EXIM

The Success Story of The Month ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร Dynamic CEO ผู้นำ EXIM BANK บริบทใหม่สู่ความยั่งยืน

The Success Story of The Month By ‘Business+’ ฉบับเดือนกันยายน 2567 จะพาผู้อ่านมาพบกับบทสัมภาษณ์สุดพิเศษจากดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ” ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร นั่งเก้าอี้ “กรรมการผู้จัดการ” ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 ซึ่งเขาพลิกโฉม EXIM BANK สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (Specialized Financial Institution: SFI) จนมีผลงานโดดเด่นในหลายมิติ ด้วยฝีมือนักบริหารการเงินที่มีมุมมองเป็นเลิศชนิดหาตัวจับยาก

ปี 2564 มีสินเชื่อคงค้าง 152,773 ล้านบาท เป็นสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน 38,522 ล้านบาท (ขยายตัวประมาณ 15%)

ปี 2565 มีสินเชื่อคงค้าง 168,331  ล้านบาท เป็นสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน 44,358 ล้านบาท (ขยายตัวประมาณ 15%)

ปี 2566 มีสินเชื่อคงค้าง 175,604  ล้านบาท เป็นสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน 44,358 ล้านบาท (ขยายตัวประมาณ 15%)

และผ่านมาครึ่งปี 2567 EXIM BANK มีสินเชื่อคงค้าง 174,699 ล้านบาท เห็นได้ว่า ด้านการบริหารการเงิน ดร.รักษ์ ทำผลงานให้องค์กรมีรายได้และกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นทุกปี เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายได้รับประโยชน์สูงสุด เฉพาะผลงานครึ่งปีแรกปีนี้ ยอดสินเชื่อคงค้างก็มีตัวเลขใกล้เคียงกับปี 2566 นั่นหมายความว่า ปี 2567 EXIM BANK จะสร้างสถิติใหม่อย่างแน่นอน

การที่ ดร.รักษ์ วาง Key Driver หรือปัจจัยขับเคลื่อนให้ EXIM BANK เติบโตต่อไปได้ในอนาคต คือการสร้างเครื่องยนต์ใหม่ (New Engines of Growth) ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายประเทศที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2608 นั่นเอง โดย EXIM BANK ตั้งเป้าหมายขององค์กร เร็วกว่าเป้าหมายประเทศ 23 ปี และ 15 ปี ตามลำดับ

สิ่งที่ ดร.รักษ์ ปฏิรูป EXIM BANK ให้กลับมามีผลงานโดดเด่นในหลายมิติ รวมถึงสามารถสร้างโมเดลใหม่ของธุรกิจ
ให้ไปสู่ระบบของกติกาสากลอย่างที่หลายประเทศใช้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทศวรรษใหม่ของ EXIM BANK ภายใต้
การบริหารงาน ดร.รักษ์ มีการผสมผสานของกลยุทธ์ Quick Win ที่สอดคล้องกับเทรนด์โลกได้อย่างน่าชื่นชม

Business+ ชวนทุกท่านถอดรหัสแนวคิดกับ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กับการสร้างความแตกต่างที่เหนือในทุก ๆ Journey

 

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ได้ฉายภาพ EXIM BANK ที่จะเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการผลักดันประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวและสังคมคาร์บอนต่ำว่า ปัจจุบันยากจะปฏิเสธว่า โลกของเราเผชิญวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่องจากภาวะโลกร้อน รุนแรงจนถึงขั้นภาวะโลกเดือด แม้ว่าหลายประเทศจะพยายามกำหนดมาตรการและเป้าหมายด้านต่าง ๆ เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และช่วยให้โลกเย็นขึ้น

แต่ทว่าผลลัพธ์ที่ออกมากลับไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีผลกระทบที่เริ่มหนักขึ้น โดยเฉพาะความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ เห็นได้จากการเกิดปรากฏการณ์ตกหลุมอากาศที่รุนแรงขึ้น จากในอดีตหากเครื่องบินตกหลุมอากาศจะอยู่ในราวไม่กี่ร้อยเมตร เปรียบเหมือนกับการขึ้นรถไฟเหาะเท่านั้น แต่ปัจจุบันเราเริ่มเห็นการตกหลุมอากาศในระดับ 2 กิโลเมตร ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตผู้โดยสารอย่างมาก และยังพบด้วยว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อัตราการตกหลุมอากาศอาจเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

ไม่เพียงเท่านั้น ภูมิอากาศแปรปรวนยังทําให้ประเทศที่มีแต่ทะเลทรายประสบภาวะน้ำท่วม เกิดน้ำท่วมหนักที่สุดในรอบ 75 ปี ทำให้การเดินทางชะงักทั้งโลก เพราะเป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งทางอากาศที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆของโลก การที่ทะเลทรายน้ำท่วม หมายความว่า โลกเริ่มวิกฤติมากกว่าเดิมอย่างมาก

“การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่หน้าที่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ทุกคนทุกฝ่ายในโลกใบนี้ต้องร่วมมือกัน เพื่อดำเนินการในภาคส่วนที่ตนเองมีบทบาทหรือมีความรับผิดชอบ”

ทุกบริการ หากจะอยู่รอด ต้อง Green เท่านั้น

ดร.รักษ์ ระบุว่า การคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เชื่อว่าจะเป็นไปตามที่หลาย ๆ ฝ่ายได้ประมาณการไว้ นั่นคือเกือบ 3% โดยมีเครื่องยนต์ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของปีนี้

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า วันนี้เครื่องยนต์เศรษฐกิจของประเทศไทยอาจจะยุบย่อไปหลายส่วนจากภาวะหนี้ครัวเรือน รวมไปถึงการตั้งงบประมาณค้างจ่าย เพราะกว่าจะระบายออกมาก็อยู่ราวไตรมาส 3 หรือ 4 แต่ทั้งหมดทั้งมวลแล้ว อย่างน้อยปีนี้ยังมีพระเอกอยู่ นั่นก็คือการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยว น่าจะเห็นตัวเลขเกิน 90% เมื่อเทียบกับปีก่อนเกิด Covid-19

ทั้งนี้ จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาในช่วงครึ่งปีแรก จะเห็นว่าภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวใกล้แตะระดับก่อนเกิด Covid-19 โดยมีนักท่องเที่ยวในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้เดินทางเข้ามาราว 20 ล้านคน ขณะที่กลุ่มนักท่องเที่ยวหลักยังคงเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวจากทวีปเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย และที่มาแรงก็คือมาเลเซีย สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า เครื่องยนต์ที่เรียกว่าการท่องเที่ยวกลับมาแล้ว

ขณะที่เครื่องยนต์หลักอีกหนึ่งตัว อย่างการส่งออกนั้น มีโอกาสขยายตัวครั้งแรกในรอบ 2 ปี เนื่องจากเริ่มเห็นการกระจายตัวไปยังประเทศคู่ค้าที่เป็นกลุ่มตลาดใหม่ ๆ มากขึ้น จากเดิมที่กระจุกตัวอยู่ในตลาดหลักอย่างอเมริกาเหนือ ยุโรป จีน และญี่ปุ่น แต่หลังจากเกิด Covid-19 ระบาด ทำให้ผู้ส่งออกได้เรียนรู้ว่า ไม่ควรใส่ทุกอย่างเอาไว้ในตะกร้าใบเดียว ดังนั้น จึงเห็นภาพการส่งออกสินค้าไปยังตลาดใหม่อย่างประเทศในตะวันออกกลาง แอฟริกา หรืออเมริกาใต้ ซึ่งขณะนี้ถือว่าเป็นตลาดส่งออกที่มาแรงมาก และปัจจัยบวกมีมากกว่าปัจจัยลบ ซึ่งเข้ามาทดแทนตลาดยุโรปและอเมริกาเหนือที่มีความไม่แน่นอนสูงในสภาพการแข่งขันปัจจุบัน

ข้อมูลดังกล่าวจาก ดร.รักษ์ ฉายภาพ Overview ให้เห็นถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก ชี้ให้เห็นว่า จากนี้ไปผู้ประกอบการของไทยจะต้องให้ความสำคัญกับการปรับปรุงกระบวนการผลิตและส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่มีกำลังซื้อสูง รวมถึงต้องให้สอดคล้องกับกระแสอนาคตของโลกใบใหม่ นั่นก็คือ ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสินค้ารักษ์โลก

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับประเทศไทยคือ เราเป็นประเทศสีเขียว แต่ประเด็นคือ สัดส่วนการส่งออกสินค้าสีเขียวกลับอยู่ที่เพียง 7.6% นั่นเพราะโครงสร้างเราไม่เอื้อ และผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกอันดับต้น ๆ ของเรา คือ สินค้าที่เป็นห่วงโซ่ของปิโตรเลียม ดังนั้น สัดส่วนที่ออกมาจึงยังไม่สูงเหมือนกับประเทศอื่นในตลาดโลก”

