FastFation

วิธีปรับตัวของแบรนด์ Fast Fashion เมื่อ Gen Z ขึ้นเป็นผู้นำเทรนด์สินค้ามือสอง

ของมือสอง (Second hand) กลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องบนตลาดอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) โดย 2 ปัจจัยที่ส่งผลให้สินค้าประเภทนี้ขายดีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คือ ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัว ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคทำให้การซื้อสินค้ามือสองอาจเป็นทางเลือกที่ประหยัดกว่า และอีกปัจจัยคือ เทรนด์รักษ์โลก ที่ทำให้คนหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และลดขยะ หรือมลพิษที่จะส่งผลเสียต่อโลกจึงเกิดพฤติกรรมการใช้ซ้ำขึ้นกับสินค้าหลายหลากหลายประเภท โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแฟชั่น ที่ถูกมองว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมมากมาย จากกระบวนการผลิตที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก ซึ่งพฤติกรรมการซื้อสินค้ามือสองนี้มีกลุ่ม GenZ ที่จะกลายเป็นลูกค้าสำคัญในอนาคตเป็นผู้นำเทรนด์ ดังนั้น จึงเป็นปัญหาใหญ่ต่อผู้ประกอบธุรกิจ Fast Fashion ที่พึ่งพาการผลิต และขายสินค้าอย่างรวดเร็ว มากกว่าที่จะเน้นความยั่งยืน

ทาง ‘Business+’ พบข้อมูลจากกรมธุรกิจการค้าว่า ยอดขายสินค้าแฟชั่นมือสองเติบโตอย่างร้อนแรงในไม่กี่ปีที่ผ่านมา และเว็บไซต์ ThredUP ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายสินค้าแฟชั่นสากลระดับสูง ยังคาดการณ์ว่าสินค้ามือสองมีแนวโน้มจะสร้างมูลค่าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซได้สูงถึง 350 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 11.55 ล้านบาท) ในปี 2570 โดยคน Gen Z เป็นผู้นำเทรนด์สินค้ามือสอง (เกิน 58% ของผู้ที่เกิดระหว่างปี 2540 ถึง 2555 จะซื้อสินค้ามือสองอย่างน้อยหนึ่งครั้งและมากกว่าคนในวัยอื่นๆ) และยังมีข้อมูลที่น่าสนใจอีกว่า 30% ของสินค้าแฟชั่นมือสอง เป็นสินค้าแฟชั่นหรูหราของแบรนด์เนมดังๆ ที่อาจจะมีราคาแพงเกินไปสำหรับวัยรุ่นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ความใส่ใจของผู้คนในโลกที่ให้กับผลิตภัณฑ์ที่ตระหนักในการรักษาสิ่งแวดล้อม ก็เป็นตัวเร่งการเติบโตของสินค้ามือสองด้วยเช่นเดียวกัน

ดังนั้น เราจึงสามารถอธิบายการเติบโตของสินค้ามือสองได้ว่า เกิดจากการที่ผู้บริโภคยังคงมีความต้องการและยึดติดกับแบรนด์ดัง แต่การซื้อสินค้ามือหนึ่งอาจจะมีราคาที่สูงเกินเอื้อม โดยเฉพาะช่วงที่ทั่วโลกประสบกับปัญหาเงินเฟ้อ ขณะที่พฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันต้องการลดมลพิษ และขยะ เพื่อช่วยเหลือสิ่งแวดล้อม นั่นทำให้ ในปี 2565 ผู้ซื้อกว่า 37% ใช้จ่ายกับสินค้ามือสองสูงกว่าสินค้ามือหนึ่ง และพฤติกรรมนี้ยังคงเกิดขึ้นต่อในปี 2566 เพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังคงผันผวน

อย่างไรก็ตามการซื้อสินค้ามือสองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้สร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเสื้อผ้า โดยเฉพาะอุตสาหกรรม Fast Fashion ที่เป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมมากมาย ทั้งมลพิษที่เกิดจากห่วงโซ่การผลิต ปัญหาของขยะสิ่งทอ และการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง จากกระบวนการผลิตเสื้อผ้าราคาถูกและคุณภาพต่ำด้วยการตัดเย็บจากผ้าใยสังเคราะห์ทางเคมี และวัสดุตกแต่งแฟชั่นที่มีสารพิษและเป็นขยะกำจัดยาก โดยอุตสาหกรรมนี้ใช้ราคาเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการซื้อตามกระแสแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงทำให้เกิดการสิ้นเปลืองทรัพยากร ตลอดจนมลพิษทางน้ำและอากาศ

