สถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้ ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็มักจะได้ยินผู้คนกล่าวถึงเรื่องการเมืองอยู่เสมอ ด้วยสถานการณ์ที่ค่อนข้างดุเดือด ซึ่งไม่เพียงเป็นประเด็นแค่ภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นกระแสทอล์คออฟเดอะทาวน์ที่สื่อจากทั่วโลกให้ความสนใจและจับตามองถึงผลลัพธ์ว่าจะในท้ายที่สุดแล้ว ประเทศไทยจะได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เมื่อไหร่ และใครจะได้เป็น
ท่ามกลางกระแสเหล่านี้ ทำให้มีผู้คนไม่น้อย เกิดข้อกังขาในแง่ของผลการเลือกตั้งที่แม้ว่าผู้ที่ได้รับคะแนนเป็นอันดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่สามารถจะขึ้นรับตำแหน่งนายกคนต่อไปได้ทันที แต่ยังต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ มากมาย ซึ่งดูจะผิดจากวิสัยของการเลือกตั้งปกติไปมาก ทำให้หลาย ๆ คนไม่พอใจกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งจากประเด็นนี้ ทำให้นึกไปถึงเรื่องราวการโกงเลือกตั้งที่ฉาวโฉ่เรื่องหนึ่งของโลก จนได้รับการบันทึกว่าเป็น ‘การเลือกตั้งที่ฉ้อฉลที่สุดในประวัติศาสตร์’ ลงใน ‘Guinness Book of Records’
วันนี้ Business+ จะพาทุกท่านย้อนวันวานไปกับ ‘การโกงเลือกตั้งที่อัปยศที่สุดในประวัติศาสตร์’ และถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะทำให้นึกถึงประเทศไม่ใกล้ไม่ไกล แต่นี่ไม่ใช่เรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้น หากแต่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นมายาวนานตั้งแต่ปี ค.ศ.1920 ของอดีตประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐไลบีเรีย ที่ตั้งอยู่ในเขตแอฟริกาตะวันตก นามว่า ‘Charles Dunbar Burgess King’
‘Charles Dunbar Burgess King’ คือใคร?
‘Charles Dunbar Burgess King’ เป็นชายเชื้อสายอเมริกา-ไลบีเรียและเซียร์ราลีโอนครีโอล มีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ.1875-1961 อาศัยอยู่ที่สาธารณรัฐไลบีเรีย เข้าสู่เส้นทางการเมืองด้วยการเป็นสมาชิกของพรรค True Whig Party ซึ่งปกครองสาธารณรัฐไลบีเรียตั้งแต่ปี ค.ศ.1878-1980 โดย ‘Charles’ ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการแห่งรัฐไลบีเรียตั้งแต่ปี ค.ศ.1912 เท่านั้นยังไม่พอ เส้นทางทางการเมืองของ ‘Charles’ ดูเหมือนจะยิ่งสดใสขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในปี ค.ศ.1919
อย่างไรก็ตาม การปกครองประเทศโดย ‘Charles’ ไม่ได้เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็นนัก เนื่องจากเป็นการบริหารที่เต็มไปด้วยเรื่องอื้อฉาว ไม่ว่าจะเป็นการที่เขายังคงสนับสนุนกลไกการอุปถัมภ์และการทุจริตของพรรค True Whig Party หรือภาวะทางเศรษฐกิจและแผนการพัฒนาประเทศที่ต่ำกว่าความคาดหวังอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอัตราการเข้าถึงการศึกษาจะสูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน เขากลับล้มเหลวในการป้องกันไลบีเรียจากความไม่สงบทางการเมืองที่ขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญต่อประเทศเป็นอย่างมาก
โดยในช่วงต้นปี 1920 วิกฤตการณ์ทางการเงินของไลบีเรียเลวร้ายถึงขีดสุด ถึงขั้นที่ ‘Charles’ ต้องเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อแสวงหาการปรับโครงสร้างหนี้ของประเทศที่มีภาระหนี้มหาศาล และแม้ว่าด้วยข้อตกลงระหว่างสองประเทศในปี 1918 ทำให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จะมีมติปล่อยเงินกู้ให้แก่ไลบีเรียมูลค่า 5 ล้านดอลลาร์ (หรือเทียบเท่ากับ 82 ล้านดอลลาร์ในปี 2022)
