ExtremeTourism

ธุรกิจ ‘Extreme Tourism’ ที่เกิดจากคนรวยอยากโชว์เหนือ

จากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมช็อกคนทั่วทั้งโลกอย่าง ‘เรือดำน้ำไททัน’ (TITAN) ประสบอุบัติเหตุขณะพา 4 มหาเศรษฐี ทัวร์ใต้ทะเลชมซากเรือ ‘ไททานิก’ ที่ความลึกประมาณ 3,800 เมตร กลางมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงมาตรฐานความปลอดภัย และการประกันความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ทั้งในเรื่องการประกันภัย การประกันอุบัติเหตุ ซึ่งภายหลังการเกิดอุบัติเหตุใหญ่ครั้งนี้ ทำให้มีการเปิดข้อสัญญาตกลงก่อนการเริ่มทัวร์ ก็คือ จะไม่มีการเอาผิดหากเกิดอุบัติเหตุ’ 

โดยกิจกรรมการท่องเที่ยวนี้เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจการท่องเที่ยวแบบเอ็กซ์ตรีม (Extreme Tourism) หรือที่เข้าใจง่าย ๆ คือ การท่องเที่ยวภายใต้ความเสี่ยงสูง โดยจะเป็นการเดินทางไปยังสถานที่ที่สามารถทำกิจกรรมผจญภัยแบบผาดโผนได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ที่ห่างไกลและอันตราย เนื่องจากผู้ทำกิจกรรมต้องการประสบการณ์ที่แปลกใหม่ ตื่นเต้น น่าค้นหา และน้อยคนนักที่จะลอกเลียนแบบได้ อาจจะเรียกได้ว่าการท่องเที่ยวแบบเอ็กซ์ตรีมถือเป็นกิจกรรมของคนรวยที่ไม่ขาดแคลนเงิน และต้องการโชว์เหนือกว่าคนรวยด้วยกัน

ทั้งนี้ ‘Business+’ จะพาทุกท่านมาส่องกิจกรรมการท่องเที่ยวแบบเอ็กซ์ตรีมที่เป็นที่ใฝ่ฝันของเหล่าคนรวยที่ในชีวิตนี้ต้องได้ทำสักครั้ง เพื่อสร้างประสบการณ์ให้ผู้อื่นอิจฉา แต่ก็ไม่ใช่คนรวยทุกคนที่สามารถไปได้ นั่นเป็นเพราะการมีข้อจำกัดในหลาย ๆ อย่าง และในบางครั้งอาจต้องต่อสู้เพื่อแย่งบัตรคิวสุดเอ็กซ์คลูซีฟ ซึ่งการต่อสู้ในรูปแบบของคนรวยคงหนีไม่พ้นการประมูล โดยการประมูลแต่ละครั้งอาจมีมูลค่ามากกว่าราคาตั๋วจริงถึงเท่าตัว

ขณะที่การรับประกันความเสี่ยงด้านการเดินทาง Global Rescue บริษัทประกันภัยสัญชาติอเมริกา มองเห็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแบบเอ็กซ์ตรีมจะได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต ซึ่งมีการคาดการณ์ไว้ว่าในปี 2573 มูลค่าตลาดอาจจะไปแตะระดับ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับบริษัท Global Rescue ในการออกธุรกรรมประกันภัยประเภทใหม่ อย่างเช่น การประกันเดินทางไปอวกาศ เนื่องจากมูลค่าตลาดท่องเที่ยวในอวกาศคาดจะเติบโตถึง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2573

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับยอดซื้อทริปผจญภัยผ่านแพลตฟอร์ม Squaremouth.com ในปี 2565 เพิ่มขึ้นถึง 28% จากปี 2562 และมีแนวโน้มยอดขายจะเพิ่มขึ้นถึง 46% ในปี 2566 ซึ่งส่วนมากเป็นทริปไปสถานที่อย่างแอนตาร์กติกา และป่าซาฟารีในแอฟริกาใต้ นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มการซื้อขายเท่านั้น จะเห็นได้ว่ากิจกรรมเอ็กซ์ตรีมมีความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน

โดยการท่องเที่ยวแบบเอ็กซ์ตรีมระดับ Premium และ Super Premium ราคาจะเริ่มตั้งแต่หลักล้านไปจนถึงหลายสิบล้านบาทต่อคน แล้วแต่ความยากง่ายของการเดินทาง การบริการ รวมถึงความตื่นเต้นของกิจกรรมที่ยากจะลืมในชีวิตนี้ อย่างเช่น การพิชิตยอดเขา Everest ยอดเขาสูงสุดในโลก โดยจากผลสำรวจค่าใช้จ่ายในการปีนยอดเขา Everest ในปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 45,000 เหรียญสหรัฐฯ

สำหรับธุรกิจ Extreme Tourism ที่พาเหล่ามหาเศรษฐีกระเป๋าหนักไปหาประสบการณ์แปลกใหม่นั้น หนึ่งในบริษัทท่องเที่ยวแบบเอ็กซ์ตรีมนี้ ก็มีคนดังที่ร่ำรวยติดอันดับโลกอย่าง Elon Musk เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง โดยใช้ชื่อว่า ‘SpaceX’ ก่อตั้งเมื่อปี 2545 และจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาเนิ่นนาน อย่างการเป็นเอกชนรายแรกที่ปล่อยยานขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ อีกทั้งองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (NASA) ยังให้ความไว้วางใจให้ทำภารกิจ จึงจุดประกายให้เกิดโปรเจกต์จัดทัวร์อวกาศ และทำกิจกรรมต่าง ๆ ในอวกาศ 6 วัน มีราคาต่อหัวราว 63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ทั้งนี้มีมหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่น ชื่อ ยูซากุ มาเอะซาวะ (Yusaku Maezawa) ได้ทุ่มเงินกว่า 560 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการเหมาทัวร์พาศิลปิน 8 คนขึ้นอวกาศ โดยท็อป (TOP) หรือ ชเว ซึงฮยอน ศิลปินเกาหลีใต้วง BIGBANG ถือเป็น 1 ใน 8 ศิลปินที่ได้ถูกรับเลือกให้ร่วมทัวร์ในปีนี้ ซึ่งการเดินทางจะไปกับยาน SpaceX ภายใต้โครงการ Dearmoon

ขณะที่ Virgin Galactic ก่อตั้งเมื่อปี 2547 ของ Richard Branson มหาเศรษฐีชาวสกอต ก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ทำธุรกิจพาทัวร์อวกาศ ซึ่งในปี 2564 สามารถพาลูกทัวร์ไปขึ้นสู่บนชั้นบรรยากาศ ให้สัมผัสภาวะไร้น้ำหนักในอวกาศได้แม้จะอยู่ในระยะเวลาสั้น ๆ ก็ตาม ราคาต่อหัวอยู่ที่ราว 450,000 เหรียญสหรัฐฯ

ด้าน White Desert Antarctica ก่อตั้งในปี 2548 มีการให้บริการพาบินจากแอฟริกาใต้บินตรงไปยังขั้วโลกใต้ ด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว พร้อมพักที่แคมป์สุดหรู ราคาต่อหัวจะอยู่ที่ราว 98,500 เหรียญสหรัฐฯ เรียกได้ว่าเป็นเที่ยวบินที่สุดพิเศษยิ่งกว่าบินชั้นเฟิร์สคลาส ทั้งนี้ต้องมีการซื้อประกันเดินทางสำหรับการทัวร์ 5 วันกว่า 65,000 เหรียญสหรัฐฯ/คน

ส่วน Mountaineer Garrett Madison ก่อตั้งเมื่อปี 2548 เป็นบริษัทนำทัวร์พิชิตยอดเขา Everest จากนักปีนเขามืออาชีพ ซึ่งจะเป็นการพาเที่ยวและลูแลบริการครบวงจร มีคนรวยจำนวนมากที่ใฝ่ฝันถึงการอยู่บนจุดสูงสุดของโลกต่างก็มาร่วมเข้าทริปนี้ โดยทริปนี้มีราคาต่อหัวที่ 93,500 เหรียญสหรัฐฯ

สุดท้ายบริษัท OceanGate Expeditions ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2552 จัดบริการทัวร์ดำน้ำลึก 3,800 เมตร ใต้มหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อไปดูซากเรือ Titanic ได้ประสบความสำเร็จในปี 2564 ต่อมาก็ได้จัดทริปอีกครั้งเดินทางด้วย ‘เรือดำน้ำไททัน’ (TITAN) ในปีนี้ ซึ่งมีมหาเศรษฐีทั้งหมด 4 คนได้จ่ายค่าเดินทาง 250,000 เหรียญสหรัฐฯ/คน แต่ครั้งนี้กลับไม่ประสบความสำเร็จเหมือนครั้งก่อน เนื่องจากมีเหตุขัดข้องทำให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้น โดยหากจะถามถึงประกันก็อาจจะเรียกร้องได้ยาก ด้วยสัญญา จะไม่มีการเอาผิดหากเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งผู้โดยสารมีความสมัครใจแม้จะรู้เท่าทันความเสี่ยงนั่นเอง

แน่นอนว่ามูลค่าของธุรกิจ Extreme Tourism ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้ธุรกิจประกันภัยมีแนวโน้มเติบโตตามได้เช่นกัน เพราะหากพูดถึงในแง่ของประกัน แม้จะเดินทางไปไหนก็ตามจะต้องมีการซื้อประกันเพื่อป้องกันความเสี่ยง หากเกิดอุบัติเหตุสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ ยกตัวอย่างเช่น การเดินทางด้วยเครื่องบินทางสายการบินก็จะมีให้เลือกซื้อประกันเพื่อเป็นหลักประกันหากเกิดการขัดข้องในเรื่องต่าง ๆ

ซึ่ง Extreme Tourism ที่เหนือกว่า Extreme Tourism ทั่วๆ ไป จะมีความเสี่ยงสูงกว่าประกันการเดินทางทั่วๆ ไป จึงมีวงเงินที่สูง และแบกรับความเสี่ยงที่สูงกว่าจากมาตรฐานความปลอดภัย และการประกันความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ซึ่งการทำกิจกรรมแบบเอ็กซ์ตรีมมักมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ซึ่งในบางครั้งอาจมีการเสียชีวิตจากการเล่นผาดโผนที่มากเกินไป ก่อนการทำกิจกรรมบางบริษัทจึงกำหนดให้ต้องมีการเซ็นสัญญาไม่เอาผิดก่อนที่จะเข้าร่วมกิจกรรม เพราะชีวิตประเมินค่าไม่ได้บริษัทประกันจึงไม่ต้องการที่จะแบกรับความเสี่ยงด้วยวงเงินที่สูงขนาดนั้น

อย่างไรก็ตามหากเป็นธุรกิจ Extreme Tourism ทั่วๆ ไป ก็จะมีการคุ้มครองผู้เอาประกันตามวงเงินที่บริษัทประกันประกันกำหนด โดย ‘Business+’ ได้มีการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมและพบว่า ในประเทศไทยช่วงปี 2562 ก็มีเหตุการณ์สลดที่เกิดขึ้นจาก Extreme Tourism ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมโหนสลิง (Zipline) แต่เกิดความผิดพลาดทางเทคนิคทำให้นักท่องเที่ยวตกจากที่สูง 12 เมตร ซึ่งทางบริษัทผู้จัดกิจกรรมได้มีการทำประกันอุบัติเหตุให้นักท่องเที่ยว โดยให้ความคุ้มครองผู้ประสบภัย กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ สายตา หรือทุพพลภาพอย่างถาวรสิ้นเชิงจากอุบัติเหตุ จำนวน 1,000,000 บาท/คน โดยในขณะนั้น บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท โตโยโบรคเกอร์ จำกัด เป็นผู้ให้ประกัน และได้มอบค่าสินไหมทดแทนเป็นตั๋วแลกเงินจำนวน 1,000,000 บาท ให้กับบิดาของนักท่องเที่ยวชาวแคนาดาคนดังกล่าว

.

ที่มา : Grand View Research, nytimes, MGR online

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #ExtremeTourism #ไททัน #ทัวร์อวกาศ #การท่องเที่ยวแบบเอ็กซ์ตรีม #กิจกรรมเอ็กซ์ตรีม