ซึ่งที่ผ่านมา ‘Business+’ ได้เห็นว่าแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นเริ่มปรับตัวรับมือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปการเปิดเผยข้อมูลหรือข้อความที่แสดงความเป็นมิตรต่อสังคมและ/หรือสิ่งแวดล้อมของธุรกิจเอาใจผู้บริโภคในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพร้อมจ่ายแพงขึ้นให้กับแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคหันมาสนับสนุนสินค้าของแบรนด์ได้เพิ่มขึ้น

แต่ในช่วงที่ผ่านมาพบข้อมูลว่ามีหลายแบรนด์ที่นำกลยุทธ์ “Green washing” มาใช้เพื่อคาดหวังจะให้ธุรกิจสามารถขายของหรือสร้างกำไรบนความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยทำข้อมูล หรือรายงานด้านสิ่งแวดล้อมเกินความจริงจนถูกเรียกว่า “การฟอกเขียวธุรกิจ หรือ Green Washing” ซึ่งการฟอกเขียวธุรกิจนี้เป็นบ่อนทำลายสิ่งแวดล้อม และยังทำให้เกิดค่านิยมผิดๆ ในสังคมอีกด้วย และกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของผู้บริโภค ว่าไม่อาจจะเชื่อมั่นต่อการเปิดเผยข้อมูลได้ ดังนั้นการทำ Green washing จึงไม่สามารถช่วยให้ยอดขายเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ดังนั้น จึงเกิดการปรับตัวรอบที่ 2 คือ การเข้าร่วมค้าขายสินค้ามือสองด้วยแพลตฟอร์มของตัวเอง โดยในระยะเริ่มต้น แบรนด์ดังๆ อาจไม่ชื่นชอบและยอมรับรูปแบบการตลาดนี้ เพราะกังวลว่าการจำหน่ายสินค้ามือสองเป็นการแข่งขันที่อันตราย เสี่ยงที่จะทำลายผลกำไร และยังมองว่าอาจจะเป็นการส่งเสริมการค้าของปลอม ตลอดจนนำไปสู่การลดคุณค่าของแบรนด์สินค้าทั้งในด้านศักดิ์ศรี สถานะ และความภักดีของลูกค้า

จนกระทั่งไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อแบรนด์แฟชั่นดังๆ เห็นว่าไม่สามารถเอาชนะกระแสการตลาดมือสองนี้ได้ ก็ผันตัวเข้ามีส่วนร่วมเอง เพื่อควบคุมแนวทางตลาดด้วยตัวเอง ตอนนี้แม้แต่ศูนย์การค้าหรูหราขนาดใหญ่ เช่น Selfridges ในสหราชอาณาจักร และ La Rinascente ในอิตาลี ก็เริ่มจัดสรรพื้นที่สำหรับการขายสินค้าแฟชั่นมือสองของดีไซเนอร์แนววินเทจ (Vintage) ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ประกอบการตัดสินใจเข้าร่วม

สิ่งที่น่าสนใจ คือ แบรนด์ Fast Fashion บางแบรนด์สามารถครองตำแหน่งสูงสุดในตลาดสินค้าแฟชั่นมือสองที่ได้รับความนิยมสูงสุดอันดับแรกๆ ได้แก่ แบรนด์ Zara, Urban Outfitters, Lululemon, Patagonia, Levi’s, Free People, Reformation, The North Face, Tory Burch, Coach, Birkenstock และ Longchamp ซึ่งหากลองพิจารณาดูหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท กระเป๋าที่ร้อนแรงที่สุดตอนนี้น่าจะเป็นกระเป๋าเป้ของแบรนด์ Fjällräven แจ๊กเก็ตแขนกุดของแบรนด์ Patagonia รองเท้ามีรูปสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำของแบรนด์ Dr.Martens ชุดวอร์มของแบรนด์ Gap เสื้อชุดของแบรนด์ Sézane และเสื้อกล้ามของแบรนด์ SKIMS ก็เป็นที่ต้องการอย่างมาก สามารถหาซื้อได้ตามเว็บไซต์สินค้าแฟชั่นมือสองเช่นกัน

