การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) มีความสำคัญเป็นอย่างมากกับการเติบโตของประเทศกำลังพัฒนา เพราะการเข้ามาตั้งฐานการผลิตของกลุ่มบริษัทต่างชาติทำให้เกิดการจ้างงาน และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมได้ตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ แต่ข้อมูลย้อนหลังทำให้เห็นว่าตอนนี้ไทยกำลังหมดเสน่ห์สำหรับการเข้ามาลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
ย้อนกลับไปในช่วงปี 2538-2547 ไทยมีเงินลงทุน FDI สูงเป็นสัดส่วนถึง 35.3% ของ FDI ที่เข้า ASEAN (ไม่รวมสิงคโปร์)
แต่ภายหลังจากปี 2548 เป็นต้นไปเม็ดเงิน FDI ของไทย เพิ่มขึ้นช้าลงเมื่อเทียบกับประเทศใน ASEAN ด้วยกัน เหลือเม็ดเงิน FDI เพียง 20.6% ในช่วงปี 2548-2557 และลดลงมาเหลือ 10.4% ในช่วงปี 2558-2566
และถ้าเจาะเพียงปี 2566 เพียงปีเดียว จะพบว่า สัดส่วน FDI ไทยเหลือเพียง 4.6% ของอาเซียน เท่ากับว่าปัจจุบันนี้ไทยแทบมีไม่สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้ เห็นได้จากข่าวการย้ายฐานผลิตของบริษัทยักษ์ใหญ่มากมายในช่วงที่ผ่านมา
โดยทาง ttb analytics ได้วิเคราะห์ว่าเกิดจาก 2 สาเหตุหลักๆ นั่นคือ
- ต้นทุนสูง : โดยประเด็นของแรงงานถือว่าเป็นเหตุผลสำคัญสำหรับการเลือกแหล่งลงทุนเพื่อก่อตั้งกิจการ โดยต้นทุนค่าแรงจะถูกกำหนดจากนโยบายของภาครัฐผ่านอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งที่ผ่านมา ไทยมีการขยับค่าแรงขั้นต่ำหลายรอบด้วยกัน อย่างในปี 2556 ที่ขยับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนในปัจจุบันอยู่ที่ 330-370 บาท/วัน (อนาคตอาจเป็น 400 บาททั่วประเทศ) ซึ่งถือว่าสูงกว่าหลายประเทศในอาเซียน เช่น เวียดนาม ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 173-250 บาท/วัน หรือฟิลิปปินส์มีค่าแรงขั้นต่ำราว 229 บาท/วัน และแน่นอนว่า ค่าแรงที่สูงกว่าจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรม โดยเฉพาะที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก (Labor Intensive)
- การสร้างรายได้ ซึ่งรายได้ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการลงทุน การที่จะเลือกพื้นที่ตั้งกิจการจึงต้องตอบโจทย์ความสามารถในการสร้างรายได้ทั้งจากตลาดในประเทศและจากการส่งออก ซึ่งพบว่าไทยมีข้อเสียเปรียบประเทศคู่แข่งใน ASEAN เช่น กำลังซื้อของคนในประเทศที่เพิ่มขึ้นปีละไม่มาก โดยพบว่า GDP Per Capita หรือรายได้ต่อหัวประชากรของไทยในรอบ 10 ปี (2556-2566) เพิ่มขึ้นเพียง 15.3% ขณะที่ เวียดนาม เพิ่มขึ้น 64% อินโดนีเซีย เพิ่ม 37.6% และมาเลเซียเพิ่ม 30.2%
นอกจากนี้ ไทยมีข้อเสียเปรียบค่อนข้างชัดเจนเมื่อเทียบกับเวียดนามที่มีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับเขตเศรษฐกิจยุโรป (EU) ที่มีโอกาสในการเปิดพื้นที่การค้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่าไทยถึงกว่า 27 ประเทศ
ข้อมูลทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่าในอดีตไทยนับเป็นแหล่งเป้าหมายสำคัญของเม็ดเงิน FDI ที่เข้ามาขยายการลงทุนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) จึงทำให้ไทยฟื้นตัวภายหลังเกิดเหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจอย่าง ต้มยำกุ้งได้สูงถึง 4.6% ต่อปี (CAGR 2541-2553)
แต่พอ FDI ของไทยหดตัวลง จึงทำให้ส่งผลให้ช่วงปี 2558-2566ไทยมีแรงส่งในการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่สูงนักเพียง 1.8% ต่อปี (CAGR 2555-2566) โดยถ้านับจากหลังวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ จากการขาดแรงส่งของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามาพร้อมกับเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ
ที่มา : ttb analytics
เรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus
Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #เศรษฐกิจไทย #GDP #FDI