นอกจากนี้ ในปี ค.ศ.1925 ‘Firestone Rubber Company’ ได้ทำการตกลงเช่าที่ดิน 1,000,000 เอเคอร์ (หรือ 4,000 กิโลเมตร) เป็นเวลา 99 ปี ในไลบีเรีย เพื่อปลูกยาง (‘Firestone’ เริ่มส่งออกยางจากไลบีเรียในปี ค.ศ.1934 ส่งผลให้เศรษฐกิจของไลบีเรียต้องพึ่งพายางดังกล่าว) อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา ‘Finance Corporation of America’ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ ‘Firestone’ ได้ให้เงินกู้ 5 ล้านดอลลาร์ แก่รัฐบาลไลบีเรีย ซึ่งไลบีเรียตั้งใจนำไปใช้ในการรวมบัญชีและผูกมัดหนี้ และจัดหาทุนในการปรับปรุงสาธารณะ ภายใต้เงื่อนไขของเงินกู้ โดยประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ ได้แต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินให้กับไลบีเรียซึ่งมีอำนาจในการอนุมัติและไม่อนุมัติค่าใช้จ่ายทั้งหมดของรัฐบาลไลบีเรีย นอกจากนี้รัฐบาลไลบีเรียยังต้องใช้ เงินกู้ 2.5 ล้านดอลลาร์ เพื่อซื้อพันธบัตรในอัตราร้อยละ 10 ส่วนที่เหลือกว่า 1.1 ล้านดอลลาร์ นำไปชำระคืนเงินกู้สหรัฐฯ ที่ได้ทำการกู้มาเมื่อปี ค.ศ. 1912 ด้วยเหตุนี้ รายได้ที่ได้รับจากเงินกู้ปี ค.ศ.1934 มีจำนวนน้อยมากจึงไม่พร้อมช่วยเหลือประเทศ อีกทั้งการชำระคืนเงินกู้ก็อยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 40 ของรายได้ประจำปีของรัฐบาลไลบีเรียเลยทีเดียว
เรื่องอื้อฉาวของ ‘Charles’ ยังไม่จบเพียงเท่านั้น เมื่อต่อมาในปี ค.ศ.1927 เป็นอีกครั้งที่เขาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี ด้วยคะแนนเสียง 234,000 คะแนน ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งถึง 15 เท่า โดยในขณะนั้นไลบีเรียมีผู้ลงทะเบียนลงคะแนนเพียง 15,000 คนเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ภายหลังการเลือกตั้ง ‘Thomas Faulkner’ หนึ่งในผู้ลงสมัคร ได้ออกมาแฉ ‘Charles’ รวมถึงสมาชิกหลายรายในพรรค ‘True Whig Part’ ในแง่ของการจัดหาและขายแรงงานตามสัญญาทาส ซึ่งภายหลังการตรวจสอบจากคณะกรรมการจาก ‘สันนิบาตแห่งชาติ’ พบว่ามีการบังคับใช้แรงงานในการก่อสร้างงานสาธารณะบางประเภท เช่น การก่อสร้างถนน สำหรับการขนส่งไปต่างประเทศ และงานอื่น ๆ อีกทั้งยังพบว่าบางเผ่าก็ฝึกการเป็นทาสในบ้านซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นทาส โดยมีรองประธานาธิบดี ‘Allen Yancy’ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่น ๆ ของรัฐบาลไลบีเรีย ตลอดจนหัวหน้าเขตและผู้อำนวยการเขต เป็นผู้อนุมัติการบังคับใช้แรงงานเหล่านี้
ด้วยเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับแรงงานทาสนี้เอง ส่งผลให้ ‘Charles’ ลาออกจากตำแหน่งในปี ค.ศ.1930 ด้วยความอับอาย เนื่องจาก ‘Charles’ ถูกบันทึกว่าเป็นประธานาธิบดีที่ไม่ได้มีชื่อเสียงกระฉ่อนในแง่ของการของการบังคับใช้แรงงานทาสเท่านั้น แต่ยังมีการทุจริตที่รุนแรง, การเลือกที่รักมักที่ชังในการจ้างเจ้าหน้าที่ซึ่งเลือกจ้างคนสนิทมากกว่าผู้มีความรู้ความสามารถในการทำงานในด้านต่าง ๆ และการขาดความโปร่งใสเกี่ยวกับการตัดสินใจของรัฐบาลเกี่ยวกับสวัสดิการของประชาชน และด้วยเหตุนี้เองทำให้ ‘Charles Dunbar Burgess King’ ถูกบันทึกชื่อลงใน ‘Guinness Book of Records’ ในปี ค.ศ. 1982 สำหรับรายงานการเลือกตั้งที่ฉ้อฉลที่สุดในประวัติศาสตร์
จากเรื่องราวของ ‘Charles’ จะเห็นได้ว่า การที่ประเทศได้ผู้นำที่ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต และขาดความสามารถในการบริหารจัดการปัญหาด้านต่าง ๆ อาจนำมาซึ่งความเดือดร้อนอย่างมหาศาลให้กับประเทศได้ ดังนั้น การให้ความสำคัญในการเลือกผู้นำที่มีความรู้ ความสามารถ และมีความโปร่งใส รวมถึงการคัดเลือกเจ้าหน้าที่ที่มีจะเข้ามาทำงานในส่วนงานต่าง ๆ ซึ่งต้องอาศัยทักษะและความเชี่ยวชาญตามสาขาวิชาชีพ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากการบริหารจัดการประเทศ มีผลต่อประชาชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญของแต่ประเทศ หากประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำ ท้ายที่สุดแล้วก็จะส่งผลกระทบถึงความมั่นคงของประเทศด้วยเช่นกัน
ที่มา : วิกิพีเดีย
เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/
#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #โกงเลือกตั้ง #การโกงเลือกตั้งที่อัปยศที่สุดในประวัติศาสตร์ #ประวัติศาสตร์ #คนในประวัติศาสตร์ #Guinness Book #GuinnessBookOfRecords