กลุ่มบริษัทเอมิเรตส์ เผยผลประกอบการรอบครึ่งปี 2567-2568 ด้วยกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์
- กลุ่มบริษัททำสถิติใหม่ในผลประกอบการรอบครึ่งปีสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ด้วยกำไรก่อนหักภาษี[1]อยู่ที่ 1.04 หมื่นล้านดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้พุ่ง 5% เป็น 7.08 หมื่นล้านดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (1.93 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยมีแรงหนุนจากความต้องการของลูกค้าที่แข็งแกร่งในทุกกลุ่มธุรกิจ
- สายการบินเอมิเรตส์รายงานรายรับเพิ่มขึ้น 5% แตะ 6.22 หมื่นล้านดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (1.69 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) และกำไรก่อนหักภาษีอยู่ที่ 9.7 พันล้านดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงความต้องการในการเดินทางและขนส่งสินค้าที่แข็งแกร่งทั่วทุกภูมิภาค รวมถึงความสามารถในการดึงดูดลูกค้าผ่านการลงทุนอย่างต่อเนื่องในผลิตภัณฑ์และบริการ
- dnata ทำรายรับเพิ่มขึ้น 11% อยู่ที่ 04 หมื่นล้านดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากการขยายการดำเนินงานเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า มีกำไรก่อนหักภาษี 720 ล้านดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (196 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลดลง 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ประธานกลุ่มบริษัทเอมิเรตส์เผยผลกำไรที่สร้างสถิติใหม่นี้มาจากโมเดลธุรกิจขององค์กรที่แข็งแกร่งและการเติบโตของเศรษฐกิจดูไบ พร้อมเตรียมลงทุนต่อเพื่อยกระดับประสบการณ์ลูกค้า ดูแลพนักงาน และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อเสริมสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ
วันนี้กลุ่มบริษัทเอมิเรตส์ประกาศผลประกอบการครึ่งปีแรกที่ดีที่สุด ด้วยกำไรก่อนหักภาษี 1.04 หมื่นล้านดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับหกเดือนแรกของปี 2567-2568 ทุบสถิติกำไรก่อนหักภาษีจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาปีงบการเงินนี้นับเป็นครั้งแรกที่กลุ่มบริษัทเอมิเรตส์ต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเริ่มใช้ในปี 2566 หลังหักภาษี 9% กำไรสุทธิของกลุ่มบริษัทอยู่ที่ 9.3 พันล้านดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) กลุ่มบริษัทเอมิเรตส์แสดงถึงความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่ง โดยมี EBITDA ที่ 2.04 หมื่นล้านดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลดลงเล็กน้อยจาก 2.06 หมื่นล้านดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปีที่แล้ว
รายได้ของกลุ่มบริษัทเอมิเรตส์อยู่ที่ 7.08 หมื่นล้านมีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (1.93 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567-2568 เพิ่มขึ้น 5% จาก 6.73 หมื่นล้านดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (1.83 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปีที่แล้ว สะท้อนถึงความต้องการของลูกค้าอันแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในทุกกลุ่มธุรกิจและทุกภูมิภาค
กลุ่มบริษัทเอมิเรตส์ปิดครึ่งปีแรกของปี 2567-2568 ด้วยสถานะเงินสด 4.37 หมื่นล้านดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (1.19 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 ลดลงจาก 4.71 หมื่นล้านดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (1.28 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2567 โดยกลุ่มบริษัทได้ใช้เงินสดสำรองที่แข็งแกร่งของตนในการรองรับความต้องการทางธุรกิจ รวมถึงการชำระค่าคำสั่งซื้อเครื่องบินขนส่งใหม่และการชำระหนี้ นอกจากนี้ยังจ่ายเงินปันผลจำนวน 2 พันล้านดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ให้แก่ผู้เป็นเจ้าของตามที่ได้ประกาศไว้ ณ สิ้นปีการเงิน 2566-2567
