FED อาจใช้นโยบายการเงินตึงตัวอีกครั้ง หลัง Nonfarms พุ่ง-การว่างงานลดลง คนไทยเตรียมเจอดอกเบี้ยขาขึ้น!!

หลังจากที่สหรัฐได้รายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Nonfarms Payrolls) ออกมาดีกว่าคาดการณ์ รวมถึงอัตราการว่างงานที่ลดน้อยลง ได้ทำให้เกิดความกังวลว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะใช้นโยบายทางการเงินที่เข้มงวดอีกครั้ง และมีการประเมินว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหม่นี้จะส่งผลกระทบต่อมายังตลาดเงิน และตลาดทุนประเทศไทยอย่างรวดเร็ว

สาเหตุที่เป็นแบบนั้น ‘Business+’ มองว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ (ดัชนีที่ใช้วัดค่าการเปลี่ยนแปลงในจำนวนของผู้ที่มีงานทำจากเดือนก่อนหน้า โดยไม่รวมอุตสาหกรรมภาคการเกษตร) ได้ปรับตัวขึ้นไปแตะ 517,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการขึ้นไปทำจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2565 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เอาไว้ว่าจะอยู่ที่ 185,000 ตำแหน่ง (ห่างกันมากถึง 332,000 ตำแหน่ง)

ซึ่งเมื่อเจาะเข้าไปดูข้อมูลในระดับ Sector จะเห็นว่า กลุ่มที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างมากมีทั้งหมด 4 กลุ่ม คือ Private Service Providing (การให้บริการส่วนตัว) , Retail Trade (การค้าปลีก) , Private education and health service (การศึกษา และบริการด้านสุขภาพ) , Leisure and Hospitality (การต้อนรับ และบริการ)

โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่สูงขึ้นนี้บ่งบอกได้ว่า สหรัฐมีการสร้างงานสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น (ซึ่งถือเป็นส่วนที่มากที่สุดของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ)

นอกจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรแล้ว ยังมีอีกหนึ่งตัวแปลที่จะหนุนเงินเฟ้อ นั่นคือ อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในทิศทางที่ค่อนข้างดี โดยช่วงที่ผ่านมาอัตราการว่างงานปรับลดลงสู่ 3.4% (ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2512) และยังเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เอาไว้ที่ 3.6%

ซึ่งจากข้อมูลสถิติแล้ว เราจะเห็นว่า ในบางช่วงที่อัตราการว่างงานต่ำจะเป็นปัจจัยหนุนให้เงินเฟ้ออยู่ระดับสูง เพราะอุปสงค์แรงงานยังแข็งแกร่งเท่ากับกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเพิ่มสูงขึ้น

และผลกระทบต่อมาคือ เมื่อมีการใช้จ่ายในระบบมากขึ้น ก็จะทำให้อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง (ไม่ลงเหมือนที่คาดการณ์เอาไว้) ดังนั้น จึงคาดการณ์ว่าทาง FED จะกลับมาใช้นโยบายการเงินตึงตัวอีกครั้ง โดยประเด็นนี้ต้องติดตามกันในช่วงวันที่ 8-9 ก.พ.2566 ซึ่ง FED จะออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับดอกเบี้ยและเงินเฟ้ออีกครั้ง หลังจากท้ายปี 2565 ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ทำให้ดอกเบี้ยขึ้นมาอยู่ที่ 4.25-4.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี

ซึ่งผลกระทบกับประเทศไทยก็คือ หาก FED ขึ้นดอกเบี้ย ก็จะทำให้ไทยเราต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นตามเช่นเดียวกัน เพราะถ้าหากไทยไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นก็จะทำให้ช่องว่างของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐฯ สูงขึ้น และเป็นตัวกดดันเม็ดเงินลงทุนให้ไหลออกจากประเทศไทย ไปหาผลตอบแทนที่สูงกว่านั่นเอง

ที่มา : บล.พาย , IQ , Investing

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

Businessplus #Business #นิตยสารBusinessplus #FED #ดอกเบี้ย #อัตราดอกเบี้ยนโยบาย