จะอ่อนไปถึงไหน!! เปิดทางรอดธุรกิจเมื่อเงินบาทอ่อนค่า ยามที่สหรัฐฯ ยอมหักดิบแม้ต้องเจอเศรษฐกิจถดถอย

ค่าเงินบาทของไทยในปัจจุบันอ่อนค่ามาจนถึงระดับ 35.52 บาท/ดอลลาร์ ในวันนี้ (27 มิ.ย.2565) ถือว่าเป็นการอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 5 ปี จนทำให้ผู้นำเข้าซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุดถึงกับอุทานออกมาว่า “จะอ่อนไปถึงไหน?”

หากมาย้อนดูข้อมูลนับตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบัน (YTD) เราจะเห็นว่าค่าเงินบาทอ่อนค่ามาแล้ว 2.21 บาท/ดอลลาร์ฯ จากระดับ 33.310 บาท เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2565

และยิ่งไปกว่านั้น หากดูจากสถิติการอ่อนค่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน ซึ่งค่าเงินบาทอยู่ที่ 31.030 บาท (11 มิ.ย.2564) คิดเป็นการอ่อนค่าไปกว่า 4.49 บาท/ดอลลาร์ฯ

อธิบายความน่ากลัวของสถานการณ์ตอนนี้ให้ฟังในรูปแบบง่าย ๆ เพื่อให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่า หากเป็นผู้ประกอบกิจการที่จะต้องนำเข้าสินค้าเข้ามา จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการอ่อนค่าของเงินบาทถึง 4.49 บาทในทุกๆ ดอลลาร์ฯ ในระยะเวลาเพียง 1 ปี

ไม่เพียงเท่านั้น หากผู้ประกอบการรายได้มีหนี้สินเป็นสกุลเงินต่างประเทศ (โดยเฉพาะเงินดอลลาร์) จะต้องใช้เงินเพื่อจ่ายหนี้มากขึ้นกว่าเดิมถึง 4.49 บาทในทุกๆ ดอลลาร์ฯ

ซึ่งสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนี้เกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำติดดิน รวมไปถึงการซบเซาของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

หากประเทศใดที่เศรษฐกิจชะลอตัว และอัตราดอกเบี้ยต่ำ จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการไหลออกของเงินทุน (เหมือนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน) เพราะตามธรรมชาติแล้วคนจะต้องการไปลงทุนที่ประเทศอื่นที่อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่า และมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า จึงทำให้เกิดการขายเงินบาทออกมาเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินสกุลอื่น และเมื่อเงินบาทถูกขายออกมาจำนวนมากก็เป็นผลให้ค่าเงินอ่อนตัว (ตามกฏของ Demand และ Supply)

ขณะที่การท่องเที่ยวในประเทศที่ยังชะลอตัว ก็ทำให้ความต้องการเงินบาทน้อยลง (ต่างชาติไม่ได้เข้ามาท่องเที่ยวไทยมาก จึงไม่มีความจำเป็นต้องแลกเปลี่ยนสกุลเงินมาเป็นเงินบ้านเรา)

จาก 3 ปัจจัยหลัก ๆ ที่ Business+ กล่าวมาทั้งหมดทำให้เห็นว่า “ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มจะอ่อนค่าได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้”

โดยเฉพาะกับกรณีที่ประเทศใหญ่อย่างสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง ซึ่งสหรัฐฯ ได้ใช้วิธีรับมือด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยคาดการณ์ว่า สิ้นปีนี้ อัตราดอกเบี้ยเฟดจะขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 3.25-3.50% ถึงแม้ว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ตาม

ส่วนของไทยที่เจอกับภาวะอัตราเงินเฟ้อในระดับสูงเช่นเดียวกัน ก็เป็นแรงกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่คาดว่าจะถูกพิจารณาในช่วงเดือน ส.ค. และพ.ย. (พูดง่ายๆ คืออีก 2 เดือนเป็นอย่างน้อย)

นั่นทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทย-สหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูง (อัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ที่ 0.50%) จึงเป็นตัวเร่งให้เม็ดเงินไหลออกจากไทย และนำมาซึ่งการอ่อนค่าของเงินบาทนั่นเอง

โดยผลกระทบของกรณีที่เงินบาทอ่อนค่าหนัก ๆ จะเป็นข้อดีต่อผู้ส่งออกที่มีรายได้เป็นดอลลาร์ และเมื่อนำเงินกลับเข้าประเทศในช่วงเงินบาทอ่อนค่าก็จะส่งผลให้มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงขึ้น

แต่สำหรับผู้นำเข้าแล้วกลับเป็นฝันร้าย เพราะเงินบาทอ่อนค่าลงจะทำให้บริษัทนำเข้ามีต้นทุนสูงขึ้น (นำเงินบาทไปแลกเป็นดอลลาร์เพื่อซื้อสินค้า ทำให้ต้องใช้เงินบาทมากขึ้น) ดังนั้น ผู้นำเข้าจึงมีต้นทุนสูงขึ้นเป็นผลที่ทำให้กำไรลดลง

แต่สำหรับผู้ประกอบการแล้ว เราสามารถวางแผนเพื่อรับมือกับปัญหา และเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนด้วยเครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ เช่น

1. การซื้อหรือขายเงินสกุลต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) อธิบายให้ฟังง่ายๆ คือการทำสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศเอาไว้ล่วงหน้า ซึ่งวิธีนี้จะต้องกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่เอาไว้ตั้งแต่วันที่ทำสัญญา และเมื่อครบกำหนดสัญญาไม่ว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะเป็นอย่างไร เราก็จะได้อัตราแลกเปลี่ยนที่เราพอใจเพราะกำหนดเอาไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เราสามารถบริหารจัดการธุรกิจได้ดีขึ้น เพราะเราจะรู้ต้นทุนเงินบาทที่แน่นอน ซึ่งปัจจุบันผู้นำเข้า และส่งออกประมาณครึ่งนึงได้ใช้วิธี Forward Contract

2. การซื้อสิทธิ์ที่จะซื้อหรือขายเงินสกุลต่างประเทศล่วงหน้า (Option Contract) คือการทำสัญญากับธนาคารที่เปิดให้ภาคธุรกิจซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศเอาไว้ล่วงหน้า โดยวิธีการคือกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่เอาไว้ล่วงหน้าตั้งแต่วันทำสัญญาเหมือนกับ Forward Contract แต่มีข้อแตกต่างกัน คือ เมื่อถึงกำหนดสัญญาเราสามารถเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิ์อัตราแลกเปลี่ยนหรือไม่ก็ได้ หากระหว่างสัญญาอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมีช่วงที่เราพอใจมากกว่าเรทที่ทำสัญญาเอาไว้ เราก็สามารถเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิ์ได้ทันที (วิธีนี้อาจจะมีค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น แต่หากเป็นเรทที่ดีก็อาจทำให้เรามีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนได้มากกว่า)

3. แบ่งสัดส่วนการฝากเงินตราเป็นสกุลต่างประเทศเอาไว้ในประเทศไทย (Foreign Currency Deposit : FCD) คือการฝากเงินเข้าบัญชีในประเทศไทยเป็นสกุลต่างประเทศ แทนที่จะแลกกลับเป็นเงินบาททันที เมื่อทิศทางค่าเงินเป็นไปในทางที่เราพึงพอใจแล้วค่อยแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาท (วิธีนี้อาจไม่เหมาะกับผู้ประกอบการขนาดเล็กที่เงินทุนหมุนเวียนน้อยกว่ารายใหญ่ เพราะกว่าเราจะได้เรทที่พอใจอาจกินระยะเวลายาวนาน)

นี่คือ 3 วิธีหลัก ๆ ที่เราจะสามารถใช้เพื่อรับมือกับความเสี่ยงเอาไว้ล่วงหน้าได้ แต่ต้องอย่าลืมว่านอกจากนี้พึ่งพาเครื่องมือทางการเงินแล้ว ผู้ประกอบการยังต้องคอยติดตามความเคลื่อนไหวของค่าเงินอยู่เสมอ เพื่อนำมาวิเคราะห์ถึงกำไรและต้นทุน รวมทั้งยังสามารถใช้ในการวางแผนธุรกิจเอาไว้ล่วงหน้า

นอกจากนี้ทางธนาคารกลางของประเทศจำเป็นต้องเข้ามาแทรกแซงค่าเงินบาท โดยที่ไทยใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed Float) คือการปล่อยอัตราแลกเปลี่ยนให้ขึ้นลงตามกลไกตลาด แต่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้เมื่อมีความผันผวนสูง ซึ่งที่ผ่านมา ธปท. ได้เข้าไปแทรกแซงค่าเงินเฉลี่ยสัปดาห์ละ 3,000-5,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อพยุงไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าเกินไป

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : บล.กสิกรไทย ,th.investing.com

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ค่าเงินบาท #เงินบาทอ่อน #อัตราแลกเปลี่ยน