แม้ผลประกอบการในปี 2558 ของดีแทคจะสะท้อนความอ่อนแอของธุรกิจจากกำไรที่หายไปกว่าครึ่ง และยังพลาดหวังจากการประมูลคลื่น 900 MHz แต่ล่าสุด DTAC ร่อนจดหมายเชิญสื่อทุกแขนงเข้ารับฟังแผนธุรกิจ พร้อมประกาศยืดหยัดลงทุนในไทยโดยทุ่มเงินลงทุนกว่า 70,000 ล้านบาท เพื่อรักษาฐานลูกค้าไม่ให้ไหลออกไปยังค่ายคู่แข่ง
ก่อนหน้านี้ ดีแทคต้องเผชิญกับมรสุมอย่างหนักจนต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่ง เคราะห์ซ้ำกรรมซัดเมื่อคราวประมูลคลื่น 900 MHz ที่ดีแทค ต้องพลาดหวังการประมูลและเสียคลื่นให้กับคู่แข่งอย่าง TRUE และ JAS
ความพลาดหวังเกิดขึ้นพร้อมๆ กับข่าวลือที่ว่าเทเลนอร์ มีแผนถอนการลงทุนจากประเทศไทย ทำให้ราคาหุ้นของ DTAC ดิ่งลงอย่างรุนแรง
แต่ดูเหมือนว่า ปัญหาความไม่แน่นอนทุกอย่างจะยุติลง เมื่อลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DTAC จับเข่าคุยกับสื่อมวลชนทุกแขนง ประกาศความจริงใจกับการลงทุนระยะยาวในประเทศไทย ด้วยเงินลงทุนกว่า 70,000 ล้านบาทภายใน 3 ปี
“เราไม่สนใจว่าเงินลงทุนนั้นจะถึงจุดคุ้มทุนเมื่อไหร่ เราไม่ได้ทำธุรกิจเล่นๆ เราจะทำทุกอย่างเพื่อเอาชนะคู่แข่ง” ลาร์ส เปิดใจ
เม็ดเงินก้อนแรกที่ดีแทคจะใช้ในปี 2559 จำนวน 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินก้อนแรกราว 2,000 ล้านบาท เพื่อโอนย้ายลูกค้าบนเครือข่าย 2G มาอยู่บน 3G ทั้งหมด โดยจะเปิดแบนด์วิธ 20 MHz มาให้บริการ 4G พร้อมๆ กับการทุ่มเงินอีก 18,000 ล้านบาท เพื่อขยายเครือข่าย 4G ให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในกลางปีนี้
“เราต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เราจะกลับมาสู่วัฏจักรชองการเติบโตอีกครั้ง ทั้งจำนวนลูกค้า รายได้และผลกำไร” ลาร์ส ระบุ
ในความพยายามที่จะแข่งขันในสมรภูมิมือถือที่ค่อนข่างอิ่มตัวแล้วอย่างเมืองไทย Movement ของดีแทครอบนี้ เห็นได้ชัดว่า ดีแทคมุ่งไปที่การปรับปรุงระบบเครือข่ายให้เต็มประสิทธิภาพให้ดีขึ้น เช่นเดียวกับทุกๆ ค่าย และเมื่อมองถึงความท้าทายครั้งใหญ่จากนี้ เพราะจากสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 MHz ที่จะหมดลงในปี 2018 นี้ แน่นอนว่า เงินลงทุนกว่า 70,000 ล้านบาท ที่ทุ่มลงไปไม่เกิดดอกผลเท่าที่ควร
ประเด็นนี้ ลาร์ส ถึงกับบอกว่า “เราประกาศลงเงิน 70,000 ล้านบาทในวันนี้ ไม่ได้สนใจว่าเป็นการลงทุนภายใต้ระบบสัมปทานหรือไลเซนซ์ แต่เราลงทุนเพราะต้องการสร้าง Super 4G ที่ดีกว่าคู่แข่งให้ได้”
ทั้งนี้ ดีแทคจะให้บริการ Super 4G ที่มีความเร็วสูงกว่าเดิมถึง 3 เท่า บนคลื่น 1800 MHz ด้วยการขยายแบนด์วิธจากเดิม 5 MHz เป็น 15 MHz พร้อมเพิ่มประสบการณ์การใช้งาน ด้วยกลยุทธ์หลักในการเป็นผู้ให้บริการที่มีแบนด์วิธสำหรับ 4G ที่กว้างและใหญ่ที่สุด โดยอยู่บนโครงข่ายเดียวกันบนคลื่น 1800 MHz ผู้ใช้บริการดีแทคจะได้รับประสบการณ์ใหม่จากการใช้งาน Super 4G ที่มีความเร็วเหนือกว่าคู่แข่ง
งานแถลงข่าวในครั้งนี้ ซีอีโอของดีแทค ตอบทุกคำตอบของสื่อมวลชนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นไม่หนีจากเมืองไทย ซึ่งตามหลักของนักลงทุนแล้ว อย่างน้อยย่อมสร้างความเชื่อมั่นได้ดีพอสมควร
เพียงแต่ว่าจากนี้ไป เครือข่ายของดีแทคจะส่งสัญญาณแรงจนทำให้ลูกค้ารู้สึก feel good หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป
ผู้เขียน : ศรันย์ทัศน์ ตั้งคุณานนท์