ศึกชิงเจ้าตลาดทุเรียนในจีนดุเดือด!! หลายประเทศรุกหนักชิงส่วนแบ่งการตลาด ไทยต้องเร่งสปีดก่อนเสียท่า ‘มาเลเซีย-เวียดนาม’

ผลไม้ยอดนิยมสำหรับคนจีนยังคงเป็น “ทุเรียน” โดยทุเรียนสดที่มีวางขายในจีนกว่า 75% เป็นทุเรียนที่มาจากประเทศไทย อย่างในปี 2564 ที่ผ่านมา ไทยมีเนื้อที่ปลูกทุเรียน 854,986 ไร่ ให้ผลผลิต 1,201,458 ตัน และมีการส่งออกไปตลาดจีนถึง 8 แสนตัน คิดเป็น 70% ของผลผลิตทั้งหมด

และในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกทุเรียนสดของไทยมีมูลค่า 109,205.94 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 66.39% โดยเป็นการส่งออกไปจีนเป็นอันดับ 1 ด้วยมูลค่า 98,332 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 105% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน) คิดเป็นสัดส่วน 90% ของมูลค่ารวมทั้งหมด

จะเห็นได้ว่าตลาดทุเรียนในประเทศจีนจึงสำคัญต่อไทยมาก แต่ดูเหมือนในช่วงที่ผ่านมาไทยจะเริ่มเจอคู่แข่งคนสำคัญ อย่างมาเลเซีย และเวียดนาม รวมถึงการปลูกทุเรียนภายในประเทศของจีนเองเข้าเสียแล้ว

ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาไทยจะเป็นเพียงประเทศเดียวที่จีนอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนสด แต่ไทยก็ยังมีคู่แข่งในตลาดทุเรียนแช่แข็งที่สำคัญอย่างมาเลเซีย เพราะตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค. 2562 จีนได้อนุญาตให้มาเลเซียนำเข้าเนื้อทุเรียนแช่แข็งและทุเรียนติดเปลือกแช่แข็งทั้งลูกมายังจีน ทำให้ทุเรียนพันธุ์มูซานคิงจากมาเลเซียได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดจีน

นอกจากนี้ผู้ประกอบการจีนลงทุนทำสวนเพาะปลูกทุเรียนพันธุ์มูซานคิงแล้วเมื่อปี 2562 และได้ลงนามความร่วมมือในด้านการเพาะปลูกทุเรียนพันธุ์มูซานคิงกับทางรัฐบาลมาเลเซียอีกด้วย จะเห็นได้ว่ามาเลเซียเริ่มจะขยับเข้ามาเป็นคู่แข่งคนสำคัญของไทยมากขึ้นทุกที

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งคู่แข่งคือ ‘เวียดนาม’ ซึ่งเวียดนามเป็นอีกประเทศที่โดดลงร่วมเล่นในตลาดจีน โดยที่จีนและเวียดนามได้ทำการตกลงว่าด้วยเรื่องการตรวจสอบกักกันโรคพืชและสัตว์สำหรับการส่งออกทุเรียนเวียดนามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกำลังรอการอนุญาตนำเข้าทุเรียนเวียดนามอย่างเป็นทางการจากฝ่ายจีน

โดยที่ผ่านมา จีนเป็นตลาดส่งออกทุเรียนอันดับ 1 ของเวียดนาม โดยปริมาณการส่งออกทุเรียนมายังจีนของเวียดนามมีสัดส่วนคิดเป็น 70% ของปริมาณการผลิตทุเรียนของเวียดนามทั้งหมด (สัดส่วนพอ ๆ กับไทย) แต่ปัจจุบัน เวียดนามยังไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนมายังจีนอย่างเป็นทางการ ไทยจึงยังได้เปรียบทางการแข่งขันกับเวียดนาม แต่ถ้าหากข้อตกลงนี้สำเร็จเมื่อไร เวียดนามก็จะเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เข้ามาชิงส่วนแบ่งทางการตลาดนี้

อีกหนึ่งความกดดันที่จะเข้ามาในอนาคตคือ สปป. ลาว และฟิลิปปินส์ ก็เป็นอีก 2 ประเทศที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเปิดตลาดนำเข้าทุเรียนให้กับจีนเช่นกัน

จะเห็นได้ว่า นอกจากไทยจะเริ่มมีอุปสรรคทางด้านคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญแล้ว ในอนาคตอาจเจอกับปัญหาการส่งออกน้อยลง เนื่องจากจีนเริ่มปลูกทุเรียนเองมาตั้งแต่ปี 2558 (7 ปีที่แล้ว) และทุเรียนติดผลแล้วเมื่อปี 2562 ซึ่งได้ให้ผลติดต่อกันมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว ส่งผลให้เกษตรกรและผู้ประกอบการชาวจีนหันมาลงทุนเพาะปลูกทุเรียนในเชิงพาณิชย์กันมากขึ้น จึงมีแนวโน้มที่ความต้องการนำเข้าจะลดลง

ดังนั้น ไทยต้องเร่งเครื่องเพื่อเพิ่มศักยภาพ และประสิทธิภาพเกษตรกรเพื่อให้ผลผลิตทุเรียนมีคุณภาพสูงขึ้น และตรงกับความต้องการของตลาดในประเทศจีนมากขึ้น รวมไปถึงนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยลดต้นทุน หรือเพิ่มมูลค่าสินค้า เพื่อรักษาความได้เปรียบเชิงแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ในอนาคต

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน, กระทรวงพาณิชย์

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ทุเรียน #ส่งออกไทย #ตลาดทุเรียนโลก