ก่อนจะเริ่มทำธุรกิจ การวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ให้รอบด้านถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ซึ่งในบทความนี้ Business Plus จะมาเขียนถึง Feasibility Study ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจอย่างรอบด้าน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการ
Feasibility Study หรือ การศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจ เป็นกระบวนการวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ที่จะมีผลต่อความสำเร็จของธุรกิจ โดยมีข้อดีคือช่วยให้เราสามารถระบุปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นได้ล่วงหน้าก่อนการเริ่มทำธุรกิจจริง ซึ่งถ้าหากได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้แล้วพบว่า ธุรกิจมีแนวโน้มไปไม่รอด เราก็จะสามารถแก้ไขแผนงานได้ตั้งแต่บนกระดาษ ดีกว่าลงมือทำแล้วประสบปัญหาจนต้องยุติกิจการ
Feasibility Study มี 5 ปัจจัยหลักที่ต้องวิเคราะห์ ได้แก่
- Market Feasibility
- Production Feasibility
- Law & Regulation Feasibility
- Business Model Feasibility
- Financial Feasibility
อธิบายเป็นข้อ ๆ คือ
- Market Feasibility หรือ ความเป็นไปได้ทางการตลาด
ข้อนี้เราจะต้องวิเคราะห์ว่า สินค้าหรือบริการของเรามีความต้องการในตลาดหรือไม่ โดยเราควรสำรวจว่าธุรกิจเรามีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นใครและกำลังซื้อเท่าไร รวมไปถึงการศึกษาถึงสภาพการแข่งขันในตลาดว่า มีคู่แข่งมากน้อยแค่ไหนและเป็นใครบ้าง โดยเราสามารถสำรวจตลาดผ่านช่องทางออฟไลน์ เช่น การทำแบบสอบถาม หรือช่องทางออนไลน์ เช่น Google Trends ก็ได้
- Production Feasibility หรือ ความเป็นไปได้ในการผลิต
สำหรับข้อนี้ เราต้องตอบคำถามว่า สินค้าของเราสามารถผลิตได้จริงใช่หรือไม่ โดยเราต้องวิเคราะห์กระบวนการและปัจจัยที่ใช้ในการผลิต ได้แก่ เงินทุน แรงงาน และความเทคโนโลยี เป็นต้น ซึ่งถ้าหากวิเคราะห์ออกมาแล้ว กระบวนการผลิตยุ่งยากหรือใช้เงินทุนมากเกินความจำเป็น เราก็อาจต้องพิจารณาแนวทางการผลิตใหม่หรือหันไปใช้วัตถุดิบจากแหล่งอื่นที่ราคาถูกกว่า
- Law & Regulation Feasibility หรือ ความเป็นไปได้ทางกฎหมาย
ก่อนจะทำธุรกิจอะไรก็ตาม เราควรศึกษาถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาทีหลัง ดังนั้นเราควรตรวจสอบว่ากระบวนการการทำหรือประเภทธุรกิจของเราเป็นไปตามข้อกฎหมายหรือไม่ โดยหลาย ๆ ธุรกิจจะต้องมีใบอนุญาต ที่ออกโดยภาครัฐ ในการทำธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อ หรือร้านอาหารที่ต้องการค้าขายสุราเองก็ต้องมีใบอนุญาตในการขายด้วยเป็นต้น โดยเราควรปรึกษาบริษัทที่ให้บริการด้านกฎหมายหรือควรหาข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
- Business Model Feasibility หรือ ความเป็นไปได้ในด้านโมเดลธุรกิจ
การเข้าใจโมเดลธุรกิจที่กำลังจะทำเป็นสิ่งสำคัญมาก ดังนั้นเราควรวิเคราะห์ว่าโมเดลธุรกิจของเราสามารถทำกำไรได้อย่างเหมาะสมยั่งยืนและสามารถต่อยอดเพิ่มโอกาสในการทำกำไรในอนาคตได้หรือไม่ โดยโมเดลธุรกิจแต่ละแบบจะมีโครงสร้างต้นทุนและรายได้ที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ร้านสุกี้เอ็มเคและสุกี้ตี๋น้อย แม้จะขายสุกี้เหมือนกัน แต่ก็มีโมเดลธุรกิจที่ต่างกันคือ สุกี้เอ็มเคขายแบบเป็นจานเดี่ยว ขณะที่สุกี้ตี๋น้อยเป็นบุฟเฟต์
- Financial Feasibility หรือ ความเป็นไปได้ในด้านการเงิน
ข้อสุดท้าย เราต้องประเมินว่าธุรกิจที่เราจะทำสามารถทำกำไรได้จริงหรือไม่ โดยวิเคราะห์ปัจจัยทางการเงิน เช่น โครงสร้างต้นทุน คาดการณ์รายได้ และระยะเวลาคืนทุน เป็นต้น ซึ่งหากคำนวณแล้วพบว่าธุรกิจมีโอกาสขาดทุนสูง ก็อาจต้องพิจารณาแนวทางอื่น หรือปรับแผนการดำเนินงาน
สรุปแล้ว Feasibility Study ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เรามองเห็นภาพรวมของธุรกิจ และลดความเสี่ยงในการลงทุน แต่นอกเหนือจาก Feasibility Study ผู้ประกอบการก็ควรศึกษาปัจจัยอื่น ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของธุรกิจเพิ่มเติมด้วย ถ้าเราสามารถวางแผนการทำธุรกิจได้ดีและรัดกุม เราก็อาจจะสามารถหลีกเลี่ยงการสูญเสียครั้งใหญ่ในอนาคต
ที่มา: NEO ACADEMY
ผู้เขียนและเรียบเรียง: พรบวร จิรภัทร์วงศ์
#BusinessPlus
#ธุรกิจ
#FeasibilityStudy
ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus
Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS