่สุขภาพดี) เนื่องจากโดยปกติแล้วในการปรุงอาหารหลาย ๆ เมนูของคนไทยมักจะใส่น้ำปลาด้วยปริมาณที่มากกว่า 1 ช้อนโต๊ะ

 

ซึ่งจากข้อมูลเหล่านี้ Business+ จึงได้ทำการสำรวจข้อมูลผลประกอบการของบริษัทผู้ผลิตน้ำปลาเจ้าดังที่มักจะพบเจออยู่เสมอตามร้านค้าทั่วไป ได้แก่ ทิพรส, ปลาหมึก และ Megachef เพื่อเปรียบเทียบว่าในสถานการณ์ที่คนไทยติดเค็มนั้น ผู้ผลิตน้ำปลาได้รับผลประโยชน์มากน้อยเพียงใด โดยอิงจากข้อมูลการส่งงบประมาณล่าสุดของแต่ละบริษัทที่สามารถตรวจสอบได้

โดยเริ่มจาก บริษัท ไพโรจน์ (ทั่งซังฮะ) จำกัด ผู้ผลิตน้ำปลาภายใต้แบรนด์ ‘ทิพรส’ ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2462 มีรายได้รวมของบริษัทในปี พ.ศ. 2564 อยู่ที่ 2,901,087,334.35 บาท ลดลง 4.29% จากปี 2563 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 3,031,261,378.45บาท และมีกำไรสุทธิ 437,812,070.41 บาท ลดลง 11.68% จากปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 495,759,574.35 บาท

 

ขณะที่ บริษัท โรงงานน้ำปลาไทย(ตราปลาหมึก) จำกัด ผู้ผลิตน้ำปลาภายใต้แบรนด์ ‘ปลาหมึก’ ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2487มีรายได้รวมของบริษัทในปี พ.ศ. 2565 อยู่ที่ 815,793,559.47 บาท ลดลง 10.67% จากปี 2564 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 913,321,951.33 บาท และมีกำไรสุทธิ 57,241,130.59 บาท ลดลง 14.49% จากปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิ 66,944,121.91 บาท

 

ส่วน บริษัท สินวารีพัฒนา จำกัด ผู้ผลิตน้ำปลาภายใต้แบรนด์ ‘Megachef’ ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 มีรายได้รวมของบริษัทในปี พ.ศ. 2565 อยู่ที่ 534,003,747.30 บาท ลดลง 9.5% จากปี 2564 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 590,204,593.34 บาท และมีกำไรสุทธิ 14,532,589.79 บาท เพิ่มขึ้น 0.43% จากปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิ 14,469,694.54 บาท

 

ทั้งนี้ จากผลประกอบการดังกล่าว ทำให้เห็นว่า แม้ว่าพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยยังคงติดเค็ม แต่ ‘น้ำปลา’ อาจไม่ได้เป็นผู้ร้ายหลักของเรื่องนี้ เนื่องจากอาหารประเภทอื่นก็ยังมีส่วนผสมของโซเดียมอยู่ด้วยเช่นกัน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า โซเดียมที่เกินจากมาตรฐาน นอกจากน้ำปลาแล้ว ก็อาจจะมาจากเครื่องปรุงรสชนิดอื่น หรืออาหารแปรรูปได้อีกด้วย

 

โดยในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีโซเดียมอยู่ในปริมาณสูง อาทิ เกลือ ซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับโซเดียมโดยตรง มีปริมาณโซเดียมอยู่ที่ 6,000 มิลลิกรัม/ช้อนโต๊ะ, ซีอิ๊วขาว มีปริมาณโซเดียมอยู่ที่ 960-1,420 มิลลิกรัม/ช้อนโต๊ะ, ซอสปรุงรส มีปริมาณโซเดียมอยู่ที่ 1,150 มิลลิกรัม/ช้อนโต๊ะ, กะปิ มีปริมาณโซเดียมอยู่ที่ 1,430-1,490 มิลลิกรัม/ช้อนโต๊ะ และซอสหอยนางรม มีปริมาณโซเดียมอยู่ที่ 420-490 มิลลิกรัม/ช้อนโต๊ะ

 

ดังนั้น ในการรับประทานอาหาร นอกจากจะต้องคำนึงถึงสารอาหารที่จะได้รับแล้ว ยังต้องคำนึงถึงปริมาณโซเดียมที่ได้รับด้วย ซึ่งข้อมูลจากกรมอนามัยระบุว่าการได้รับโซเดียมในปริมาณที่มากเกินไป นอกจากจะทำให้เกิดอาการกระหายน้ำแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง และโรคไตได้

 

ที่มา : สสส., กรมอนามัย, datawarehouse

 

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

 

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

.

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #คนไทยติดเค็ม #กินเค็ม #งดกินเค็ม #น้ำปลา #ผู้ผลิตน้ำปลา #ทิพรส #ปลาหมึก #Megachef