EGCO Group ประกาศกลยุทธ์ Triple P ระยะ 3 ปี (ปี 2568-2570) มุ่งเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้และกำไร เน้นลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจหลักและแสวงหาโอกาสลงทุนในธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ด้วยงบลงทุนปีละ 30,000 ล้านบาท พร้อมรุกบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อมุ่งตอบโจทย์การเติบโตอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ควบคู่ขับเคลื่อนองค์กรคาร์บอนต่ำ
ดร.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group เปิดเผยว่า ในยุคของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน EGCO Group ได้ทบทวนและปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจระยะ 3 ปี (ปี 2568-2570) โดยมีเป้าหมายสร้างความแข็งแกร่ง 3 ด้าน ได้แก่ การเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้และผลกำไรอย่างยั่งยืน การบรรลุเป้าหมายองค์กรคาร์บอนต่ำ และการปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต
ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวนี้จะขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์ Triple P 3 ด้าน ได้แก่
- Profitability and Performance Energizing เพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้และผลกำไรให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพทางการเงิน เพื่อดูแลอัตราส่วนหนี้สินและรักษาอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัท ตลอดจนให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ถือหุ้น ด้วยนโยบายการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ
- Power and Energy-related Focus เน้นลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจหลักและรากฐานความแข็งแกร่งของ EGCO Group ทั้งโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีความสำคัญต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ผ่านการลงทุนทั้งรูปแบบ M&A และ Greenfield ตลอดจนแสวงหาโอกาสลงทุนในธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง โดยต่อยอดการลงทุนในประเทศที่มีฐานธุรกิจอยู่แล้ว 8 ประเทศ ด้วยการตั้งงบลงทุนปีละ 30,000 ล้านบาท
- Portfolio and People Management บริหารจัดการพอร์ตการลงทุนและทรัพยากรบุคคลให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมุ่งเน้นสร้างความเป็นเลิศในกระบวนการดำเนินงาน (Operational Excellence) ให้ความสำคัญกับการบริหารสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์เพื่อนำรายได้ไปแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ (Asset Recycling) ที่จะสร้างการเติบโตต่อเนื่องในระยะยาว พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับการขยายธุรกิจในระดับสากล ตลอดจนปรับปรุงกระบวนการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกระบวนการต่าง ๆ เพื่อรองรับโอกาสการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต
ทั้งนี้ ภายใต้กลยุทธ์ดังกล่าว EGCO Group กำหนดแผนการดำเนินงาน โดยแบ่งเป็นมุมมอง 4 ด้านตามหลัก Balanced Scorecard ได้แก่
- มุมมองด้านการเงิน (Financial Perspective) หมายถึง การสร้างผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งรายได้และผลกำไร ซึ่งจะส่งผลถึงการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น (Dividend) และการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัท (Credit Rating)
- มุมมองด้านลูกค้า (Customer Perspective) ประกอบด้วย การลงทุนในโรงไฟฟ้าคุณภาพสูงที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน, ขยายการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน, แสวงหาโอกาสลงทุนในธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง, ลงทุนในรูปแบบ M&A และ Greenfield ผ่านการตั้งงบลงทุนปีละ 30,000 ล้านบาท
- มุมมองด้านกระบวนการภายใน (Internal Process Perspective) คือ การคงความเป็นเลิศในกระบวนการทำงาน โดยเฉพาะจากสินทรัพย์ที่มีอยู่ รวมถึงการบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วยการให้ความสำคัญกับการบริหารสินทรัพย์ในเชิงกลยุทธ์ (Asset Recycling) เพื่อการนำไปลงทุนใหม่และสร้างการเติบโตระยะยาว
- มุมมองด้านการเรียนรู้และเติบโต (Learning and Growth Perspective) หมายถึง การปรับโครงสร้างองค์กร ด้วยการพัฒนาด้านทรัพยากรบุคคล เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะการไปปฏิบัติงานต่างประเทศ, นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาผสานในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ, เพิ่มศักยภาพด้าน CSR และการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการอย่างต่อเนื่อง
“EGCO Group เชื่อมั่นว่า กลยุทธ์ Triple P จะตอบโจทย์การเติบโตขององค์กรอย่างอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ด้วยการสร้างความสมดุลระหว่างโอกาสทางธุรกิจ ผลการดำเนินงานที่แข็งแรงอย่างต่อเนื่อง และการบรรลุเป้าหมายเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ ทั้ง 3 ระยะ ได้แก่ เป้าหมายระยะสั้น ภายในปี 2573 เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ของกำลังผลิตทั้งหมด เป้าหมายระยะกลาง ภายในปี 2583 มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และเป้าหมายระยะยาว ภายในปี 2593 จะบรรลุการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon)” ดร.จิราพร กล่าว
สำหรับการดำเนินงานในปี 2568 ECGO Group เดินหน้าลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าและแสวงหาโอกาสลงทุนในธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง อย่างต่อเนื่อง ด้วยการตั้งงบลงทุน 30,000 ล้านบาท การเติบโตทางธุรกิจในปีหน้าจะมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากโครงการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ การรับรู้รายได้เต็มปีจากการเข้าซื้อหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้า Compass ในสหรัฐอเมริกา และจากการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้า EGCO Cogeneration ส่วนขยาย จ.ระยอง, การรับรู้รายได้จากการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง Yunlin ในไต้หวัน, การรับรู้รายได้จากการขายโครงการพลังงานหมุนเวียนและการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของ APEX ในสหรัฐอเมริกา, การเจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าใหม่ของโรงไฟฟ้า Quezon ในฟิลิปปินส์ ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสปิดดีลโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ในรูปแบบ M&A ทั้งโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักและพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะสามารถรับรู้รายได้ทันที