Fast Forward ‘กรมพัฒนาธุรกิจการค้า’ ขับเคลื่อน-พัฒนา SMEs ก้าวไกลทันยุค Next Normal

ในวิกฤต COVID-19 ที่ผ่านมา เจ้าของกิจการต่างๆ ได้เรียนรู้และปรับตัวพอสมควร ทำให้มั่นใจว่า ยังมีความหวังต่อการดำเนินกิจการในอนาคต โดยคุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ฉายภาพให้เห็นว่า ผู้ประกอบการ SMEs และเจ้าของกิจการในเมืองไทย ได้ผ่านบททดสอบหินไปแล้ว

เห็นได้จากภาพรวมการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค. – ต.ค.) มีจำนวนจัดตั้งบริษัทใหม่ ลดลงเพียง 12% คิดเป็นจำนวน 55,574 ราย รวมมูลค่าทุนจดทะเบียนรวม 192,129 ล้านบาท

บทบาทที่ท้าทาย

ทันทีที่รับตำแหน่งใหม่  ‘คุณทศพล ทังสุบุตร’ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้เร่งเรียนรู้ระบบงานภายในองค์กร เพื่อวางแผนสร้างการเติบโตแก่องค์กร และกำหนดแผนการทำงานเชิงรุกในปี 2021 โดยกำหนดภารกิจสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการในปี 2021 ให้สอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) และผู้ประกอบการท้องถิ่น

ทั้งร้านโชวห่วยซึ่งเป็นร้านค้าที่มีความใกล้ชิดกับชุมชน ผู้ประกอบการสินค้าชุมชน OTOP สินค้าเกษตร และผู้ประกอบการธุรกิจบริการ และธุรกิจแฟรนไชส์ ให้มีช่องทางการตลาดและมีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์

โดยหลังมาตรการคลายล็อกดาวน์จาก COVID-19 ดีขึ้น พบว่า ตัวเลขการจดทะเบียนดีขึ้น รวมถึงการยื่นขอจดทะเบียนใหม่ในกลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับการจัดทำ Web Portal การผลิตสิ่งของเครื่องใช้ด้านสุขอนามัย หรือเภสัชกรรมที่ทำจากยาง (ถุงมือยางทางการแพทย์) และการขายปลีกผ่านคำสั่งซื้อทางไปรษณีย์หรือทางอินเทอร์เน็ต มีอัตราเติบโตสูงขึ้นอย่างมาก

และเพื่อพัฒนาให้ผู้ประกอบการมีความเข้มแข็ง มีศักยภาพด้านการตลาดมากขึ้น บวกกับบทบาทของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ต้องเร่งสร้างกลไกการเชื่อมต่อการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการให้รองรับกับการค้ายุคใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างสังคมผู้ประกอบการ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ SMEs สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก เพื่อการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการชุมชนอย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกันการบริหารงานภายในกรมฯ จะมีการดำเนินงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์กระทรวงพาณิชย์ โดยจะสร้างบรรยากาศการทำงานแบบทีมเวิร์ค บูรณาการการทำงานเข้าด้วยกัน เกื้อกูลสนับสนุนกัน ผสานให้เป็นหนึ่งเดียว ทั้งภายนอกและภายในองค์กร ข้าราชการและบุคลากรของกรมฯ ทุกคนทุกระดับ จะทำงานด้วยความโปร่งใส และต้องมีการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จขององค์กรร่วมกัน”

ภายใต้โจทย์การยกระดับผู้ประกอบการ SMEs และเจ้าของกิจการในเมืองไทย ให้กลับมาแข็งแกร่ง อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ‘คุณทศพล ทังสุบุตร’ พร้อมนำความรู้และประสบการณ์ทำงาน สนับสนุนการทำงานในส่วนของเจ้าหน้าที่กรมฯ เต็มที่ เห็นได้จากภารกิจหลักในการให้บริการภาคธุรกิจและส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการ ทั้งการให้บริการจดทะเบียนนิติบุคคล บริการข้อมูลธุรกิจได้เตรียมบริการด้วยเทคโนโลยี AI มาใช้ในการจองชื่อนิติบุคคล ทำให้สามารถรู้ผลได้ภายใน 2 นาที