ชีคอาเหม็ด บิน ซาอิด อาล มักตูม ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินและกลุ่มสายการบินเอมิเรตส์ กล่าวว่า “กลุ่มบริษัทเอมิเรตส์ได้ทำลายสถิติผลประกอบการของปีที่ผ่านมาและสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมในครึ่งปีแรกของปี 2567-2568 ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพของโมเดลธุรกิจที่พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการเติบโตของดูไบในฐานะเมืองที่ผู้คนเลือกมาอยู่อาศัย ทำงาน ท่องเที่ยว เชื่อมต่อการเดินทาง และดำเนินธุรกิจ” “ความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มบริษัทเอมิเรตส์ทำให้เราสามารถลงทุนในสิ่งที่จำเป็นต่อความสำเร็จอันต่อเนื่องของเรา เรากำลังลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ สำหรับลูกค้า นำเทคโนโลยีขั้นสูงและโครงการนวัตกรรมต่าง ๆ มาช่วยขับเคลื่อนการเติบโต รวมถึงดูแลพนักงานของเราที่ทำงานอย่างหนักทุกวันเพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยและความพึงพอใจของลูกค้า”
“เราหวังว่าความต้องการของลูกค้าจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องไปตลอดปี 2567-2568 และเรามุ่งมั่นที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างรายได้เมื่อมีเครื่องบินใหม่เข้าร่วมฝูงบินของสายการบินเอมิเรตส์ และเมื่อ dnata มีสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ ๆ พร้อมให้บริการ แนวโน้มถือว่าเป็นบวก แต่เราจะไม่หยุดอยู่แค่นี้ เราจะคงความคล่องตัวในการใช้ทรัพยากรและศักยภาพของเราในตลาดแห่งความผันผวนนี้” ชีคอาเหม็ด กล่าวเสริม ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานและกิจกรรมทางธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น ฐานพนักงานของกลุ่มบริษัทเอมิเรตส์เพิ่มขึ้น 3% จากวันที่ 31 มีนาคม 2567 เป็นจำนวนทั้งหมด 114,610 คน ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 โดยทั้งเอมิเรตส์และ dnata ผลักดันการสรรหาบุคลากรเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับความต้องการในอนาคต
สายการบินเอมิเรตส์
เอมิเรตส์ยังคงขยายเครือข่ายการบินอย่างต่อเนื่องและเพิ่มทางเลือกในการเชื่อมต่อผ่านศูนย์กลางในดูไบ โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2567-2568 เอมิเรตส์ได้เพิ่มเที่ยวบินไปยัง 8 เมือง ได้แก่ อัมสเตอร์ดัม เซบู คลาร์ก ลูอันดา ลียง มาดริด มะนิลา และสิงคโปร์ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เอมิเรตส์ได้กลับมาให้บริการเที่ยวบินรายวันไปยังพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ผ่านสิงคโปร์ ต่อมาในเดือนมิถุนายน เอมิเรตส์ได้เปิดเส้นทางบินรายวันไปยังโบโกตา ผ่านไมอามี เป็นการขยายการให้บริการในทวีปอเมริกาใต้ไปยังประเทศโคลอมเบีย และในเดือนกันยายน เอมิเรตส์ได้เปิดเส้นทางใหม่ไปยังมาดากัสการ์ โดยผ่านเซเชลส์ ทำให้เครือข่ายการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าของสายการบินครอบคลุมถึง 148 สนามบิน ใน 80 ประเทศ ณ วันที่ 30 กันยายน
เอมิเรตส์ขยายตัวเลือกในการเชื่อมต่อให้กับผู้โดยสาร โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2567-2568 เอมิเรตส์ได้ลงนามข้อตกลงใหม่กับพันธมิตรด้านการให้บริการเที่ยวบินร่วม เที่ยวบินระหว่างสายการบิน และการขนส่งอย่างต่อเนื่องหลายรูปแบบรวม 7 ราย ได้แก่ สายการบินแอร์ พีส (AirPeace) สายการบินอาเวียงกา (Avianca) บริษัทการขนส่งทางอากาศ BLADE สายการบินอิตา แอร์เวย์ (ITA Airways) สายการบินไอซ์แลนด์แอร์ (Iceland Air) รถไฟแห่งชาติฝรั่งเศส (SNCF Railway) และ วีว่าแอโรบัส (Viva Aerobus)
ระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึง 30 กันยายน เอมิเรตส์ได้ปรับโฉมเครื่องบินใหม่ 8 ลำ (เครื่องบิน A380 จำนวน 3 ลำ และเครื่องบินโบอิ้ง 777 จำนวน 5 ลำ) ภายใต้โครงการการปรับปรุงด้วยงบประมาณมูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การปรับโฉมในครั้งนี้ทำให้เอมิเรตส์สามารถเปิดตัวห้องโดยสารรุ่นใหม่ได้เร็วขึ้น ซึ่งรวมถึงในเครื่องบินโบอิ้ง 777 4-class ที่มีที่นั่งแบบเอนนอนจัดวางในรูปแบบ 1-2-1 พร้อมมินิบาร์ส่วนตัวในชั้นธุรกิจ และชั้นประหยัดพรีเมี่ยมที่ได้รับความนิยม เครื่องบินโบอิ้ง 777 ลำแรกที่ผ่านการปรับปรุงใหม่ของสายการบินเอมิเรตส์เริ่มให้บริการเส้นทางสู่กรุงเจนีวาในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ตามด้วยโตเกียว ฮาเนดะ และบรัสเซลส์ สำหรับช่วงหกเดือนข้างหน้า เอมิเรตส์วางแผนเพิ่มเส้นทางบินสำหรับเครื่องบินโบอิ้ง 777 ที่ได้รับการปรับโฉมใหม่อีก 10 เส้นทาง ได้แก่ ริยาด ซูริค คูเวต ดัมมัม ชิคาโก บอสตัน ดัลลัส ฟอร์ตเวิร์ธ ซีแอตเทิล นวร์ก-เอเธนส์ และไมอามี-โบโกตา
ภายในสิ้นปีนี้ ผู้โดยสารจะสามารถสัมผัสประสบการณ์ใหม่บนเครื่องบินของเอมิเรตส์ ทั้งเครื่องบิน A380 และเครื่องบินโบอิ้ง 777 รวมถึงชั้นประหยัดพรีเมี่ยมในเส้นทางกว่า 30 เส้นทางสำหรับภาคพื้นดิน เอมิเรตส์ได้ลงทุน 44 ล้านดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อเปิดเลานจ์แห่งใหม่อันมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเอมิเรตส์สำหรับลูกค้าระดับพรีเมี่ยมที่สนามบินลอนดอน สแตนสเต็ด และเจดดาห์ รวมถึงปรับปรุงเลานจ์ที่สนามบินปารีส-ชาร์ล เดอ โกล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ที่กำลังดำเนินการเพื่อมุ่งพัฒนาเครือข่ายเลานจ์ของเอมิเรตส์ และในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เอมิเรตส์ได้เปิด Travel Store แห่งใหม่ในฮ่องกง ซึ่งถือเป็นสาขาแรกนอกสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และยังมีแผนเปิดร้านค้าที่เน้นการสร้างประสบการณ์เพิ่มเติมภายในเครือข่ายของตนตามแผนกลยุทธ์การค้าปลีก
เอมิเรตส์ยังคงเดินหน้าโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืน (SAF) ในพื้นที่ที่สามารถนำมาใช้ได้และมีความเหมาะสม โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567-2568 เอมิเรตส์ได้เริ่มใช้ SAF เป็นครั้งแรกในสิงคโปร์และที่สนามบินนานาชาติลอนดอน ฮีทโทรว์ เอมิเรตส์ได้เข้าร่วมกับโครงการ Aviation Initiative for Renewable Energy (aireg) ในประเทศเยอรมนี และลงนามเป็นพันธมิตรในอุตสาหกรรมกับโครงการ Aviation Impact Accelerator (AIA) ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวิธีการลดการปล่อยมลพิษ การเป็นพันธมิตรกับ AIA ยังนับเป็นการเบิกจ่ายครั้งแรกจากกองทุนมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่เอมิเรตส์จัดสรรไว้เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมความยั่งยืนสำหรับการบิน
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567-2568 เอมิเรตส์ได้เร่งการลงทุนเพื่อเสริมสร้างการรับรู้ของแบรนด์ในระดับโลก โดยได้ลงนามข้อตกลงใหม่เพื่อเป็นสายการบินพันธมิตรอย่างเป็นทางการของการแข่งขันเทนนิสวิมเบิลดัน นอกจากนี้ เอมิเรตส์ยังขยายความร่วมมือระยะยาวกับสภาคริกเก็ตนานาชาติ (ICC) ต่อไปอีก 8 ปี และสโมสรฟุตบอล เอสแอล เบนฟิกา ในประเทศโปรตุเกสอีก 5 ปี ในด้านกำลังการผลิตโดยรวมในช่วงหกเดือนแรกของปีเพิ่มขึ้น 5% อยู่ที่ 29.9 พันล้านตันกิโลเมตร (ATKM) เนื่องจากการขยายเที่ยวบิน ความจุที่วัดจากต้นทุนที่นั่งต่อกิโลเมตร (ASKM) เพิ่มขึ้น 4% ในขณะที่ปริมาณผู้โดยสารที่วัดได้ต่อกิโลเมตร (RPKM) เพิ่มขึ้น 2% โดยมีที่นั่งผู้โดยสารเฉลี่ย 80.0% เทียบกับ 81.5% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยสายการบินเอมิเรตส์ให้บริการผู้โดยสารกว่า 26.9 ล้านคนระหว่างวันที่ 1 เมษายนถึง 30 กันยายน 2567 เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
