‘พลังงานบริสุทธิ์’ The Mission Complete ผู้บุกเบิกธุรกิจพลังงานสะอาดแห่งเอเชีย

การปล่อยเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าที่มีความจุ 800 กิโลวัตต์ชั่วโมง และสามารถอัดประจุไฟฟ้าจากสถานีชาร์จ EA Anywhere ด้วยเทคโนโลยีของกลุ่ม EA ได้ด้วยเวลาเพียง 20 นาที เพื่อให้คนไทยได้โดยสารในราคาเริ่มต้น 20 บาท เป็นสิ่งที่มีความหมายในเชิงยุทธศาสตร์ของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เป็นอย่างมาก

เพราะเท่ากับเป็นการยืนยัน ‘วิสัยทัศน์’ แห่งอนาคตตของ EA แบบครบสมบูรณ์ ตั้งแต่ก่อร่างสร้างฐานมานาน 13 ปี ตั้งแต่บุกเบิกธุรกิจน้ำมันไบโอดีเซล โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม โดยใช้พลังงานสะอาดและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งยังมุ่งเน้นในการพัฒนาบุคลากรและนวัตกรรม อีกทั้งบริษัทฯ ลงทุนวิจัยและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของคนไทยเป็นคันแรก ภายใต้ชื่อ MINE MOBILITY โดยใช้เวลาชาร์จเพียง 12 นาที สามารถวิ่งได้ไกล 200 กิโลเมตร

ลงทุนสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าที่เร็วที่สุด และยิ่งครบวงจรด้วยโรงงานแบตเตอรีลิเทียมไอออน ในระยะเฟสแรก 1 GWh และหากสำเร็จจะขยายขนาดไปที่ 50 GWh ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งโรงงานของบริษัท Tesla มีขนาดเพียง 35 GWh เพื่อปูฐานให้ครบ Ecosystem และ Infrastructure เชื่อมโยงทั้งยานยนต์ไฟฟ้า รถเมล์ไฟฟ้า สถานีชาร์จไฟฟ้า (EA Anywhere) เพื่อเชื่อมต่อการโดยสารทั้งทางบกและทางน้ำ เป็น Smart Transport แบบครบวงจร

ผลลัพธ์จากนี้ซึ่งเกิดจากวิสัยทัศน์ แปรเป็นกลยุทธ์ดำเนินธุรกิจ ก็ต้องบอกว่า บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) กำลังจะสร้าง New S Curve ด้วยโซลูชันสู่การเป็นผู้ให้บริการ Platform as a Service ให้ชาวโลกประจักษ์ว่า ประเทศไทยสามารถส่งออก ‘นวัตกรรม’ ได้

หากพิจารณาในแง่ผลตอบแทนสำหรับธุรกิจเดิมของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) นั่นก็คือโรงงานผลิตไบโอดีเซลและธุรกิจไฟฟ้า โดยต้องบอกว่าทั้งคู่กำลังจะ Soft Landing จากเหตุผลที่ว่า สิทธิประโยชน์จากบีโอไอของโรงงานไบโอดีเซลใกล้จะสิ้นสุด และอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์ก็ไม่ได้สูงมาก อีกทั้งจะเริ่มทยอยสิ้นสุด Adder ของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทีละแห่ง เป็นรายปีไป ซึ่งจะไม่มีการอุดหนุนหรือปกป้องจากรัฐบาลอีกต่อไปแล้ว โดยจะทยอยหมดไปเริ่มจากปี 2022 ทางบริษัทฯ จึงจำเป็นต้องสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่เข้ามาทดแทนรายได้เดิม ซึ่งเรื่องนี้ผู้บริหารระดับสูงทราบมาตลอดหลายปี ทำให้ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา เราทราบถึงแผนอนาคตของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) มาตลอด

คุณอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ได้ฉายภาพ EA ให้กับทีมงาน Business+ ฟังว่า ในปี 2020 ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลต่อการดำเนินการตามแผนการลงทุนในธุรกิจใหม่ของบริษัทฯ พอสมควร โดยเฉพาะการนำเข้าและติดตั้งในโรงงาน แต่อย่างไรก็ดี ในแง่ของผลประกอบการยังคงเป็นไปตามเป้าหมาย โดย 9 เดือนแรกของปี 2020 มีรายได้รวม 12,738 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวด 9 เดือนของปีก่อน 17% และมีกำไรสุทธิ 3,720 ล้านบาท โดยในไตรมาส 3/2020 มีรายได้รวม 3,801 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,119 ล้านบาท

โดยภาพรวมทางธุรกิจของ EA ในปี 2020 ที่ผ่านมา EA ได้ดำเนินการควบคู่กันทั้งธุรกิจเดิม และธุรกิจใหม่ที่จะสร้างรายได้ในอนาคต ในส่วนแรกที่เป็นธุรกิจเดิม ประกอบด้วย ธุรกิจไบโอดีเซล และธุรกิจโรงไฟฟ้า ซึ่งก็ยังคงดำเนินงานไปตามครรลองที่เคยเป็นมาอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าในปีที่ผ่านมา ธุรกิจไบโอดีเซลมีปัจจัยหนุนเข้ามา หลังจากภาครัฐประกาศใช้ดีเซลประเภท B10 เป็นอานิสงส์ที่เข้ามาชดเชยรายได้ที่หายไปในช่วงที่ล็อกดาวน์ประเทศ

ขณะเดียวกัน โรงงานผลิต PCM (Phase Change Material : PCM) ซึ่งเป็นนวัตกรรมของบริษัทที่ได้จากการสกัดน้ำมันปาล์ม ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นและเริ่มผลิตสินค้าได้แล้วในต้นไตรมาสที่ 4 แต่ขณะนี้ยังมีปริมาณไม่มากนัก

(บริษัทฯ ได้นำปาล์มดิบที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม ด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่คือ สารเปลี่ยนสถานะ (Phase Change Material : PCM) สาร PCM กำลังได้รับความสนใจในหลาย ๆ ประเทศที่ต้องการผลักดันเรื่องการลดใช้พลังงาน หรือใช้พลังงานได้อย่างคุ้มค่าที่สุด PCM จึงเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ตลาดมีความต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ)

อย่างไรก็ตาม สำหรับผลิตภัณฑ์ประเภท PCM จะเริ่มมีการต่อยอดทำตลาดเพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยจะนำไปผลิตด้วยขั้นตอนที่ล้ำสมัยมากขึ้น (Microencapsulation) ซึ่งสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เช่น เสื้อ ผ้า เป็นต้น เพื่อช่วยควบคุมอุณหภูมิ ทำให้การสวมใส่สบายมากขึ้น เป็นต้นว่า ไปอยู่ในพื้นที่หนาว ก็ทำให้อุ่นขึ้น ขณะที่อยู่ในพื้นที่ร้อน ก็ทำให้เย็นขึ้น โดยเชื่อมั่นว่าการใช้ PCM ในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มยังมีโอกาสเติบโตและขยายตัวได้สูง และปัจจุบันเริ่มมีผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ออกมาเยอะมากขึ้น

และในปีนี้ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการทำ PCM จะมีบทบาทมากขึ้นในกลุ่มธุรกิจไบโอดีเซลของ EA เนื่องจากในปีที่ผ่านมาได้เร่งพัฒนาตัวโรงงานให้สามารถผลิตได้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งปัจจุบันสามารถรองรับปริมาณปาล์มดิบที่เข้าสู่กระบวนการผลิตได้วันละประมาณ 65 ตัน และเป้าหมายในปีนี้ หากสามารถผลิตได้ในปริมาณ 50% ของกำลังการผลิตทั้งหมดน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และหากว่าทุกอย่างมีความพร้อม ทั้งในแง่การผลิตและการตลาด บริษัทฯ ก็พร้อมที่จะเดินสายการผลิตได้ทั้ง 100%