นอกจากนี้ได้พัฒนาระบบการออกหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เพื่ออำนวยความสะดวกนักลงทุนต่างชาติ และผลักดันให้ภาคธุรกิจใช้ระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) มากขึ้น โดยจะเสนอลดอัตราค่าธรรมเนียมเพิ่มเป็น 50% ซึ่งกำลังเตรียมออกกฎกระทรวงรองรับอยู่

การเพิ่มช่องทางให้ผู้แทนรับจดทะเบียน เช่น ทนายความ ฯลฯ สามารถดำเนินการแทนกรรมการนิติบุคคลได้ จะทำให้มีผู้ใช้บริการผ่านระบบเพิ่มขึ้น รวมทั้งจะเพิ่มประสิทธิภาพของฐานข้อมูลของกรมฯ ให้เป็น Big Data เพื่อให้ผู้ประกอบการใช้เป็นข้อมูลในการประกอบธุรกิจ รวมถึงการตัดสินใจลงทุนด้วย

อีกด้านหนึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และลดต้นทุนสินค้าแก่ร้านค้าโชวห่วย ผ่านเครือข่ายพันธมิตรและใช้เทคโนโลยี โดยการให้คำแนะนำเชิงลึกเกี่ยวกับการนำระบบเทคโนโลยี (POS) มาใช้ในการบริหารจัดการร้านค้า และผลักดันให้เกิดการใช้ระบบ POS จริงภายในร้าน โดยมีเป้าหมายติดตามผลการดำเนินการอย่างน้อย 500 ราย ทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการร้านค้า อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการได้ในระยะยาว

นอกจากนี้มีเป้าหมายกระตุ้นให้เกิดการซื้อ-ขายสินค้าภายในร้านค้าโชวห่วยที่อยู่ในเครือข่ายสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) เพื่อพัฒนาร้านโชวห่วยให้เป็น สมาร์ท โชวห่วย จำนวน 10,000 ราย ภายในปี 2564 ซึ่งจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเงินในชุมชนและเสริมความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจท้องถิ่นได้

“สิ่งที่เราห่วงตอนนี้คือ Cash Flow ของบริษัทเล็ก ๆ ที่จะไปไม่รอด โดยรัฐบาลมีนโยบายในการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งทุนอยู่แล้ว ซึ่งกรมฯ มีนโยบายเข้าไป จัดมาตรการเสริม โดยคิดว่าการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการทำงาน การคิดขายของใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้าที่มีนวัตกรรมเท่านั้น แต่อาจเป็นสินค้าที่ทีอัตลักษณ์เฉพาะของชุมชน ก็จะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะทำให้ธุรกิจสามารถไปต่อได้ อีกทั้งพยายามซัพพอร์ตข้อมูลให้กับผู้ประกอบการให้ทันสมัยขึ้น จะทำให้ผู้ประกอบการได้รับข้อมูลที่รวดเร็ว ใช้งานได้เร็ว รวมถึงทำการประชาสัมพันธ์ ทำคลิปวิดีโอในการเผยแพร่ว่าผู้ประกอบการจะสามารถเข้าถึงระบบข้อมูลของกรมฯ ได้อย่างไรบ้าง”

การสนับสนุนให้ขายสินค้าใหม่ที่มีทรัพย์สินทางปัญญา หาวิธีทำธุรกิจใหม่ ขาย Offline – Online สร้างเครือข่ายโลจิสติกส์ หรือการประสานกับผู้ประกอบการโลจิสติกส์อื่นเพื่อดำเนินการอุดหนุนค่าส่งสินค้าให้กับธุรกิจที่เราไปส่งเสริมเพื่อทำ e-Commerce ใหม่ ๆ ซึ่งก็จะต้องมีการพูดคุยเงื่อนไขที่จะได้สิทธิประโยชน์เหล่านี้ เพื่อให้แน่ใจว่ามาตรการเหล่านี้จะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการได้อย่างยั่งยืน

การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการให้คำปรึกษาแนะนำ และพัฒนาธุรกิจค้าส่งค้าปลีกให้สามารถปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการ มุ่งเน้นลูกค้า ตลาด การบริหารจัดการสินค้าคงคลัง รวมถึงการใช้เทคโนโลยี การบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศมาช่วยเสริมความเข้มแข็งให้ธุรกิจ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

สำหรับหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อน-พัฒนา SMEs ให้ก้าวทันยุค Next Normal นอกจากแนวคิดการบริการที่ต้องมีความแตกต่าง การได้เปรียบด้านการแข่งขันในอนาคต กรมฯ จำเป็นต้องดำเนินการตาม Roadmap 3 ด้านประกอบด้วย

  1. ดูแลผู้ประกอบการ SMEs และเจ้าของกิจการในเมืองไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการสินค้าชุมชน โอทอป และสินค้าเกษตร ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้และส่งเสริมให้เข้าสู่ช่องทางการตลาดที่ยั่งยืน โดยเพิ่มช่องทางการตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ในรูปแบบ Omni-Channel เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจบริการ อาทิ ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น
  2. การสร้างบรรยากาศที่ดีในการดำเนินธุรกิจของไทย โดยการสร้างธุรกิจให้มีธรรมาภิบาลธุรกิจ (Business Governance) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้คู่ค้า โดยจะเน้นทั้งการกำกับดูแลให้ภาคธุรกิจปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง รวมถึงส่งเสริมให้ธุรกิจนำหลักธรรมาภิบาลไปใช้ในการประกอบธุรกิจ โดยยกระดับธุรกิจให้มีธรรมาภิบาลตามเกณฑ์มาตรฐานที่กรมฯ ได้จัดทำขึ้นโดยอิงเกณฑ์มาตรฐานสากล นอกจากนี้ จะใช้ระบบมาตรฐานบัญชีเข้ามาช่วยในการสร้างธรรมาภิบาลแก่ภาคธุรกิจ โดยให้สามารถจัดทำบัญชีผ่านทางแอพพลิเคชั่นหรือทางออนไลน์ และสามารถนำส่งงบการเงินประจำปีได้โดยอัตโนมัติ
  3. เดินหน้าพัฒนางานบริการด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ เช่น การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจองชื่อนิติบุคคล การพัฒนาระบบการออกหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (e-Foreign Certificate) กระทั่งผลักดันการใช้ระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นประเทศที่ง่ายต่อการประกอบธุรกิจและน่าลงทุนมากขึ้น

คุณทศพล เพิ่มเติมว่า “ผมตั้งเป้าส่งเสริมให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่ง่ายต่อการประกอบธุรกิจและน่าลงทุนมากยิ่งขึ้น โดยต้องบูรณาการงานบริการทั้งหมดในกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีการเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งผู้ประกอบการ ซิสเต็มส์ของระบบการทำงาน และช่องทางการขายสินค้า

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นหน่วยงานหนึ่งในกระทรวงพาณิชย์ ที่มีบทบาทในการพัฒนาการค้าและสร้างรากฐานที่มั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ มีภารกิจหลักในการให้บริการภาคธุรกิจและส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการสินค้าชุมชน รวมถึงส่งเสริมและกำกับดูแลธุรกิจให้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือแก่ธุรกิจไทยในยุคดิจิทัล”

ก้าวสู่ e-Government ด้วยดิจิทัลเต็มรูปแบบ

คุณทศพล กล่าวว่า การจะตอบโจทย์นโยบาย e-Government ของรัฐบาลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ ยกระดับเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้นำระบบการจดทะเบียนที่สามารถยื่นผ่านออนไลน์เข้ามาเป็นช่องทางเพิ่มเติมนอกเหนือจากระบบการรับบริการที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พาณิชย์จังหวัดแต่ละจังหวัด โดยผลักดันให้มีการใช้ระบบจดทะเบียนทางอิเล็กทรอนิกส์ e-Registration หรือ การจดทะเบียนทางอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น

ด้วยการปรับปรุงระบบให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น ควบคู่กับการลดค่าธรรมเนียมเพื่อจูงใจผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการจัดตั้งบริษัทผ่านระบบ e-Registration จนเต็ม 100% ในที่สุด

สำหรับการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ได้จัดทำระบบเพื่อให้สามารถยื่นเอกสารได้ ณ จุดเดียวคือ ที่ BOI (Board of Investment) และสามารถรับ e-Certificate ใบอนุญาตตาม ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาตรา 12 เพื่ออำนวยความสะดวกนักลงทุนชาวต่างชาติที่ยื่นขอรับบัตรส่งเสริมลงทุนจาก BOI ให้สามารถรับหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ภายในครึ่งวัน เพื่ออำนวยความสะดวกและทำให้การเริ่มต้นธุรกิจเป็นไปอย่างง่ายดาย

Landscape เปลี่ยนมุมมองใหม่

โลกธุรกิจหลัง COVID-19 ผู้ประกอบประกอบการที่มีความพร้อมเท่านั้นถึงจะอยู่รอด แผนการดำเนินงานของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า คือส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs วิสาหกิจชุมชน OTOP ซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ กรมฯ ได้มีแผนการส่งเสริมพัฒนาการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการ ดังนี้

เพิ่มศักยภาพธุรกิจ ยกระดับการบริหารจัดการธุรกิจอย่างมืออาชีพ โดยเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านบริหารจัดการ ได้แก่

  • สร้างนักธุรกิจสู่ความเป็นมืออาชีพ โดยการบ่มเพาะให้คำปรึกษาเชิงลึก แบบ Group Coaching และ One On One Coaching ยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการธุรกิจใน 5 ด้าน ได้แก่ การตลาด การเงิน การบริหารธุรกิจ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ และนวัตกรรม ใช้ประโยชน์จากความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ เพื่อก้าวสู่การเป็นนักธุรกิจมืออาชีพและนักการตลาดเชิงสร้างสรรค์
  • เสริมสร้างองค์ความรู้ด้านบริหารจัดการธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ (e-Learning) ทางเว็บไซต์ dbdacademy.dbd.go.th จานวน 6 หลักสูตร เช่น การบริหารจัดการธุรกิจและการตลาด การเงินและบัญชี e-commerce เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจและผู้สนใจทั่วไปสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่จำกัด ทั้งเวลาและสถานที่
  • สัมมนาเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร ‘Smart Service บริการวิถีใหม่ สู่ตลาดออนไลน์’ ยกระดับการบริหารจัดการธุรกิจให้สามารถใช้เครื่องมือทางการตลาดออนไลน์ (Digital Tool) มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนขยายช่องทางการตลาด เริ่มนำร่อง 5 จังหวัดแหล่งท่องเที่ยว ได้แก่ พิษณุโลก นครศรีธรรมราช อุบลราชธานี จันทบุรี และนนทบุรี

สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป กรมฯ ดำเนินการฝึกอบรมและจัดกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจ อาทิ สนับสนุนกลุ่มธุรกิจ Food Truck เพื่อยกระดับจากแผงลอยสู่ร้านอาหารเคลื่อนที่ มุ่งเจาะตลาดผู้บริโภคทุกกลุ่ม พร้อมทั้งผลักดันธุรกิจ Food Truck ให้เป็นหลักประกันทางธุรกิจประเภทกิจการ เพื่อช่วยให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ กรมฯ ได้นำความรู้และทักษะด้านดิจิทัลมาเสริมสร้างองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาด้านการตลาดออนไลน์ในรูปแบบ Smart service เป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ รวมถึงได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับ ‘Google ประเทศไทย’ ในโครงการ ‘Saphan Digital’ เพื่อช่วยเหลือและแบ่งปันความรู้ โดยได้จัดการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ฟรี

