สภาพขาดแคลนแรงงาน ปัญหาระดับโลก กับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยในรอบ 60 ปี

ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged society) พูดให้เห็นภาพง่าย ๆ คือ หากมีคนเดินสวนกันจากทั้งหมดคน 100 คนเราจะเจอคนที่มีอายุเกิน 60 ปีมากกว่า 20 คน และในอนาคตเรายังถูกคาดการณ์เอาไว้ว่า ภายในปี 2574 (หรืออีก 9 ปีข้างหน้า) เราจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Hyper-Aged Society) นั่นคือการมีคนอายุ 60 ปีขึ้นไปเกิน 28% ของคนทั้งประเทศ

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged society) เป็นเพราะอัตราการเกิดของประชากรไทยลดลง โดยในปี 2564 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการตายมากกว่าการเกิดเป็นครั้งแรก (อ้างอิงสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง)

ซึ่งตัวเลขของการตายในไทยมากกว่าการเกิดถึง 19,080 คน ส่วนหนึ่งการตายอาจจะเป็นผลมาจาก COVID-19 ที่ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัวเสียชีวิตเร็วขึ้น

และในปี 2564 ไทยมีเด็กเกิดใหม่เพียง 544,570 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำที่สุดในรอบ 70 ปี ซึ่งหนึ่งในสาเหตุที่มีอัตราการเกิดต่ำในปี 2564 ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกี่ยวข้องกับ COVID-19 เพราะมีความเสี่ยงจากโรคระบาดจำนวนมาก แต่อีกหนึ่งสาเหตุคือ การที่คนไทยแต่งงาน หรือจดทะเบียนสมรสน้อยลง และอยู่เป็นโสดมากขึ้น

ทีนี้เรามาดูผลกระทบกันบ้างว่า สังคมผู้สูงอายุที่เรากำลังเป็นอยู่นี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรอย่างไรบ้าง?

การที่โครงสร้างประชากรของประเทศใดประเทศหนึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากมาย ทั้งในแง่ของการดูแลผู้สูงอายุของครอบครัวที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เพราะผู้สูงอายุจะพึ่งพาตัวเองได้น้อยลง นอกจากนี้ยังกระทบไปถึงระบบสาธารณะสุขของประเทศ ที่จะต้องมีมาตรการรองรับผู้สูงอายุ ทั้งทางการแพทย์ และสาธารณะสุข

นอกจากนี้อีกหนึ่งประเด็นที่ประเทศไทยกำลังได้รับผลกระทบอยู่คือ อัตราภาวะเจริญพันธุ์ (Total Fertility Rate: TFR) ที่กำลังลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลกระทบต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพราะการที่มีจำนวนแรงงานลดน้อยลงเท่ากับว่าผลผลิตของประเทศจะน้อยลง (ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ GDP ของประเทศ)

ผลกระทบนี้จะแสดงให้เห็นชัดเจนในประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพาแรงงานมากกว่าเทคโนโลยี เพราะหากประเทศใดก็ตามไม่มีเทคโนโลยีที่ทุ่นแรงได้ในระดับสูง ก็จะไม่สามารถทดแทนแรงงานจากคนได้ การผลิตสินค้า และบริการก็จะน้อยตามไปด้วยจึงเป็นปัญหาเร่งด่วนที่หลายประเทศต้องรีบแก้ไขด้วยการกระตุ้นการมีบุตรมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยในรอบ 60 ปี
แต่ก่อนที่ไทยเราจะประสบปัญหาเหล่านี้ หากย้อนกลับไปมองถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทยเมื่อประมาณ 60 กว่าปีที่แล้วนั้น เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และนโยบายได้อย่างชัดเจน โดยมีข้อมูลว่าอัตราภาวะเจริญพันธุ์ของประเทศไทยเคยอยู่ที่ 6% เมื่อราวๆ 60 ปีก่อนพูดให้เห็นภาพง่าย ๆ คือ แต่ละครอบครัวจะมีลูกโดยเฉลี่ยประมาณ 6 คน

แต่ในขณะนั้น การมีลูกมากถึง 6 คน ก็กลายเป็นการถ่วงโอกาสการพัฒนาของประเทศเช่นกัน เพราะมีประชากรที่พึ่งพาตัวเองได้น้อยกว่าแรงงานที่มี จึงทำให้รัฐบาลในยุคนั้นได้เริ่มกำหนดนโยบายลดอัตราการเพิ่มประชากรไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2515-2519) โดยมุ่งดำเนินการลดอัตราการเพิ่มประชากรอย่างต่อเนื่อง

การควบคุมประชากรนั้น ดูเหมือนจะได้ผลเป็นอย่างดี ประกอบกับการสนับสนุนการเพิ่มขึ้นของอัตราการมีส่วนร่วมในกําลังแรงงานของสตรีที่มีการรณรงค์กันอย่างมากในยุคนั้น ได้ทำให้อัตราภาวะเจริญพันธุ์ลดลงอย่างต่อเนื่อง (เมื่อผู้หญิงทำงานนอกบ้านมากขึ้น การมีครอบครัวและมีบุตรจึงน้อยลงตาม)