โดยในแผนการตลาดจะเริ่มเข้าไปนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้กับแบรนด์ผู้ผลิตเสื้อผ้าในกลุ่ม Top 5 ของโลก ซึ่งถ้าหากสามารถเปิดตลาดในกลุ่มนี้ได้ จะทำให้ตัวเลขยอดขายพุ่งขึ้นทันที ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2021 หลังจากผ่านกระบวนการขั้นตอนการตรวจสอบและรับรองตัวสินค้า และในขณะเดียวกัน จะเริ่มขยายตลาดต่างประเทศในส่วนที่เป็น Construction Material เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่ส่งออกไปญี่ปุ่นประเทศเดียว ในปีนี้จะเริ่มขยายไปจีนและเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น

ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้า ในปีที่ผ่านมาไม่มีพัฒนาการอะไรมากนัก เนื่องจากทุกโครงการสร้างเสร็จหมดแล้ว ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ แต่ในส่วนของพลังงานลม อาจจะมีความผันผวนบ้างตามปริมาณลมที่พัดผ่านประเทศไทย ซึ่งในปีที่ผ่านมาปริมาณลมน้อยกว่าปีก่อน ๆ พอสมควร และมาเริ่มดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้ ซึ่งผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานลมทุกรายต่างได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ส่วนพลังงานแสงอาทิตย์ค่อนข้างนิ่ง

เดินหน้าสร้าง New S Curve

ขณะที่ธุรกิจที่เริ่มลงทุนใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรือไฟฟ้า โรงงานผลิตแบตเตอรีลิเธียมไอออน (Lithium-ion Battery) และโรงประกอบรถยนต์-รถบัส และสถานีชาร์จไฟฟ้ารถยนต์ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องยอมรับว่า ในปีที่ผ่านมาจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้การทำงานทุกอย่างยากลำบากมากขึ้น

“กรณีสั่งเครื่องจักรเพื่อนำมาประกอบในโรงงาน ซึ่งตามขั้นตอนปกติจะต้องส่งทีมงานของเราไปตรวจสอบความเรียบร้อยและเป็นไปตามสเปกที่สั่งไว้หรือไม่ แต่เมื่อไม่สามารถเดินทางข้ามประเทศได้ ก็ต้องใช้วิธีตรวจสอบทางออนไลน์ หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องว่าจ้างบุคคลที่สามช่วยตรวจสอบแทน ซึ่งต้องยอมรับว่าบางครั้งความเข้าใจของแต่ละฝ่ายอาจจะไม่ตรงกัน เพราะฉะนั้นขั้นตอนต่าง ๆ ต้องกินเวลายืดยาวออกไปกว่าในช่วงภาวะปกติ” คุณอมร ระบุ

อย่างไรก็ตาม โครงการและสินค้าต่าง ๆ คงจะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องภายในปีนี้ ล่าสุดช่วงปลายปี บริษัทฯ เปิดตัวเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นการทดลองวิ่งให้บริการประชาชน ตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค. 2020 ถึงวันที่ 14 ก.พ. 2021 ไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยมีเส้นทางให้บริการตั้งแต่ ท่าพระนั่งเกล้า 5 ถึงท่าสาทร

“ช่วงนี้ เป็นช่วงทดลองวิ่งให้บริการประชาชนโดยไม่คิดค่าบริการ เป็นการเปิดประสบการณ์การใช้บริการเรือโดยสารแม่น้ำเจ้าพระยารูปแบบใหม่ที่มีความทันสมัย ด้วยพลังงานสะอาด ไม่ก่อมลพิษทางอากาศ และเป็นเรือโดยสารที่มีเครื่องปรับอากาศ ทำให้ประชาชนมีความสะดวกสบายในการใช้งานมากขึ้น และหลังจากนี้จะเริ่มนำออกมาให้บริการอย่างต่อเนื่อง จากการต่อเรือที่กระจายอยู่ 5 โรงงาน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 27 ลำ คาดว่าจะครบกำหนดส่งมอบได้ประมาณไตรมาสแรกปีนี้

โดยกระแสตอบรับเรือโดยสารที่เปิดตัวล่าสุด ในเชิงนวัตกรรมถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก และในขณะนี้มี 3 – 4 ประเทศ ที่ติดต่อขอซื้อเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าเพื่อนำไปให้บริการ แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการส่งออกเรือโดยสารอาจจะเป็นเรื่องของอนาคต เนื่องจากต้องการส่งมอบเรือให้ครบและดำเนินการในประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบให้ได้ก่อน

สำหรับเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า นับว่าเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของ EA และประเทศไทย เพราะเป็นการผลิตด้วยเทคโนโลยีและฝีมือคนไทย 100% ที่สำคัญต้นทุนต่อลำอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถูกกว่าการซื้อจากต่างประเทศประมาณ 1 เท่า เพราะถ้าให้ต่างประเทศออกแบบและผลิตให้ ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 50 – 60 ล้านบาทต่อลำ

การที่เราผลิตเรือในประเทศได้เอง ทำให้สามารถคิดค่าบริการในอัตราที่เท่ากับผู้ให้บริการรายอื่น ๆ ซึ่งประชาชนจะได้ใช้บริการเรือที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ทั้งไม่มีเสียง ไม่มีควัน ไร้กลิ่นน้ำมัน โคลงเคลงน้อย ปลอดภัย และน้ำไม่กระเด็นใส่ ในราคาที่ไม่เป็นภาระที่สูงขึ้นกว่าเดิม

เราเชื่อมั่นว่าถ้าสามารถส่งมอบบริการที่ดีให้กับประชาชนได้ จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้การคมนาคมทางน้ำกลับมาได้รับความนิยมมากขึ้นด้วย”

เปิด 2 เหตุผล ลุยธุรกิจเรือโดยสาร

คุณอมรเล่าถึงการขยายธุรกิจสู่การให้บริการเรือโดยสารของ EA นั้นมี 2 เหตุผลด้วยกัน ข้อแรก ต้องการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนในสังคม ด้วยบริการและเทคโนโลยีที่ EA มีอยู่แล้ว ส่วนข้อสอง ต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า EA สามารถพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาดได้ ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรีและการชาร์จไฟ ที่ EA ประกาศว่าสามารถชาร์จได้ภายใน 15 นาทีเท่านั้น

“ด้วยปริมาณความจุแบตเตอรีที่ใส่เข้าไปในเรือโดยสารประมาณ 800 kWh ใช้เวลาชาร์จเพียง 15-20 นาที และสามารถใช้งานได้ราว 2-4 ชั่วโมง ถ้าหากเราสามารถพิสูจน์การใช้งานกับเรือได้ หลังจากนี้เมื่อนำไปใส่ไว้ในรถบัสโดยสาร รถบรรทุก หรือรถนั่งส่วนบุคคล ซึ่งขนาดแบตเตอรีจะเล็กกว่า ก็จะเกิดการยอมรับและเชื่อมั่นได้

เพราะเราพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สามารถทำได้ในเครื่องที่มีสเกลที่ใหญ่กว่าหลายเท่า ซึ่งถือว่าเป็นการพิสูจน์เทคโนโลยีทางอ้อมให้คนทั่วโลกได้เห็น และเมื่อคนเกิดความเชื่อมั่น เราก็จะสามารถต่อยอดทางธุรกิจและส่งออกเทคโนโลยีนำเงินเข้าประเทศได้ในอนาคต”

เปิดตัวโรงงานแบตเตอรี ไตรมาสแรก 2021

ส่วนความคืบหน้าโรงงานแบตเตอรีที่กำลังเร่งสร้างนั้น คุณอมร บอกว่า คาดว่าปลายไตรมาส 1 ปีนี้น่าจะเสร็จ พร้อมทดลองผลิต โดยล่าช้ากว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ เนื่องจากประสบปัญหาเรื่องการนำเข้าเครื่องจักรและการนำทีมงานเข้ามาติดตั้ง ด้วยขนาดพื้นที่โรงงานการผลิตที่มีขนาดใหญ่มาก จำเป็นต้องใช้คนจำนวนมากในการติดตั้งเช่นกัน แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโรค COVID-19 ทำให้บุคลากรที่จะเข้ามาช่วยติดตั้งเครื่องจักรไม่สามารถเข้ามาได้ตามแผนงานเดิม อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน ทีมงานและผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทย่อยที่ไต้หวัน ได้เข้ามาประจำการในไซต์งานเรียบร้อยแล้ว

สำหรับกำลังการผลิตโรงงานแบตเตอรีลิเธียมไอออน  ซึ่งตั้งอยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา ในเฟสแรกจะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 1 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง และสามารถขยายได้ถึง 4 กิกะวัตต์ หากตลาดมีความต้องการ ทางบริษัทฯ พร้อมที่จะขยายกำลังการผลิตได้ทันที เพียงเติมเทคโนโลยีและเครื่องจักรเพิ่มเท่านั้น เนื่องจากได้เตรียมพื้นที่รองรับเอาไว้แล้ว

คุณอมร ให้มุมมองว่า “ตลาดแบตเตอรีจะเติบโตเร็วหรือไม่ ขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐและตลาดโลกว่าจะดันตลาดยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles : EV) จริงจังขนาดไหน ถ้าหากภาครัฐของแต่ละประเทศ สนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนรถยนต์เก่าเป็น EV ด้วยการลดภาษีหรือการให้เงินสนับสนุนบางส่วน เพื่อจูงใจให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ EV ก็จะทำให้ตลาดแบตเตอรีขยายตัวได้เร็ว เหมือนกับประเทศจีนที่กำหนดอัตราส่วนให้กับผู้ผลิตรถยนต์ทุกค่ายที่ผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยการสันดาปภายใน (IEC) หรือรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน จะต้องผลิตรถ EV เป็นจำนวนกี่คัน เป็นต้น

ขณะที่ประเทศไทยเอง ในช่วงที่ผ่านมาเริ่มเห็นสัญญาณจากภาครัฐว่าต้องการผลักดันให้รถ EV เกิดโดยเร็วเช่นกัน ด้วยเหตุผลที่ว่าประเทศไทยนับเป็นฐานการผลิตรถยนต์ใหญ่ติดอันดับโลก มีการผลิตปีละประมาณ 2 ล้านคัน แบ่งเป็นส่งออก 1 ล้านคัน และขายในประเทศ 1 ล้านคัน แต่สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นหากประเทศไทยยังไม่ขยับทิศทางการผลิตรถยนต์ให้สอดคล้องกับการบริโภคของต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นตลาดส่งออกรถยนต์อันดับ 1 ของไทย ได้ประกาศว่า ตั้งแต่ปี 2030 รถยนต์ที่ผลิตและขายใหม่จะต้องไม่ใช้เครื่อง IEC อีกต่อไป

ดังนั้น หากประเทศไทยไม่วางแผนการผลิตรถยนต์ EV เท่ากับว่าในปี 2030 ตลาดส่งออกรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของไทยจะหายไปทันที ขณะที่ตลาดส่งออกอันดับ 3 อย่างเวียดนาม ขณะนี้เริ่มพัฒนารถยนต์ของตัวเอง ผลักดันเป็นรถยนต์แห่งชาติ และในอนาคตก็คงจะลดการนำเข้าจากไทยน้อยลง ส่วนประเทศคู่แข่งในอาเซียนทั้งอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ต่างเร่งเครื่องที่จะขึ้นมาเทียบกับประเทศไทยให้ได้ ที่สำคัญมีนโยบายผลักดันการผลิตรถยนต์ EV อย่างชัดเจน ทั้งการดึงค่ายผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ผลิตแบตเตอรี รวมถึงซัพพลายเชนต่าง ๆ จากต่างประเทศเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าภาครัฐมองเห็นภาพตรงนี้ แม้ขณะนี้จะยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจน แต่เริ่มเห็นสัญญาณความพยายามที่จะทำให้ประเทศไทยยังเป็นฮับของการผลิตรถยนต์ในยุคต่อไป หรือรถยนต์ EV ทั้งหมด โดยเริ่มมีมาตรการต่าง ๆ ออกมา ทั้งเชิงนโยบายสนับสนุนผ่าน BOI การให้สิทธิภาษีสำหรับรถยนต์ EV และการสร้างดีมานด์ผ่านโครงการรถยนต์ของหน่วยงานราชการ และรถโดยสาร ขสมก. หรือรถโดยสารวิ่งระหว่างจังหวัดที่จะมีส่วนที่เป็นรถยนต์ EV เพิ่มมากขึ้น

สำหรับในภาพใหญ่ การที่ตลาดรถยนต์ EV จะเกิดได้เร็วหรือช้า ต้องขึ้นอยู่กับโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ด้วย เช่น สถานีชาร์จไฟมีเพียงพอหรือไม่ เป็นต้น โดยในบางประเทศมีการกำหนดออกมาเลยว่า ถนนสายหลักที่วิ่งระหว่างเมืองจะต้องมีสถานีชาร์จทุก ๆ กี่กิโลเมตร เพื่อเป็นโรดแมปให้ทุกภาคส่วนเดินไปพร้อม ๆ กัน รวมไปถึงความเพียงพอของสายส่งและปริมาณไฟฟ้าในระบบ”

ขณะเดียวกัน การเตรียมพร้อมบุคลากรให้สามารถรองรับอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ก็มีความสำคัญเช่นกัน ซึ่งในส่วนนี้ทางภาครัฐและสถาบันการศึกษาต้องร่วมมือกัน เพื่อพัฒนาหลักสูตรสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่กำลังจะเข้ามาทดแทน เพราะถ้าประเทศไทยไม่พัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถแข่งขันกับประเทศอื่น สุดท้ายก็จะต่อยอดหรือแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ลำบาก

“ถ้าเราจะก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง ประเทศไทยจะต้องมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง เพราะถ้าเรายังเป็นประเทศที่ซื้อเทคโนโลยีโดยที่ไม่มีนวัตกรรมเป็นของตัวเอง จะไม่มีทางเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และทำกำไรในอัตราที่น้อย ไม่สามารถก้าวไปสู่ประเทศที่มีรายได้ระดับสูงได้เลย เพราะฉะนั้นเราต้องเปลี่ยนบทบาทตัวเองจากผู้ซื้อเทคโนโลยีไปเป็นผู้ขายเทคโนโลยี ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยี EV ถือว่าเป็นโอกาสที่เราจะพัฒนาแข่งกับประเทศอื่น ๆ เพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่ เท่ากับว่าทุกประเทศเริ่มต้นพร้อม ๆ กัน ส่วนตัวเชื่อว่าภาคเอกชนมีความพร้อมที่จะลงทุนอยู่แล้ว เพียงแต่รอภาครัฐกำหนดทิศทางและสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดเท่านั้น”

ปี 2021 ก้าวสู่ New Business Cycle อย่างเต็มตัว

จากภาพลักษณ์ของ EA ในอดีตคือ บริษัทที่ทำธุรกิจโรงไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนและไบโอดีเซล ซึ่งค่อนข้างอยู่ตัวและยังคงมีบทบาทอยู่เช่นเดิม แต่จะไม่หวือหวาเท่ากับกลุ่มธุรกิจใหม่ แต่จากนี้ทั้งโรงงานแบตเตอรี รถยนต์ไฟฟ้า และเรือไฟฟ้า จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในช่วงตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปีนี้

โดยไทม์ไลน์ของแต่ละธุรกิจแบ่งได้ดังนี้

  • โรงงานแบตเตอรี คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายไตรมาส 1 จากนั้นอาจจะใช้เวลาทดสอบระบบ 1-2 เดือน ก่อนจะเดินเครื่องผลิตและเริ่มส่งมอบแบตเตอรีเพื่อใส่ในรถบัสไฟฟ้า และเรือโดยสารต่อไปในช่วงแรก
  • โรงงานประกอบรถบัส คาดว่าจะเสร็จช่วงต้น ๆ ไตรมาส 2 จากนั้นจะมีช่วงที่ต้องทดสอบระบบ อาจจะใช้เวลาอีก 1-2 เดือน โดยคาดว่าจะพร้อมประกอบจริง ๆ น่าจะอยู่ในช่วงต้น ๆ ไตรมาส 3

เพราะฉะนั้น ในช่วงนี้ ทางทีมงานการตลาดจะเริ่มออกหาดีมานด์ที่จะมารองรับผลิตภัณฑ์ที่กำลังจะเริ่มทยอยออกมา ซึ่งขณะนี้เริ่มเข้าไปคุยกับผู้ประกอบการรถยนต์โดยสารประจำทางที่วิ่งระหว่างจังหวัดบ้างแล้ว และเริ่มเห็นสัญญาณบวกจากการที่บริษัทขนาดใหญ่ของไทยเริ่มมีนโยบายที่จะเปลี่ยนรถรับส่งลูกค้าหรือรถรับส่งพนักงาน จากรถใช้น้ำมันมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กรในแง่ของการรักษาสภาพแวดล้อมด้วย และผู้ให้บริการก็สามารถประหยัดค่าพลังงานลงได้ถึง 75% ไม่รวมถึงการบำรุงรักษาที่ต่ำมาก

“จุดแข็งสำคัญของ EA คือเทคโนโลยีที่ชาร์จได้เร็วเพียง 15 นาที ในขณะที่บางรายต้องใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงในการชาร์จ ถ้าเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีรถขนส่ง 300-400 คันที่ต้องวิ่งรับส่งของตลอดเวลา ต้องเสียเวลาชาร์จไฟ 2-3 ชั่วโมงต่อคัน บริการก็จะหยุดชะงัก เพราะรถทำรอบได้น้อยลง ทางออกคือต้องเพิ่มจำนวนรถเข้ามาอีกในช่วงที่รถบางส่วนชาร์จไฟอยู่ แต่ถ้าเป็นระบบชาร์จเร็ว 15 นาที เวลาที่เสียไปกับการเติมพลังงานแทบไม่ต่างกับการเติมน้ำมันหรือเติมก๊าซ”

ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจที่คาดหวังว่าจะเป็น New S Curve ของ EA จะเป็นธุรกิจใหม่ แต่แทบทุกธุรกิจยังคงอยู่บนแกนการใช้พลังงานสะอาด และเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูงตามเทรนด์ของโลก โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้ง E Bus, E Truck และ E Ferry ที่ปัจจุบันนี้มีศักยภาพในการเติบ เนื่องจากเป็นยานพาหนะที่มีการใช้งานในแต่ละวันสูง

แน่นอนว่า เมื่อกลุ่มธุรกิจใหม่เดินเครื่องได้อย่างเต็มกำลัง จะทำให้สัดส่วนรายได้จากธุรกิจ EV ในปีนี้ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 20-30% ที่เหลือเป็นธุรกิจเดิมโรงไฟฟ้าและไบโอดีเซล จากปีก่อนที่รายได้ธุรกิจสัดส่วนของ EV อยู่ที่ราว 1% เท่านั้น

“จากตัวเลขประมาณการรายได้ในปีนี้ จะเห็นว่าเราตั้งความหวังไว้กับธุรกิจใหม่ค่อนข้างสูง และหากทุกอย่างเป็นไปตามแผน เชื่อว่าจะบรรลุเป้าหมายได้ไม่ยาก แต่อย่างไรก็ตาม ในแง่ของรายได้เป็นเพียงเป้าหมายส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาเสริมการเป็น Growth Company ที่สะท้อนให้เห็นว่า เราพร้อมจะมองหาโอกาสในธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีอัตราการเติบโตสูงตลอดเวลา

และท้ายที่สุดอยากมีส่วนร่วมเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทยจากคนซื้อเทคโนโลยี เป็นคนส่งออกเทคโนโลยี พร้อมยืนหยัดเป็นบริษัทไทยที่สามารถแข่งขันกับบริษัทต่างชาติได้อย่างภาคภูมิ” คุณอมร กล่าวทิ้งท้าย