รวมทั้งได้ร่วมมือกับ ‘Shopee’ ตลาดกลางออนไลน์ระดับโลก จัดหลักสูตรการเรียนรู้ทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) ภายใต้ชื่อ ‘Shopee Bootcamp for MOC’ เพื่อเจ้าหน้าที่พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ โดยเจ้าหน้าที่พาณิชย์จังหวัดเหล่านี้จะกลายเป็นพี่เลี้ยงด้านการทำตลาดออนไลน์ให้กับธุรกิจในแต่ละจังหวัด พร้อมกับผลักดันผู้ประกอบการในพื้นที่ให้สามารถเปิดร้านค้าออนไลน์ได้ทันที โดยจะมีเจ้าหน้าที่จาก Shopee เป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาแก่เจ้าหน้าที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการช่วยผู้ประกอบการในการเพิ่มช่องทางทำกินให้เหมาะกับการแข่งขันในอนาคตด้วย

เคียงข้างผู้ประกอบการ ให้ก้าวไกลทันยุค Next Normal

คุณทศพล บอกว่า แผนงานการดำเนินการในอนาคต เป็นการดำเนินงานที่ต่อเนื่องและการพัฒนาต่อยอดจากที่ผ่านมา ทั้งพัฒนางานบริการจดทะเบียนธุรกิจและข้อมูลธุรกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับดูแล SMEs และผู้ประกอบการสินค้าชุมชน เร่งสร้างกลไกการกระจายรายได้และมูลค่าเศรษฐกิจ

อาทิ การพัฒนา ‘Smart โชวห่วย’ อย่างต่อเนื่อง กระตุ้นการค้าออนไลน์ พัฒนาการตลาดในรูปแบบการขาย 2 ช่องทาง ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพิ่มศักยภาพธุรกิจบริการที่มีมูลค่าสูง (ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ, ธุรกิจร้านอาหาร, ธุรกิจแฟรนไชส์, ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ และสำนักงานบัญชี) ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนด้วยหลักประกันทางธุรกิจ

ตลอดจนส่งเสริมมาตรฐานด้านธรรมาภิบาลแก่ภาคธุรกิจ สร้างต้นแบบธรรมาภิบาลธุรกิจ โดยนำเทคโนโลยี AI มาใช้สนับสนุนการตรวจสอบบัญชีธุรกิจ

พร้อมทั้งมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพฐานข้อมูลกลางของกรมฯ ให้เป็น ‘Big Data’ สำหรับผู้ประกอบการและระบบการค้าของไทย รวมถึงการให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลสู่หน่วยงานภาครัฐมากยิ่งขึ้น เพื่อการบริการประชาชน และภาคธุรกิจ จนเป็นโครงข่ายที่ทรงพลังนำมาซึ่งพันธมิตรทางการค้า และสามารถสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจไทยในระยะยาว

รวมถึงการให้บริการข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจทำธุรกิจ หรือหรือข้อมูลที่จำเป็นต้องรู้เพื่อปรับตัว ซึ่งต้องทำไปควบคู่กับ Core Business คือ การจดทะเบียนจัดตั้ง และบริการข้อมูลซึ่งเป็นบริการหลัก

อีกทั้งการส่งเสริมให้ธุรกิจไทยมีธรรมาภิบาล กล่าวคือ ‘กรมพัฒนาธุรกิจการค้า’ พร้อมยกระดับให้ธุรกิจไทย มีความน่าเชื่อถือสูงสุดในสายตาของนักลงทุนไทยและต่างชาติ