ขึ้นราคาไข่ไก่! ความทุกข์ผู้บริโภค ความหวังเกษตรกร

‘ไข่ไก่’ ถือเป็นหนึ่งในสินค้าบริโภคที่มีการซื้อขายอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นในระดับครัวเรือนหรือภาคธุรกิจก็ตาม เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งรวมสารอาหารที่ทุกวัยต้องการแล้ว ยังเป็นอาหารที่ทานง่าย และที่สำคัญคือมีราคาที่ไม่ว่าใครก็สามารถจับต้องได้ ทำให้ไข่ไก่เป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการตลาดอยู่ตลอดเวลา โดยข้อมูลจาก ‘กรมการค้าภายใน’ พบว่าในปี 2566 ประเทศไทยมีไข่ไก่ออกสู่ตลาดวันละ 43.99 ล้านฟอง ขณะที่ตัวเลขการบริโภคอยู่ที่วันละ 42.47 ล้านฟอง

อย่างไรก็ดี ปรากฏข่าวที่เรียกเสียงโอดครวญจากผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย เมื่อเครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ 4 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด, สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน จำกัด, สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ลุ่มแม่น้ำน้อย จำกัด และสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี จำกัด ได้ออกประกาศราคาแนะนำไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเกษตรกร วันที่ 11 มกราคม 2567 โดยมีการปรับขึ้นราคาไข่ไก่ที่แผงละ 9 บาท หรือฟองละ 30 สตางค์ จาก 3.50 บาท/ฟอง เป็น 3.80 บาท/ฟอง

ซึ่งแน่นอนว่าภายหลังการประกาศดังกล่าว ได้เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย เพราะหากดูจากข้อมูลด้านบน จะเห็นได้ว่าในประเทศไทยมีการบริโภคไข่ไก่ที่ค่อนข้างสูง แน่นอนว่าการปรับขึ้นราคาขายไข่ไก่ ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคทุกหย่อมหญ้า

แต่หากมองในมุมกลับกัน ในช่วงเวลาเดียวกันนี้อาจมีคนกลุ่มหนึ่งที่กำลังรู้สึกดีใจต่อเหตุการณ์นี้อยู่ นั่นก็คือบรรดาเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ หลังจากที่รอคอยวันนี้มาอย่างยาวนาน โดยหากย้อนไปช่วงเวลาก่อนหน้านี้ จะพบว่ามีข่าวการเรียกร้องขอให้มีการปรับขึ้นราคาขายไข่ไก่จากทางฝั่งเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ เนื่องจากประสบกับภาวะขาดทุนจากหลากหลายปัจจัย และนำมาซึ่งการทยอยเลิกเลี้ยงไก่ไข่ของเกษตรกรไปหลายราย

โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ประกอบไปด้วยปัญหาหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือแม้แต่สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ล้วนส่งผลต่อราคาธัญพืชที่เป็นวัตถุดิบหลักในการทำอาหารสัตว์ อาหารหลักในการเลี้ยงไก่ รวมไปถึงต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นจากอัตราค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากในการเลี้ยงไก่ไข่นั้น จำเป็นต้องทำให้ไก่มีความสุข แต่ด้วยสภาพอากาศประเทศไทยที่ร้อนอบอ้าว ทำให้ผู้เลี้ยงไก่ไข่ต้องใช้พัดลมระบายความร้อนมากขึ้น ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าซึ่งเป็นหนึ่งในต้นทุนปรับตัวเพิ่มตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีในส่วนของค่าจ้างแรงงานที่ขยับขึ้นจากการหาแรงงานยากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า นายอุดม กล่าวว่า ต้นทุนการผลิตไข่ไก่ที่ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตไก่ไข่และไข่ไก่ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) เดือนกันยายน 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 13% จากต้นทุนเฉลี่ยปี 2565 โดยต้นทุนด้านอาหารสัตว์ มีสัดส่วนอยู่ที่ 74% ของต้นทุนทั้งหมด นอกจากนี้ จากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของไก่ไข่ ทำให้ไก่ไข่กินอาหารน้อยลง ซึ่งกระทบทั้งในด้านปริมาณผลผลิตไข่ไก่ที่ปรับตัวลดลงประมาณ 10-20% และขนาดของไข่ไก่ขนาดเล็กที่มีมากขึ้นจากการที่ไก่กินอาหารน้อยลง ส่งผลให้ไข่ไก่ที่ได้รับโดยส่วนมากจึงเป็นไข่ไก่เบอร์ 3-5 คิดเป็นสัดส่วนที่ 50% จากเดิม 30% ซึ่งกระทบต่อราคาขายออก เนื่องจากไข่ไก่เบอร์เล็กมีราคาที่ถูกกว่าไข่ไก่เบอร์ใหญ่

อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 ได้มีการประกาศปรับขึ้นราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มปรับขึ้น 0.20 บาท/ฟอง จาก 3.80 บาท/ฟอง เป็น 4.00 บาท/ฟอง แต่แม้จะมีข่าวดีเช่นนี้ แทนที่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่จะยิ้มออก แต่ข้อมูลจาก นายมงคล พิพัฒสัตยานุวงศ์ นายกสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ระบุว่า ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ไข่ไก่ทุกฟองจะขายได้ราคาตามที่มีการประกาศเอาไว้ จึงกลายเป็นว่าจากที่เกษตรกรพอมีความหวังจากราคาขายที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่เมื่อไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง จึงนำมาซึ่งการขาดทุนสะสม ส่งผลให้เกษตรกรทยอยเลิกเลี้ยงไก่ไข่ไปในที่สุด ดังนั้น นายกสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่จึงได้แนะนำให้ทุกฝ่ายปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน เพราะเมื่อราคาไข่ไก่ขยับตามอุปสงค์อุปทานที่เกิดขึ้น จะทำให้ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคได้ซื้อ-ขายไข่ไก่ในระดับราคาที่สมดุล

อนึ่ง Business+ ได้คำนวณรายได้จากการขายไข่ไก่จากจำนวนบริโภคของคนไทยที่วันละ 42.47 ล้านฟอง หรือคิดเป็นปี จะอยู่ที่ปีละ 15,501.55 ล้านฟอง หากมีการขายไข่ไก่ที่ราคา 3.50 บาท/ฟอง (ก่อนการประกาศปรับขึ้นราคาในปี 2567) เท่ากับปี 2566 จะมีรายได้จากการขายไข่ในประเทศอยู่ที่ 54,255.43 ล้านบาท/ปี ขณะที่หากในปี 2567 สามารถขายไข่ไก่ได้ในราคาตามที่มีประกาศไว้ที่ 3.80 บาท/ฟอง จะส่งผลให้ในปี 2567 จะมีรายได้จากการขายไข่ไก่อยู่ที่ราว 58,905.89 ล้านบาท/ปี หรือคิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น 4,650.46 ล้านบาท โดยการคำนวณนี้ยังไม่นับรวมกรณีที่มีการบริโภคไข่ไก่ต่อวันที่มากขึ้น ซึ่งข้อมูลจากกรมอนามัยได้ตั้งเป้าการบริโภคไข่ไก่ของคนไทยไว้ที่ปีละ 300 ฟอง/คน และหากเป็นไปตามเป้า จะยิ่งเป็นส่วนผลักดันให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นไปอีก

ทั้งนี้ หากเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่มีรายได้ที่สูงขึ้น ก็จะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และเมื่อยังมีผู้ผลิตไข่ไก่ในประเทศเป็นจำนวนมาก ก็จะไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนไข่ไก่ ทำให้ผู้บริโภคยังได้รับประทานไข่ไก่ในราคาที่เหมาะสม ดังนั้น การขึ้นราคาไข่ไก่ แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องที่ถูกใจฝั่งผู้บริโภคนัก แต่ในทางฟากฝั่งของผู้ผลิตอย่างเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ นี่คือช่วงเวลาแห่งความหวังและโอกาส และเมื่อเกษตรกรอยู่ต่อไปได้ ก็จะเป็นผลดีต่อฝั่งผู้บริโภคเช่นกัน

ที่มา : InfoQuest, thaipbs, multimedia

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #ไข่ไก่ #ราคาไข่ไก่ #ขึ้นราคาไข่ไก่ #เศรษฐกิจ #สินค้าบริโภค #เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ #เกษตรกร #ภาคการเกษตร