สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พัฒนานวัตกรรม 4 Step เพิ่มเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบกับการดำเนินธุรกิจของหลายภาคส่วนที่ต้องหยุดชะงัก ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ด้อยลง เกิดเป็นหนี้เสียที่ต้องแบกรับและอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านสภาพคล่องในที่สุด จึงเป็นหน้าที่ของ “สถาบันคุ้มครองเงินฝาก” ที่ต้องปรับแผนงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาคุณภาพบริการให้ดียิ่งขึ้น นำไปสู่ความพร้อมที่สามารถตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

คุณทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เปิดเผยว่า สถาบันคุ้มครองเงินฝากมีพันธกิจที่ชัดเจนในการดำเนินงาน คุ้มครองเงินฝาก เสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน รวมถึงดำเนินการควบคุมและชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต โดยองค์กรอยู่ระหว่างการดำเนินแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (2563 – 2565) มุ่งเน้นสิ่งสำคัญ 4 ด้าน คือ

1) การเป็นส่วนหนึ่งในระบบตาข่ายความมั่นคงทางการเงินของประเทศ
2) การร่วมกอบกู้สถานการณ์ สกัดการลุกลามสู่ Systemic crisis
3) การจ่ายคืนได้ครบถ้วน ถูกต้อง รวดเร็ว ตามที่กฎหมายกำหนด
4) การชำระบัญชีถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับการดูแลอย่างดี

ที่ผ่านมา สถาบันคุ้มครองเงินฝาก เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนองค์กรด้วยการนำ Technology มาประยุกต์ใช้ในระบบงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะในภาวะที่ต้องรับมือกับสถานการณ์วิกฤต

โดยกำหนดกลยุทธ์สำคัญ 4 ด้าน

ด้านที่ 1 การจ่ายคืน ชำระบัญชีและบริหารสินทรัพย์ ด้วยการนำระบบ Software ที่รองรับการจ่ายคืนและการชำระบัญชีที่เรียกว่า Liquidation Management System (LMS) สำหรับใช้ในการทดสอบ Simulation สถานการณ์สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต เพื่อให้เห็นภาพของการบริหารจัดการในภาพรวม ซึ่งช่วยเก็บรวบรวมข้อมูล รวมถึงการวิเคราะห์ และประมวลผลคุณภาพเพื่อพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญกับเรื่องการรักษาข้อมูลเพื่อให้ทุกภาคส่วนมีความมั่นใจในการเข้าใช้งานระบบของสถาบัน รวมไปถึงการพัฒนา Data Center และการทำ Data Masking เพื่อให้ IT Infrastructure ของสถาบันมีความสมบูรณ์

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญด้านการเตรียมการระบบให้มีความพร้อมสำหรับการให้บริการแก่ประชาชน ด้วยการปฏิบัติตามมาตรฐาน ISO270001 ในทุกด้าน และได้รับการรับรองสำหรับระบบงานพันธกิจที่สำคัญ ได้แก่ Data Center ระบบด้านการลงทุน การรับ-ส่ง Email การขยายขอบเขต ระบบรับส่งข้อมูลรายผู้ฝาก (Data Acquisition: DA) และระบบประมวลผลข้อมูลรายผู้ฝากเพื่อการจ่ายคืน (Deposit Reimbursement System: DRS)

ด้านที่ 2 การรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน ด้วยการจำลองสถานการณ์จัดการทดสอบระบบร่วมกับหน่วยงานในตาข่ายความมั่นคงทางการเงิน อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการทดสอบด้านกระบวนการปฏิบัติงานเพื่อวิเคราะห์ และหาแนวทางปรับปรุงร่วมกัน

ด้านที่ 3 สื่อสารประชาสัมพันธ์ ด้วยการคำนึงถึงการให้บริการประชาชนที่ต้องสามารถเข้ามาติดต่อหรือแม้แต่ตรวจเช็คข้อมูล จึงมีการพัฒนาระบบ Customer Relation Management (CRM) เพื่อที่จะเชื่อมโยงกับระบบภายใน ให้สามารถแสดงผลข้อมูลผู้ฝาก โดยปัจจุบันมีการเชื่อมต่อกับระบบ Call Center และช่องทางสื่อสาร Online ให้มีการรวมศูนย์ในลักษณะ Omni Channel ช่วยให้การทำงานประชาสัมพันธ์มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประชาสัมพันธ์นั้น จะคำนึงถึง Customer-Centric เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและช่องทางการรับข่าวสารของประชาชน ด้วยการปรับรูปแบบการสื่อสารประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ และมีการใช้ระบบติดตามข้อมูลทางสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media Monitoring) เพื่อให้เข้าใจและตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ทันเวลา

ด้านที่ 4 บุคลากร ด้วยการผลักดันให้พนักงานเปิดรับ เรียนรู้ การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี ปัจจุบันสถาบันได้สร้างระบบเรียนรู้ภายในผ่าน Knowledge Management หรือ KM ภายในสถาบันเอง ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้เคลื่อนที่ที่พนักงานทุกคนสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา เตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรเพื่อให้พร้อมปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มความสามารถ

เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเสริมความมั่นคงและเสถียรภาพ

คุณทรงพล กล่าวว่า สถาบันคุ้มครองเงินฝากได้ให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนาคุณภาพบริหารขององค์กรให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการให้ความสำคัญกับผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง เพื่อปรับเปลี่ยนองค์กรให้สอดคล้องกับพฤติกรรมชีวิตวิถีใหม่ โดยโควิด-19 เป็นตัวเร่งที่ทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงิน สังคมไทยเปิดรับการชำระเงินและใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์แทนเงินสด (e-payment และ e-money)

ประกอบกับนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ซึ่งทางสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ตระหนักถึงการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมไร้เงินสดนี้ ทำให้ต้องศึกษาขอบเขตการคุ้มครองผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางการคุ้มครองที่เหมาะสม ตอบรับการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบผลิตภัณฑ์การเงินในปัจจุบันที่พัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง

“ปัจจัยความสำเร็จสูงสุด คือ ความเชื่อมั่นของประชาชนในระบบสถาบันการเงิน และความสามารถในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในระบบงานตามพันธกิจ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด จะสามารถรองรับการจ่ายคืนและชำระบัญชีได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังต้องเตรียมความพร้อมในด้าน Digital technology ที่เข้มข้นขึ้น เพราะสถาบันคุ้มครองเงินฝากเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญด้านการเตรียมการระบบต่าง ๆ ให้มีความพร้อมให้บริการแก่ประชาชน”