ล่าสุด แบรนด์หรูอย่าง Balenciaga เข้าร่วมกลุ่มกับแบรนด์หรูอื่นๆ ในการขายสินค้ามือสอง โดยผ่านแพลตฟอร์ม Vestiaire Collective กับแบรนด์ The RealReal ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน คือ Gucci และ ALEXANDER McQueen ขณะที่แบรนด์ Burberry, Levi’s, Nike, Adidas, COS, Mara Hoffman ยังได้ตอบรับการขายสินค้ามือสองเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ได้เข้าร่วมการขายสินค้ามือสองแล้ว

โดยตลาดสินค้ามือสองที่เจ้าของแบรนด์มาเป็นผู้ขายเองนั้น เมื่อถูกโปรโมตการขายตรงเอง ก็ยิ่งมีคนสนใจมาก โดยการขายสินค้าประเภทนี้ ทางผู้ขายสินค้ามือสองจะทำการติดต่อกับแบรนด์ทางออนไลน์ และนำสินค้าไปส่งเองที่ร้านค้าแบรนด์นั้นที่อยู่ใกล้ที่สุด หรือส่งทางไปรษณีย์ ซึ่งเมื่อสินค้าอยู่ในมือของพนักงานขายแล้ว สินค้าจะผ่านไปยังศูนย์ตรวจสอบว่าเป็นของแท้ และประเมินราคา และทางแบรนด์จะติดต่อกลับเพื่อเสนอราคาที่จะจ่ายให้ หากผู้ขายสินค้ามือสองยอมรับก็จะได้รับเงินคืน (หากมูลค่าสินค้าสูงขึ้น) หรือได้รับเป็นบัตรกำนัล (ส่วนใหญ่จะได้รับเป็นว้อยเชอร์เพื่อซื้อสินค้าใหม่ของแบรนด์นั้น ๆ)

ทั้งนี้ มีการประเมินว่า ภายในปี 2573 คาดการณ์ว่าเสื้อผ้ามือสองจะมีสัดส่วน 18% ของตู้เสื้อผ้า เพิ่มขึ้นจาก 9% ในปี 2563 ในขณะที่ Fast Fashion (Zara, H&M) จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 8% เป็น 9% ส่วน Amazon Fashion ก็จะเติบโตเช่นกัน จาก 4% เป็น 5% ส่วนแบ่งของห้างสรรพสินค้าคาดว่าจะลดลงจาก 11% ในปี 2563 เป็น 7% ในปี 2573 และของร้านค้าเฉพาะทางที่มีเป้าหมายราคาปานกลาง (เช่น Gap และ J Crew) ลดลงจาก 16% เป็น 13%

จะเห็นได้ว่าแบรนด์ที่เป็นอุตสาหกรรม Fast Fashion จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับของมือสองเป็นอย่างหนัก การที่จะไม่ถูก Disruption ด้วยการ Disruption ตัวเองขึ้นเป็นคนกลางในการนำขายทอดตลาด ก็เป็นธุรกิจที่สร้างมูลค่าได้ เพราะรูปแบบสินค้าแฟชั่นมือสองถือเป็นการสร้างโอกาสให้ลูกค้านำสินค้ากลับมาจำหน่ายให้กับร้านค้า และมีรายได้สำหรับซื้อสินค้าครั้งต่อไป ถือเป็นการทำตลาดที่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าให้เหนียวแน่นขึ้น และยังทำให้ลูกค้าแวะเวียนมาบ่อยขึ้นอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามการทำธุรกิจสินค้าแฟชั่นหรูหรา จำเป็นต้องระมัดระวังสินค้าปลอมหรือลอกเลียนแบบ ซึ่งจะทำให้ผู้ค้าเองประสบกับปัญหาในภายหลัง และเสียชื่อเสียงได้ในภายหลัง เป็นสาเหตุที่ทำให้แบรนด์หรูอย่าง Hermès และ Chanel ได้แสดงจุดประสงค์ชัดเจนว่าจะไม่เข้าร่วมกับการค้ารูปแบบนี้

ที่มา: สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS