ไขข้อข้องใจ ยกเลิกใช้รถยนต์ประเภทน้ำมัน แค่การเปลี่ยนผ่านธุรกิจเก่าสู่ธุรกิจใหม่ หรือการพลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ครั้งใหญ่?

ท่ามกลางกระแสโลกที่ผู้คนต่างก็หันมาให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือกมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก เพราะในการดำรงชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน มักจะเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานอยู่ตลอดเวลา และการนำเอาพลังงานสะอาดหรือพลังงานทางเลือกมาปรับใช้ให้ได้มากที่สุด ถือเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันสนับสนุน เพื่อให้ยังคงมีพลังงานที่มากเพียงพอต่อความต้องการของประชากร แต่ควบคู่ไปด้วยการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้คน

 

ซึ่งหนึ่งในธุรกิจที่ถือว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ได้แก่ ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ ด้วยคุณลักษณะอันโดดเด่นจากการใช้พลังงานสะอาด ที่นอกจากจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีความทันสมัย โดดเด่นที่ดีไซน์ และยิ่งไปกว่านั้นคือช่วยให้ผู้ใช้งานประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่ารถยนต์ประเภทน้ำมันที่นอกจากจะมีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงสูงแล้ว ยังมีการปล่อยก๊าซไอเสียซึ่งส่งผลให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมในปริมาณมากอีกด้วย

 

ด้วยเหตุนี้หลาย ๆ ประเทศจึงเริ่มมีการหยิบยกเอานโยบายการยกเลิกใช้รถยนต์ประเภทน้ำมันมาบังคับใช้ หรือแม้แต่ประเทศไทยเองก็เช่นกัน

 

โดยเรื่องราวนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมจากประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปได้มีมติอนุมัติการห้ามขายรถยนต์ขนาดเล็กรุ่นใหม่ที่มีเครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือรถยนต์ประเภทใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อน ซึ่งมีกำหนดบังคับใช้ภายในปี 2035  โดยกำหนดให้ภายในปี 2035 รถยนต์และรถตู้รุ่นใหม่ทั้งหมดที่ออกสู่ตลาดในสหภาพยุโรปจะต้องปล่อยไอเสียให้เป็นศูนย์

 

อย่างไรก็ดี ภายหลังการประกาศดังกล่าว ได้มีการตอบโต้จากภาคเอกชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ของเยอรมนีสำหรับข้อบังคับใหม่นี้ว่ามีความเป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งต่อมาอิตาลี โปรตุเกส สโลวาเกีย บัลแกเรีย และโรมาเนีย ก็ได้ร่วมกันผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงสำหรับกำหนดการในการใช้ข้อบังคับดังกล่าวจากปี ค.ศ. 2035 เป็นปี 2040 ขณะเดียวกัน ทางสหภาพยุโรปได้รับปากว่าจะออกมายืนยันอีกครั้งภายในปี 2026 ว่ารถยนต์ไฮบริด และ/หรือ รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงทางเลือกจะสามารถขายได้หลังปี 2035 หรือไม่ หากผู้ผลิตรถยนต์สามารถพิสูจน์ได้ว่าไม่มีการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม

 

ขณะที่ในส่วนของประเทศไทยนั้น ทางคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (EV) ได้กำหนดให้ประเทศไทยยกเลิกจำหน่ายยานยนต์, เครื่องยนต์ประเภทน้ำมัน ภายในปี 2035 โดยได้มีการคาดการณ์ว่าในปี 2025 รถยนต์ไฟฟ้า(EV) จะมีราคาเทียบเท่ากับรถยนต์สันดาป พร้อมทั้งวางแนวทางเป้าหมายไว้ 3 ระยะ คือ การใช้ยานยนต์ไฟฟ้ารวมทุกประเภทในปี 2025 รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,055,000 คัน โดยแบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ 402,000 คัน รถจักรยานยนต์ 622,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 31,000 คัน และในปี 2035 ให้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนรวม 15,580,000 คัน โดยแบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพจำนวน 6,400,000 คัน รถจักรยานยนต์ 8,750,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 430,000 คัน

 

ขณะเดียวกันได้วางเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศใน ปี 2568 จะมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,051,000 กัน แบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ 400,000 คัน รถจักรยานยนต์ 620,000 คันและรถบัส/รถบรรทุก 31,000 กัน และในปี 2578 ให้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนรวม 18,413,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ 8,625,000 คัน รถจักรยานยนต์ 9,330,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 458,000 คัน

 

นอกจากนี้ ยังมีการวางเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลกภายในปี ค.ศ. 2035 ซึ่งผู้ขับขี่ยานยนต์สามารถจดทะเบียนยานยนต์ใหม่ ได้เฉพาะยานยนต์ไร้มลพิษ ZEV 100% ( Engine Ban)

 

มาถึงคำถามสำคัญที่คงจะคาใจใครหลาย ๆ คน ว่าถ้าหากมีการยกเลิกใช้รถยนต์ประเภทน้ำมันจริง ๆ จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง? วันนี้ทาง Business+ จึงได้ทำการหยิบยกเอาผลกระทบมาให้ได้ขบคิดร่วมกันว่าผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นนั้น เป็นเพียงแค่ผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ หรือเป็นการพลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ครั้งใหญ่กันแน่

 

เริ่มจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิต โดยสมาคมผู้ผลิตยานยนต์ยุโรป (ACEA) ได้มีการคาดการณ์ว่า ผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมรถยนต์แบบเก่าจะลดลงและอาจจะหายไปหากรถยนต์ไฟฟ้ามาแทนที่ เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าจะจ้างคนทำงานที่มีทักษะทางเทคนิคสูงกว่าเดิม ทั้งนี้ ได้มีการประเมินว่าจะมีการเลิกจ้างจำนวนมากในอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งทางตรงและทางอ้อมประมาณ 14.6 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 7% ของกำลังแรงงานในยุโรป

 

ขณะที่ประเทศไทยสำหรับประเทศไทย มีแรงงานที่เสี่ยงจะตกงานมากถึง 300,000 คน จากการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลให้ชิ้นส่วนรถยนต์ในรูปแบบเก่าลดลงไปอย่างมาก จากประมาณ 30,000 ชิ้นต่อคัน เหลือเพียงประมาณ 1,500-3,000 ชิ้นต่อคันเท่านั้น โดยชิ้นส่วนที่จะหายไปได้แก่ เครื่องยนต์ ระบบไอเสียหม้อน้ำ ถังน้ำมัน เป็นต้น โดยงานวิจัยหัวข้อ ‘ผลกระทบของการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า ต่อแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์’ โดย รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ, ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยของมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ระบุว่า จากข้อมูลในปี 2019 พบว่าประเทศไทยมีผู้ผลิตชิ้นส่วนเหล่านี้จำนวน 816 แห่ง จากผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ทั้งหมดประมาณ 2,500 แห่ง โดยบริษัทเหล่านี้มีอัตราการจ้างแรงงานจำนวน 326,400 คน หรือคิดเป็น 47% ของกำลังแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมสนับสนุนที่จะได้รับผลกระทบหากมีการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าอีกจำนวน 183 แห่ง ที่มีการจ้างงานจำนวนมาก นั่นแปลว่าจะมีแรงงานในไทยที่สุ่มเสี่ยงต่อการเลิกจ้างงานอีกเป็นจำนวนมากเลยทีเดียว

 

นอกจากประเด็นด้านแรงงานแล้ว ยังมีประเด็นในเรื่องของรถรุ่นเก่าที่ผู้ใช้งานรถสันดาปเกิดคำถามขึ้นมาว่าจะต้องทำการเปลี่ยนเป็นรถรุ่นใหม่ตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่? แน่นอนว่าคำตอบคือใช่ เพียงแต่ไม่ใช่ในปัจจุบันทันด่วน แต่เป็นในรูปแบบของการค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป โดยคาดว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลที่มีอยู่ในปัจจุบันจะยังคงถูกกฎหมายต่อไปจนถึงปี 2030 และคาดว่าจะยังคงเห็นรถยนต์สันดาปบนท้องถนนจนถึงกลางปี ​​​​2040 เนื่องจากอายุรถสันดาปโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 14 ปี ซึ่งแน่นอนว่าจะนำมาซึ่งการสิ้นสุดของยุคสมัยรถยนต์สันดาป และนำไปสู่รถยนต์ประเภทไฟฟ้า (EV) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

อีกประเด็นที่น่าสนใจและเป็นคำถามสำคัญ คือ ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2030 จะเทียบเท่ากับรถยนต์ระบบสันดาปในปัจจุบันหรือไม่? โดยคำตอบสำหรับประเด็นนี้คือใช่ เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าจะกลายเป็นพื้นฐานของสังคมมากขึ้น ทั้งในแง่ของจำนวนการผลิตและทรัพยากรที่จะเพิ่มขึ้น ในขณะที่ต้นทุนการผลิตจะลดลง โดยมีการคาดการณ์จากผู้เชี่ยวชาญว่าราคารถยนต์ไฟฟ้ากับรถยนต์สันดาปอาจจะมีความเท่าเทียมกันก่อนที่จะมีการสั่งห้ามใช้รถยนต์ประเภทน้ำมันด้วยซ้ำ

 

นอกจากนี้ ‘วิจัยกรุงศรี’ ระบุว่า การเสื่อมราคาของรถยนต์จะมีผลโดยตรงต่อการประเมินความเสี่ยงของธุรกิจเช่าซื้อ ธุรกิจลิสซิ่ง และธุรกิจประกันภัย โดยจากการศึกษาของ ‘Moody’s Analytics’ และองค์กรเพื่อผู้บริโภคยุโรป (European Consumer Organization) พบว่าในช่วงแรกรถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มสูญเสียมูลค่าเร็วกว่ารถยนต์ ICE เนื่องจากปัจจุบันยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีจึงเปลี่ยนแปลงและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องการรถยนต์ไฟฟ้ามือหนึ่งมากกว่าเพราะมีเทคโนโลยีที่ดีกว่ามากเมื่อเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม เมื่อการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามีมากขึ้นและเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มอยู่ตัวมากขึ้น รถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มจะสูญเสียมูลค่าน้อยกว่ารถยนต์ ICE เนื่องจากมีชิ้นส่วนที่สึกหรอน้อยกว่า อีกทั้งความต้องการรถยนต์ ICE จะค่อยๆ ลดลงตามเวลา ดังนั้น ธุรกิจเช่าซื้อ ธุรกิจลิสซิ่ง และธุรกิจประกันภัยจึงต้องมองความเสี่ยงของการวัดมูลค่ารถยนต์ใหม่ ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ ICE โดยเฉพาะหากการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเร่งตัวขึ้นในอนาคต

 

โดยอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกกำลังก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ การขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electrification) การขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous driving) และการบริการด้านการเดินทาง (Servicification in mobility sector) ล้วนส่งผลต่อทั้งอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ผลิตชิ้นส่วน ผู้ขายปลีกหรือดีลเลอร์ สถานีบริการ รวมถึงผู้เล่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาครัฐ ธนาคาร และประกันภัย เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงในระดับอุตสาหกรรมเช่นนี้มักสร้างความท้าทายให้กับผู้เล่นท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้น การขยับตัวและปรับตัวเพื่อรับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เพียงช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขัน แต่ยังจะช่วยให้ผู้เล่นสามารถคว้าโอกาสใหม่ๆ ในโลกยานยนต์ยุคใหม่ได้ ในด้านความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าก็เช่นกัน แม้ในช่วงแรกอาจยังมีอุปสรรคหลายอย่าง แต่การปลดล็อคข้อจำกัดเหล่านี้ จะทำให้การตอบรับรถยนต์ไฟฟ้าเร่งตัวอย่างรวดเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดคิด ผู้เล่นที่กระโจนเข้าสู่ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าเร็วก็อาจเผชิญความเสี่ยงที่มาพร้อมกับส่วนแบ่งตลาดก้อนใหญ่ ส่วนผู้เล่นที่ปรับตัวช้าอาจเสียโอกาสเชิงธุรกิจไปได้ มีเพียงผู้เล่นหรือผู้ที่เกี่ยวข้องที่ขยับตัวในทิศทางและความเร็วที่เหมาะสมเท่านั้นที่จะเป็นผู้คว้าโอกาสธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ได้

 

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ คงพอจะเป็นคำตอบให้ได้ว่า ในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจจากรถยนต์ในรูปแบบยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนผ่านธุรกิจเก่าสู่ธุรกิจใหม่ แต่ถือเป็นการพลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ครั้งใหญ่ เพราะมีความเกี่ยวข้องกันหลายภาคส่วน และยังรวมไปถึงธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย แล้วคุณล่ะ พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึงหรือยัง?

 

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ที่มา : edie, grandprix, matichon, thairath, วิจัยกรุงศรี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #EV #รถยนต์ไฟฟ้า #ยกเลิกใช้รถยนต์ประเภทน้ำมัน #ยุคสมัยของรถยนต์ไฟฟ้า