เอมิเรตส์ สกายคาร์โก มีการขนส่งสินค้ากว่า 1,198,000 ตันในช่วงหกเดือนแรกของปี เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากการเติบโตของอีคอมเมิร์ซในจีนและการส่งสินค้าที่มุ่งหน้าไปยังดูไบ โดย เอมิเรตส์ สกายคาร์โก ได้ขยายขีดความสามารถในการขนส่งเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ผ่านการรับมอบเครื่องบินโบอิ้ง 777 สำหรับขนส่งสินค้าใหม่ 1 ลำ และการเช่าเครื่องบินโบอิ้ง 747F เพิ่มอีก 2 ลำ นอกจากนี้ ในช่วงหกเดือนแรกของปี 2567-2568 เอมิเรตส์ยังได้สั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 777 สำหรับขนส่งสินค้าเพิ่มอีก 10 ลำเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต ด้วยความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากลูกค้าต่อการบริการเฉพาะทางและเครือข่ายการขนส่งสินค้าที่ครอบคลุมทั้งการขนส่งผ่านเครื่องบินขนส่งและการขนส่งใต้ท้องเครื่องบินโดยสารของ เอมิเรตส์ สกายคาร์โก ทำให้ผลตอบแทนจากการขนส่งสินค้าของสายการบินเพิ่มขึ้น 11%
กำไรก่อนหักภาษีของสายการบินเอมิเรตส์ในครึ่งปีแรกของปี 2567-2568 ทำสถิติใหม่ที่ 9.7 พันล้านดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจาก 9.5 พันล้านดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขณะที่กำไรหลังหักภาษีอยู่ที่ 8.7 พันล้านดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในส่วนของรายรับของสายการบินเอมิเรตส์ รวมถึงรายได้จากการดำเนินงานอื่น ๆ อยู่ที่ 6.22 หมื่นล้านดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (1.69 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับ 5.95 หมื่นล้านมีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (1.37 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์ของสายการบินเป็นผลมาจากความต้องการที่แข็งแกร่งทั้งในด้านการเดินทางและขนส่งสินค้าจากหลายตลาด รวมถึงความสามารถของสายการบินในการนำเสนอคุณค่าและบริการที่ยอดเยี่ยมแก่ลูกค้า ต้นทุนการดำเนินงานโดยตรงของเอมิเรตส์ (รวมถึงเชื้อเพลิง) เพิ่มขึ้น 6% ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เชื้อเพลิงยังคงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของต้นทุนการดำเนินงานของสายการบิน อยู่ที่ 32% เทียบกับ 34% ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วผลกำไร EBITDA ของเอมิเรตส์อยู่ที่ 1.91 หมื่นล้านดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (5.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลดลงเล็กน้อยคิดเป็น 2% จาก 1.95 หมื่นล้านดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (5.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งมาจากความต้องการของลูกค้าและการขยายการดำเนินงานในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา
[1] ภาษีเงินได้นิติบุคคลของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เริ่มมีผลบังคับใช้กับกลุ่มบริษัทเอมิเรตส์ตั้งแต่ปีการเงิน 2567-2568ดังนั้น ตัวเลขกำไรหลังหักภาษี (PAT) สำหรับเดือนกันยายน 2567 และกันยายน 2566 จึงไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้โดยตรง#####################################
ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus
Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus