หายนะครั้งใหญ่กำลังจะมาถึง!! หนักกว่า COVID-19 หรือ เศรษฐกิจถดถอย เปิด 5 อุตสาหกรรมต้องเร่งเรียนรู้ ‘คาร์บอนเครดิต’

หลังจากที่เราได้ทำความรู้จักกับ คาร์บอนเครดิต (Carbon credit) กันมาพอสมควรแล้ว ทำให้เรามองเห็นความสำคัญของโมเดลนี้กันมากขึ้น แต่ยังเกิดข้อสงสัยว่าในประเทศไทยที่โมเดลบอนเครดิตยังไม่ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลาย และยังไม่มีแพลตฟอร์มที่เปิดให้ซื้อขายกันได้อย่างเป็นทางการจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างในอนาคต?

ทาง ‘Business+’ จึงได้ติดต่อเพื่อสัมภาษณ์พิเศษจากหน่วยงานที่เป็นผู้ผลักดันคาร์บอนเครดิต อย่าง ‘สภาอุตสาหกรรม’ เพื่อไขข้อข้องใจ และตอบคำถามว่าทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับคาร์บอนเครดิตเป็นอย่างมาก

โดย ‘คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล’ รองประธานสภาอุตสาหกรรม-ส.อ.ท. งานส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรม เปิดเผยกับเราว่า สภาอุตสาหกรรมได้มองเห็นความสำคัญของคาร์บอนเครดิตมาตลอด

และยิ่งเห็นความสำคัญมากขึ้นภายหลังจากการประชุมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 20 (COP20) ที่ผ่านมา ได้มีการพูดถึงเรื่องการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรม เพราะหากไม่มีการควบคุม คาดการณ์ว่าภายในปี 2100 อุณหภูมิของโลกจะขึ้นไปสูงถึง 2.7-3.4 องศาเซลเซียส

ซึ่งอุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้จะเป็นความ ‘หายนะ’ อันยิ่งใหญ่ ทำให้เกิดโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศ รวมไปถึงเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างน่ากลัว ซึ่งจะคุกคามความเป็นอยู่ของมนุษย์

ยกตัวอย่างเช่น การละลายของน้ำแข็งในทั่วโลก ที่ก่อให้เกิดน้ำท่วม สึนามิ หรือภัยธรรมชาติที่เราคาดไม่ถึงมากมาย ซึ่ง สภาอุตฯ มองว่าจะเป็นภัยคุกคามที่หนักกว่า COVID-19 หรือ การถดถอยของเศรษฐกิจ (Recession) เสียอีก เพราะหายนะครั้งนี้สามารถทำลายมนุษย์ และทำลายโลกได้เลยทีเดียว

และที่ผ่านมาสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเป็นเจ้าภาพในเรื่องของการควบคุมก๊าซเรือนกระจก ได้มีการควบคุมอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาสู่โลกจำนวนมาก เช่น
– อุตสาหกรรมผลิตปูน
– อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และคาร์บอนแบล็ก
– อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม
– อุตสาหกรรมผลิตปูนขาว
– และอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

ซึ่ง 5 กลุ่มอุตสาหกรรมนี้เป็นกลุ่มที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด 5 อันดับแรก (เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย)

เพราะฉะนั้น 5 อุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ต้องซื้อคาร์บอนเครดิต เพราะ EU มีการควบคุมการส่งออกหรือนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศด้วยมาตรฐาน Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) หรือ กลไกการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน

หากอุตสาหกรรมในประเทศไทยไม่สามารถควบคุมการผลิตที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกได้ตามมาตรฐานดังกล่าว ผู้ส่งออกจะต้องเสียภาษีคาร์บอนเครดิตเมื่อทำการส่งออกไปยัง EU ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนของผู้ส่งออกในไทยเพิ่มขึ้น และก่อให้เกิดการเสียเปรียบเชิงแข่งขัน

ดังนั้น ประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศพึ่งพารายได้จากการส่งออกไปทั้งยุโรปและสหรัฐฯ (กว่า 70% ของ GDP) ในอนาคตเราจะเจอกับอุปสรรค ด้วยการกีดกันการค้าจากมาตรฐานใหม่ เราจึงจำเป็นต้องปรับตัว ไม่เช่นนั้นจะทำให้เราไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้

ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการเตรียมแผนเพื่อเปิดตัวแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตอย่างเป็นทางการ หลังจากที่เมื่อกลางปี 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานพัฒนาตลาดคาร์บอนภายในประเทศ ซึ่งปัจจุบันแพลตฟอร์มดังกล่าวได้ถูกพัฒนาจนมีความก้าวหน้าไปอย่างมาก และคาดการณ์ว่าจะสามารถเปิดทดลองใช้งาน และแล้วเสร็จในเร็ว ๆ นี้

ซึ่งแพลตฟอร์มนี้ ถือเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้ซื้อขายคาร์บอนเครดิตในแต่ลอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันสมาชิกในสภาอุตสาหกรรมมีทั้งอุตสาหกรรมที่ต้องซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อให้สอดคล้องกับกฏระเบียบการส่งออกไปยังต่างประเทศ

ในขณะเดียวกันก็มีสมาชิกในอุตสาหกรรมที่มีแต้มต่อ สามารถนำคาร์บอนเครดิตมาขายได้ เช่น พลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเกี่ยวกับโซลาร์เซลล์ และพลังงานสะอาดอื่น ๆ แม้กระทั่งธุรกิจรถยนต์ EV และแบตเตอร์รี่ แพลตฟอร์มนี้จึงจะเข้ามาช่วยเหลือได้หลายอุตสาหกรรม

คุณเกรียงไกร กล่าวว่า ความท้าทายในภาคอุตสาหกรรมมีมาอย่างต่อเนื่อง แต่เรื่องของคาร์บอนเครดิต ถือเป็นความท้าทายที่เราจะเจอหนักขึ้น เพราะปัจจุบันในอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากโดยเฉพาะอุตสหกรรมที่ต้องมีการส่งออก จะต้องซื้อคาร์บอนเครดิต เพราะขณะนี้ EU เริ่มบังคับใช้มาตรฐาน CBAM ใน 5 อุตสาหกรรม และให้เวลาโรงงานต่าง ๆ ปรับตัว 2 ปี และในอนาคตจะปรับมาตรการให้มีความเข้มงวดมากขึ้นเรื่อย ๆ

ดังนั้น คาร์บอนเครดิต เป็นตัวช่วยสำหรับ 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ในประเทศไทยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงได้ เพราะหลายอุตสาหกรรมอาจจะยังไม่สามารถหลีกเลี่ยงการผลิตที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ จึงต้องซื้อคาร์บอนเครดิต ดังนั้น คาร์บอนเครดิต จึงถือเป็นเครื่องมือบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกด้วยต้นทุนที่ต่ำลง โดยที่ผู้ก่อมลพิษสามารถชดเชยผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโลกด้วยต้นทุนที่เกิดจากการซื้อเครดิต

หันย้อนกลับมามองเป้าหมายของไทยเกี่ยวกับการควบคุมก๊าซเรือนกระจกกันบ้าง โดยพบว่า ประเทศไทย ได้มีการกำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกเอาไว้ 3 ช่วงด้วยกัน คือ

– ในปี 2030 ประเทศไทยที่จะมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด
– ในปี 2050 ไทยจะเป็นประเทศที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)
– ในปี 2065 ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero Emission)

ดังนั้น ภาคอุตสาหรรมในประเทศไทยจึงต้องมีการพัฒนา และปรับปรุงกระบวนการผลิตทั้งระบบเพื่อขับเคลื่อนไปให้ถึงเป้าหมาย

ในอนาคต สภาอุตสาหกรรมจะพัฒนาแพลตฟอร์มให้ได้มาตรฐานรับรองระดับสากล ให้ทั่วโลกยอมรับได้ และจะส่งผลให้ต้นทุนของประเทศเราดีขึ้น นำไปสู่การสร้างความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น

เพราะมองว่าในอนาคตมีโอกาสที่ประเทศไทยจะบังคับใช้คาร์บอนเครดิต โดยที่รัฐบาลจะเป็นผู้เข้ามาบังคับใช้กฏหมาย และควบคุม ซึ่งจะมีบทลงโทษตามกฏหมายอย่างชัดเจนต่ออุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“ในอนาคตอาจจะมีการบังคับใช้คาร์บอนเครดิต แต่ในปัจจุบันยังเป็นเพียงการเริ่มต้น และยังใหม่มาก ซึ่งยังเป็นโอกาสให้ธุรกิจได้ปรับตัวเรียนรู้ เพราะอนาคตกฏหมายจะเข้มงวดมากขึ้น และอาจจะกลายเป็นกฏหมายที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม ซึ่งเราต้องเร่งปรับตัวถึงแม้อาจจะใช้เวลาอีกหลายปีข้างหน้า ”

#บทสรุป
จากข้อมูลที่เราได้รับจาก สภาอุตสาหกรรม ทำให้เห็นถึงความสำคัญกับการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะหากอุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเท่ากับว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศครั้งใหญ่

ตรงนี้ ‘Business+’ ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก หากประเทศที่อยู่ในแถบยุโรปซึ่งมีอากาศหนาวเย็น การเกษตรจึงเป็นพืชที่ชอบอากาศหนาว เช่น องุ่น สตรอเบอรี แต่หากอุณหภูมิโลกเปลี่ยนแปลงทำให้อากาศในยุโรปร้อนขึ้น การเพาะปลูกจะเจอกับปัญหาใหญ่ ถึงขนาดที่อาจไม่สามารถเพาะปลูกได้ดีเท่าเดิม เพราะสภาพอากาศมีความสำคัญกับการเพาะปลูกพันธุ์ไม้อย่างมาก จุดนี้จะกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจทันที (เช่น สินค้าขาดตลาด การส่งออกได้น้อยลง และนำพามาซึ่งปัญหารายได้ และแรงงาน)

หรือแม้กระทั่งเมืองไทย ซึ่งมีอากาศร้อน หากเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างหนัก ก็อาจทำให้การปลูก ข้าว ยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตได้ในสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปได้ (ตรงนี้ก็จะกระทบต่อการส่งออกอย่างร้ายแรง) ดังนั้น หลายประเทศจึงให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และการควบคุมก๊าซเรือนกระจก

สำหรับภาคธุรกิจเองก็ต้องเร่งปรับตัวอย่างรวดเร็ว ให้สอดคล้องกับนโยบายโลก และเพื่อเป็นการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันกับตลาดโลกก่อนที่หายนะจะมาเยือน

จบบทความนี้แล้วหากใครยังไม่ได้อ่านบทความแรกเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต สามารถติดตามได้ที่บทความก่อนหน้า ‘ภาวะโลกร้อนจะกระทบงบการเงินในอนาคต ‘คาร์บอนเครดิต’ โมเดลที่ต้องจับตามอง!! หากใครยังไม่ได้อ่านสามารถติดตามได้ที่

https://www.facebook.com/businessplusonline/photos/a.364233346979241/4768291056573426/

ที่มา : จากการสัมภาษณ์ คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรม-ส.อ.ท. งานส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรม

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #คาร์บอนเครดิต #Carbon credit