เปิดข้อมูลเงินฝาก-เงินกู้ จังหวัดไหนครองแชมป์ปี 2566

ด้วยภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ถูกรบกวนจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ส่งผลให้ผู้คนมีวิถีชีวิตที่ยากลำบากมากยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากราคาสิ่งของที่เพิ่มมากขึ้น ไม่เว้นแม้กระทั่งราคาอาหาร ซึ่งมักจะได้ยินเสียงบ่นจากผู้คนอยู่เสมอในแง่ของราคาที่มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมเป็นอย่างมาก โดยหนึ่งในสิ่งที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนที่สุดคือราคา ‘ข้าวแกง’ ที่จากเดิมหากมีเงิน 100 บาท อาจจะซื้อกับข้าวได้ 2-3 ถุง แต่ในปัจจุบัน หรือก็คือในปี 2566 ด้วยราคากับข้าวที่ปรับเพิ่มขึ้นสูง เงินในจำนวนเดียวกันนี้ อาจจะซื้อกับข้าวได้เพียง 1 ถุง เท่านั้น ซึ่งนี่เป็นเพียงแค่สิ่งเดียวเท่านั้นที่หยิบยกมา แต่ในความเป็นจริงยังมีสินค้าอีกมากมายที่ผู้คนต้องใช้เงินในจำนวนที่มากขึ้นในการแลกมา ทำให้กระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย

ดังนั้น แน่นอนว่าเมื่อมีรายจ่ายในชีวิตประจำวันเพิ่มสูงขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อ ‘เงินเก็บ’ ที่ไม่ว่าใครก็อยากจะมีไว้ใช้ในยามจำเป็นหรือยามเกษียณ แต่เมื่อรายจ่ายกระทบต่อรายได้ แน่นอนว่าเงินในส่วนที่จะนำไปเก็บสะสมไว้ก็ย่อมน้อยลงไปด้วย ซึ่งจากข้อมูลของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยรายงานข้อมูลสถิติเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2566 พบว่าจำนวนผู้ฝากที่ได้รับการคุ้มครองมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 93.46 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 3.05 ล้านราย คิดเป็นการเติบโต 3.37% ขณะที่เงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองอยู่ที่ 15.96 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2565 จำนวน 212,688 ล้านบาท หรือลดลง 1.32% ซึ่งนับเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 10 ปี สืบเนื่องมาจากปัจจัยด้านสภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ประกอบกับผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับนักลงทุนที่แสวงหาผลตอบแทนสูง โดยคาดว่าในปีนี้จะมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับภาพรวมสินเชื่อที่ยังเติบโตในกรอบต่ำ

อย่างไรก็ดี ในจำนวน 93.46 ล้านราย เป็นผู้ที่มีเงินฝากในบัญชีน้อยกว่า 50,000 บาท/คน/ราย/ธนาคาร มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากถึง 81 ล้านราย โดยเกินกว่า 80% ของจำนวนผู้มีเงินฝากทั้งหมด ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่มีเงินในบัญชีเฉลี่ยไม่ถึง 5,000 บาทต่อราย เนื่องจากการออมมีไม่เยอะ ค่าครองชีพสูงขึ้น รายจ่ายที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งพฤติกรรมการใช้เงินที่เปลี่ยนไป อาทิ การซื้อก่อนจ่ายทีหลัง ซึ่งถือเป็นการก่อหนี้ที่จะนำไปสู่กำลังซื้อ หรือความสามารถในการใช้จ่ายในอนาคตลดน้อยลง

ส่วนผู้ที่มีเงินฝากมากกว่า 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท มีการปรับตัวลงทั้งจำนวนเงินฝากและจำนวนผู้ฝากตลอดช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบกับผู้ฝากที่มีเงินฝากไม่มากนัก จึงต้องนำเงินออมมาใช้จ่าย จนอาจทำให้สุขภาวะที่ดีทางการเงินอ่อนแอลงได้

สำหรับจังหวัดที่มีเงินฝากสูงสุด 10 อันดับแรก (ข้อมูล ณ สิงหาคม 2566) ได้แก่
1. กรุงเทพมหานคร จำนวน 10,452,078 ล้านบาท
2. นนทบุรี จำนวน 624,391 ล้านบาท
3. สมุทรปราการ จำนวน 560,399 ล้านบาท
4. ชลบุรี จำนวน 554,478 ล้านบาท
5. ปทุมธานี จำนวน 334,499 ล้านบาท
6. เชียงใหม่ จำนวน 297,453 ล้านบาท
7. นครปฐม จำนวน 226,360 ล้านบาท
8. สมุทรสาคร จำนวน 198,283 ล้านบาท
9. สงขลา จำนวน 192,693 ล้านบาท
10. ระยอง จำนวน 192,353 ล้านบาท

ขณะที่จังหวัดที่มีเงินกู้สูงสุด 10 อันดับแรก (ข้อมูล ณ สิงหาคม 2566) ได้แก่
1. กรุงเทพมหานคร จำนวน 13,320,551 ล้านบาท
2. ชลบุรี จำนวน 460,413 ล้านบาท
3. สมุทรปราการ จำนวน 319,265 ล้านบาท
4. นนทบุรี จำนวน 272,312 ล้านบาท
5. เชียงใหม่ จำนวน 215,658 ล้านบาท
6. ปทุมธานี จำนวน 202,315 ล้านบาท
7. ภูเก็ต จำนวน 187,146 ล้านบาท
8. นครราชสีมา จำนวน 180,339 ล้านบาท
9. ระยอง จำนวน 170,793 ล้านบาท
10. ขอนแก่น จำนวน 156,268 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ประเมินว่า แม้ในปี 2566 ในส่วนของตัวเลขเงินฝากจะติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี แต่มองว่าเป็นภาวะหดตัวเพียงชั่วคราวเท่านั้น โดยคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ในปี 2567

ที่มา : thairath

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #เงินออม #เงินฝาก #เงินฝากคนไทย #เงินฝากคนไทยปี2566 #คนไทยมีเงินฝากน้อยลง #เศรษฐกิจ