เมื่อการมีบุตรเริ่มน้อยลงจนถึงขั้นที่ไม่ส่งผลดีต่อสังคมและเศรษฐกิจ ทางรัฐบาลไทยจึงได้เริ่มกลับลำนโยบายอีกครั้งในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2550-2554) เพื่อกระตุ้นให้ประชากรมีบุตรมากขึ้น แต่ปัญหานี้ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้

โดยข้อมูลสถิติสาธารณสุข ปี 2562 พบอัตราภาวะเจริญพันธุ์อยู่ที่ระดับ 1.29 ซึ่งการลดลงของภาวะเจริญพันธุ์อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในระดับประเทศ โดยประเด็นเหล่านี้ได้ถูกบรรจุให้เป็น “วาระแห่งชาติ” อีกครั้ง เพื่อให้อัตราการเจริญพันธุ์ขยับขึ้นมาอยู่ในตัวเลขที่เหมาะสม โดยตัวเลขที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) มองว่าเป็นตัวเลขที่สำคัญในการทำให้ประชากรมีเสถียรภาพคือ 2.1

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันไทยก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ สาเหตุเป็นเพราะสังคมปัจจุบันคนเลือกแต่งงานน้อยลง มาจากหลายปัญหา ทั้งโรคระบาด ทั้งภาวะเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อที่กระทบเป็นวงกว้าง จึงทำให้คู่รักมองว่า การมีลูก หรือการแต่งงานอาจเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น หรืออาจเป็นเรื่องรองเมื่อต้องคิดถึงความมั่งคั่ง และมั่นคงเสียก่อน

โดยในปี 2564 คนไทยทั่วประเทศจดทะเบียนสมรสเพียงแค่ 240,979 คู่ ลดลง 11.19% จากปี 2563 และยังเป็นการจดทะเบียนสมรสที่น้อยที่สุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2555

อีกหนึ่งในประเทศที่กำลังได้รับผลกระทบจากสังคมผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก คือ จีน โดยจีนเคยบังคับใช้นโยบายลูกคนเดียวตั้งแต่ปี 2523 ถึง 2558 แต่ต่อมาได้เปลี่ยนกลับมาเป็นนโยบายลูก 3 คน หลังจากจีนอยู่ในภาวะจำนวนประชากรลดลง โดยจีนมีอัตราการเจริญพันธุ์ (Fertility Rate) อยู่ที่ 1.16 ในปี 2564 ซึ่งเป็นหนึ่งในอัตราเจริญพันธุ์ที่ต่ำที่สุดในโลก

ซึ่งปัญหานี้ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย และจีนเท่านั้น แต่หลาย ๆ ประเทศก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นกัน หากยกตัวอย่างประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว คือ สิงคโปร์ (ประเทศที่มีผู้สูงวัยมากที่สุดในอาเซียน) และเวียดนามก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เป็นสังคมผู้สูงวัยเช่นเดียวกัน ส่วนประเทศอินโดนีเซีย เมียนมาร์ และมาเลเซีย ยังถูกจัดเป็นประเทศที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยในปัจจุบัน

สำหรับผลกระทบจากการที่หลายประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัย แต่ยังไม่มีการจัดการที่ดีจะก่อให้เกิดภาวะการขาดแคลนแรงงานได้ในอนาคต ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลก โดยที่ภาวะขาดแคลนแรงงานนั้น คือ การที่ ภาวะที่อุปสงค์แรงงานมีมากกว่าอุปทานแรงงานภายใต้ค่าจ้างและเงื่อนไขการจ้างงาน ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ๆ หรือ พูดง่าย ๆ คือ คนขายแรงงาน มีน้อยกว่าความต้องการใช้แรงงานนั่นเอง

สำหรับทางแก้ของประเทศที่พัฒนาแล้ว คือการนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานไร้ทักษะที่ขาดไป เพราะการแก้ปัญหาด้านโครงสร้างประชากรนั้น ใช้เวลาค่อนข้างนาน และไม่แน่ว่าอาจจะแก้ไขไม่ได้ ดังนั้นหากเราไม่สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างประชากรได้อย่างรวดเร็ว การใช้เทคโนโลยีทดแทนคนก็เป็นอีกหนึ่งทางแก้ปัญหา เพื่อรักษาศักยภาพสังคม และเศรษฐกิจให้กับประเทศ

นอกจากนี้การใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าก็ทำให้กระบวนการผลิตต่าง ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ควบคุมต้นทุนการผลิตได้ดีขึ้น และยังสามารถแก้ปัญหาการใช้แรงงานที่น้อยลงได้ดีอีกด้วย

เขียนและเรียบเรียบ : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ที่มา : IQ , chula

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #แรงงาน #ปัญหาขาดแคลนแรงงาน #ตลาดแรงงาน