ประเทศไทยยังมีโอกาสที่จะเพิ่มสัดส่วนการส่งออกสินค้าสีเขียวให้เติบโตจาก 7.6% เป็น 15% หรือ 20% แต่ภาครัฐจะต้องสนับสนุนอย่างจริงจัง โดยเริ่มต้นจากสร้างการรับรู้ว่า ยังมีความต้องการสินค้าสีเขียวและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าสินค้าแบบดั้งเดิม หลังจากนั้นต้องเติมความรู้ เติมเงินทุน และหาตลาดให้ด้วย หากทำให้เกิดระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem) โดยการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) กับธุรกิจสีเขียว ก็จะเพิ่มโอกาสให้กับการส่งออกสินค้าสีเขียวของไทยได้อย่างมาก” ดร.รักษ์ กล่าว

EXIM BANK ได้ปรับโมเดลธุรกิจโดยสอดคล้องกับเทรนด์โลก มุ่งพัฒนาเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ (Greenovations) อาทิ การเสนอขายทั้งพันธบัตรและบัตรเงินฝากสีเขียว การออกสินเชื่อเพื่อธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล (Blue Economy) ภายใต้ Sustainable Finance Framework โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนจากราว 37% หรือประมาณ 65,000 ล้านบาท ในปัจจุบัน เป็น 50% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดภายในปี 2570

ออก Blue Bond ต่อยอด Green Finance

ดร.รักษ์ กล่าวว่า ในปีนี้ EXIM BANK ยังคงเดินตาม Roadmap เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ภายในปี 2570 โดยก่อนหน้านี้ได้เสนอขายบัตรเงินฝากสีเขียวภายใต้ Sustainable Finance Framework ที่รับรองโดย DNV (Thailand) Co., Ltd. เป็นครั้งแรกในประเทศไทย วงเงินรวม 5,000 ล้านบาทภายในปี 2567 ซึ่งเปิดขายรุ่นแรกไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาจำนวน 1,300 ล้านบาท และได้รับการตอบรับอย่างดีจากหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐ ประกอบด้วย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

สำหรับเงินที่ได้จากการออกบัตรเงินฝากสีเขียวในครั้งนี้ EXIM BANK จะนำไปใช้เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนแก่ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจสีเขียว รวมถึงกิจการที่ต้องการปรับปรุงกระบวนการผลิต ผ่านบริการต่าง ๆ อาทิ EXIM Green Start, Solar D-Carbon Financing เพื่อตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมทั้ง Ecosystem มากที่สุด ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเริ่มต้นและขยายธุรกิจรายย่อยจากระดับชุมชนเชื่อมโยงกับ Supply Chain การส่งออกสู่ตลาดโลกอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

พร้อมกันนี้ EXIM BANK ยังได้ออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (ทรัพยากรทางทะเล) หรือ Blue Bond สกุลบาทเป็นครั้งแรกของสถาบันการเงินไทย อายุ 3 ปี วงเงินรวม 3,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.78% ต่อปี ภายใต้ Sustainable Finance Framework ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมทางการเงินสีเขียวที่จะเข้ามาต่อยอดและช่วยเติมเต็มเศรษฐกิจสีเขียว ผนวกกับเศรษฐกิจสีน้ำเงินอย่างลงตัว

Blue Bond ที่ EXIM BANK เสนอขายได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่จนสามารถเสนอขายได้เต็มจำนวนวงเงิน มียอดจองซื้อสูงถึง 2.5 เท่าของวงเงินที่เสนอขาย สะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนพร้อมที่จะสนับสนุนเพื่อให้ธนาคารนำเงินที่ได้จากการออกพันธบัตรในครั้งนี้ไปช่วยส่งเสริมและสนับสนุนแก่ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวทางทะเล การประมง รวมถึงการเพาะเลี้ยงพืชและสัตว์น้ำ การจัดการและบำบัดน้ำเสีย การรีไซเคิลขยะจากทะเล และพาณิชยนาวี หากดำเนินธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็สามารถใช้บริการทางการเงินในกลุ่มนี้ได้ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ถูกมาก

“ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับทรัพยากรทางทะเลที่ต้องการเงินทุน เพื่อปรับหรือขยายธุรกิจเน้นไปที่ความยั่งยืน เพราะต้นทุนทางการเงินจะถูกลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับสินเชื่อในอดีตที่ดอกเบี้ยค่อนข้างสูง โดย EXIM BANK มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล ภายใต้ Sustainability Linked Loan (SLL) ทั้งสินเชื่อหมุนเวียนและสินเชื่อระยะยาวสำหรับผู้ประกอบการทุกขนาดธุรกิจ อัตราดอกเบี้ยต่ำสุดอยู่ที่ 3.85% ต่อปี หากเทียบให้เห็นภาพ ก็จะสูงกว่าซอฟต์โลนเพียง 0.35% เท่านั้น แต่ทว่าซอฟต์โลนกำหนดเงื่อนไขมากกว่า ขณะที่หากผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็จะได้ต้นทุนทางการเงินที่ถูกลงได้” ดร.รักษ์ กล่าว

ดร.รักษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีลูกค้าที่ใช้บริการทางการเงินในกลุ่ม Green Finance หลายรายทั้งอุตสาหกรรมการผลิตสินค้า ธุรกิจโรงแรมแบบ Zero Waste ที่สามารถสร้างโรงแรมควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้ โดยมีเป้าหมายทําให้โลกน่าอยู่ขึ้นได้ หรือแม้กระทั่งธุรกิจเดินเรือที่ไม่ปล่อยน้ำอับเฉาลงทะเล ก็สามารถมาใช้บริการทางการเงินนำไปสร้างเรือที่มีระบบ Zero Waste ในตัวเอง โดยน้ำอับเฉาใต้เรือจะถูกบำบัดเมื่อกลับถึงประเทศไทยแล้ว จากนั้นจึงจะปล่อยทิ้งต่อไป

 หมุดหมายสร้าง Green Supply Export Chain

ดร.รักษ์กล่าวอีกว่า ในปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2568 ทาง EXIM BANK ได้วางหมุดหมาย Go the Extra Miles ในการสร้าง Green Export Supply Chain เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยทุกขนาดธุรกิจให้ได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ด้วยการสนับสนุนการเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้สะอาดขึ้น การใช้พลังงานหมุนเวียน และการช่วยให้ Suppliers ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมในทุก Scope ทั้ง 1-2-3 กล่าวคือ หากผู้ประกอบการต้องการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ ก็สามารถจูงใจให้เครือข่าย Suppliers ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตมาใช้พลังงานสะอาด เช่น การติดตั้ง Solar Rooftop เป็นต้น ถ้าทำได้ก็จะสามารถใช้บริการสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่อ้างอิงจากผู้ประกอบการรายใหญ่ (Sponsors) ซึ่งเป็นแนวทางที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำได้

อย่างไรก็ตาม ดร.รักษ์ ยอมรับว่า โดยส่วนใหญ่ผู้ประกอบการรายใหญ่มักจะมีความพร้อมในการปรับเปลี่ยนไปสู่การทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าผู้ประกอบการรายเล็ก ทั้งด้านกำลังคน ความรู้ และเทคโนโลยี เพียงแค่เติมเงินทุนเข้าไปก็สามารถเดินหน้าได้ทันที ในขณะที่รายกลางและรายเล็กอาจจะต้องเพิ่มในส่วนขององค์ความรู้และแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนธุรกิจอย่างจริงจัง

“เราพยายามที่จะบอกกับผู้ประกอบการรายเล็กว่า การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากคุณจะสามารถส่งของไปขายในตลาดที่กว้างขึ้น ขายได้ราคาสูงขึ้นแล้ว คุณยังจะได้ต้นทุนทางการเงินที่ถูกลงแน่ ๆ อย่างต่ำ 0.25% ต่อปี และเมื่อได้เงินที่ต้นทุนถูกลงแล้ว ก็ควรจะนำไปปรับปรุงโรงงานให้เป็นโรงงานสีเขียว เริ่มต้นจากการติดตั้ง Solar Rooftop ใช้พลังงานสะอาดในการผลิตสินค้าก็ได้ จากเดิมโรงงานขนาดเล็ก จำนวนพนักงานประมาณ 80 คน อาจจะต้องใช้เงิน 2-3 ล้านบาท แต่วันนี้ไม่ถึง 5 แสนบาท ก็สามารถติดตั้งได้แล้ว”

แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เป็นทั้งโอกาส ความท้าทาย และหมุดหมายที่ EXIM BANK ได้วางไว้ หากมองในแง่โอกาส ความต้องการของเงินสีเขียวและเงินสีน้ำเงินมีจำนวนมหาศาล แต่ในแง่ของความท้าทายก็คือ การกระจายเม็ดเงินไปสู่ผู้ประกอบการรายเล็กและรายกลาง เพราะในปัจจุบันความต้องการอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่มากกว่า 80%

ถึงตรงนี้ เราจึงมุ่งสร้าง Green Export Supply Chain ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ขยายเครือข่ายธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ไปสู่ธุรกิจสีเขียวเชื่อมโยงโอกาสของผู้ประกอบการทุกขนาดธุรกิจเข้าไว้ด้วยกัน และถือเป็นหมุดหมายสำคัญของ EXIM BANK ในการก้าวเดินเพื่อให้สอดคล้องกับสมการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวและการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ สอดคล้องกับแผนงานของ EXIM BANK ที่วางไว้ในทุก ๆ Journey นั่นเอง

เขียนและเรียบเรียง : สุรชัย บ่อจันทึก
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS