Dollar

ดอลลาร์เสื่อมค่าลง จะกระทบไทยอย่างไรบ้าง?

เกินกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ได้รับการยอมรับ และใช้ในการค้าระหว่างประเทศอย่างแพร่หลาย เพราะในแง่ตลาดการเงินแล้ว ดอลลาร์สหรัฐฯ ถือว่ามีเสถียรภาพ เป็นเสรี และมีสภาพคล่องมากที่สุดในสกุลเงินทั่วโลก แต่ดูเหมือนกับว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเงินดอลลาร์เริ่มเสื่อมค่าลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เลวร้ายลง ทั้งจากเรื่องสงครามการค้า การพิมพ์ธนบัตรเข้าสู่ระบบเพื่ออัดฉีดเศรษฐกิจจนทำให้มูลค่าเงินดอลลาร์เสื่อมถอยลง และยังต้องเผชิญกับการคานอำนาจการสกุลเงินหยวน และรูเบิลที่มากขึ้นจากการที่รัฐบาลจีน และรัสเซียพยายามผลักดันประเทศคู่ค้าของตัวเองให้ใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

ซึ่งการเสื่อมค่านี้นำมาสู่ประเด็นของ ‘De-Dollarization’ หรือการลดอำนาจสกุลเงินดอลลาร์ในระบบตลาดโลกถูกนำขึ้นมาพูดถึงมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งประเด็นนี้ได้ทำให้หลายประเทศมองว่าการถือครองสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีความเสี่ยงสูงขึ้น จนอาจทำให้มูลค่าเงินดอลลาร์เสื่อมถอยลงจนว่ากันไปถึงประเด็นที่ในอนาคต “สกุลเงินจะไม่ใช่สกุลเงินที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกอีกต่อไป”

โดยประเด็นนี้เริ่มขึ้นหลังจากเศรษฐกิจสหรัฐฯตกต่ำ ดังนั้น สหรัฐฯ จึง ‘ปั๊มเงิน’ ดอลลาร์เข้าสู่ระบบ เพื่ออัดฉีดเงินเข้าไปบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่ช่วงที่เผชิญ COVID-19 ประกอบกับต้นทุนพลังงานสูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน นั่นทำให้สหรัฐฯ เกิดปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง และนำมาสู่การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)

ซึ่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนี้ถึงแม้จะช่วยสะกัดเงินเฟ้อเอาไว้ได้ แต่ก็ส่งผลให้เกิดการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง เพราะการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเกี่ยวข้องกับกระแสเงินที่ไหลเข้าออกแต่ละประเทศ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่สูงขึ้นก็ทำให้เกิดการโยกเม็ดเงินลงทุนไปหาผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่สูงกว่า (ในกรณีนี้คือสหรัฐฯ) ซึ่งการโยกเม็ดเงินออกไปก็ทำให้เกิดความต้องการเงินดอลลาร์มากขึ้น และความต้องการเงินสกุลอื่นน้อยลง ผลที่เกิดขึ้นคือ การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ที่รวดเร็วทำให้สกุลประเทศอื่นๆ อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง 

และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์นี้ส่งกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะกับประเทศที่ทำการค้าขายกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะการนำเข้า ซึ่งประเทศไทยนั้น มีการนำเข้าจากสหรัฐฯ มากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 โดยเดือนมี.ค.2566 ที่ผ่านมาไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ ด้วยมูลค่า 49,445 ล้านบาท ซึ่งการที่ดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าเท่ากับว่าต้นทุนการผลิตของบริษัทในไทยจะสูงขึ้นเช่นกัน เพราะต้องใช้เงินบาทมากขึ้นเพื่อแลกกับ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า = เงินบาทอ่อนค่า) ดังนั้น การนำเข้าสินค้าในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะแพงขึ้น และนำมาสู่การขาดดุลการค้า นอกจากนี้การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ยังเป็นปัญหาอย่างมากต่อประเทศในเอเชียซึ่งเผชิญกับราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ยังมีผลกระทบในแง่ของประเทศที่มีหนี้ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวนมาก เพราะยิ่งดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่ามากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้หนี้ที่แปลงเป็นเงินสกุลของประเทศตัวเองสูงขึ้นเท่านั้น

เมื่อปัจจัยทั้งหมดนี้ประกอบเข้าด้วยกันจึงทำให้ตั้งแต่ปี 2565 ทำให้หลายประเทศมองว่าดอลลาร์มีความผันผวนสูง จึงได้เริ่มลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์ในการค้าขาย รวมไปถึงเริ่มลดการถือครองดอลลาร์สหรัฐฯ ในรูปของเงินสำรองระหว่างประเทศลง ซึ่งในกรณีที่ดอลลาร์แข็งค่ามากๆ จะทำให้บริษัทต่างๆ จากทั่วโลกที่มีหนี้สินต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นไปอีก (ต้องใช้เงินสกุลประเทศทั่วเองมากขึ้นในการจ่ายหนี้)

หลายประเทศจึงเริ่มลดการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยการทำข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศกับคู่ค้าใหม่ ซึ่งอาจจะพูดคุยถึงข้อตกลงที่จะหาเงินสกุลอื่นๆ มาแทนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งประเทศจีนเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ฉวยจังหวะเจรจากับหลายประเทศเพื่อเพิ่มสัดส่วนเงินหยวน เช่น บังคลาเทส คาซัสสถาน และ สปป.ลาว

อีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นแรงกระตุ้นการเสื่อมค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ คือการ คว่ำบาตรรัสเซีย ที่มีสาเหตุมาจากสงครามของรัสเซียและยูเครน ที่สหรัฐฯ ได้ตัดสินใจตัดรัสเซียออกจากระบบการเงินหลักของโลกหรือระบบ SWIFT ซึ่งทำให้ธนาคารกลางทุกแห่งของรัสเซียถูกตัดออกจากระบบการเงินโลก ทำให้ทางรัสเซียหันมาโปรโมทสกุลเงินของตัวเองมากขึ้น และหลายประเทศก็เริ่มหนีห่างจากดอลลาร์สหรัฐฯ จากการแข็งค่าของค่าเงิน จนต้องไปเลือกถือสกุลเงินอื่นแทนดอลลาร์สหรัฐ

ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในช่วงลูกผีลูกคน และเงินเฟ้อที่ยังคงสูงก็ยิ่งกลายเป็นปัจจัยกระตุ้นให้หลายประเทศเลือกที่จะไปถือทองคำเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศแทนดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะมองว่ามีความเสี่ยงน้อยกว่า

ถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังเป็นสกุลเงินหลักในเงินทุนสำรองของแต่ละประเทศทั่วโลก ด้วยสัดส่วนอยู่กว่า 60% และยังคงสถานะสื่อกลางในธุรกรรมระหว่างประเทศทั้งหมดอยู่ถึง 88% แต่ก็มีโอกาสที่จะถูกลดการถือครองลงมากขึ้น และหันมาถือครองค่าเงินอื่นที่มีเสถียรภาพรองลงมา เช่น สกุลเงินยูโร เยน และปอนด์สเตอร์ลิง

ทาง ‘Business+’ พบข้อมูลว่า ไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ มากถึง 8,255,996.80 ล้านบาท (237,582.64 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) จัดอยู่ในอันดับที่ 14 ของโลก เหนือประเทศฝรั่งเศส และอิตาลี ที่อยู่ลำดับที่ 15-16 และมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ใกล้เคียงกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาที่อยู่ในลำดับที่ 13 และไทยยังเป็นประเทศที่มีเงินสำรองระหว่างประเทศมากเป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาคอาเซียน (รองจากสิงคโปร์) แต่ไทยจะได้รับผลกระทบจากประเด็นที่ไทยถือพันธบัตรของสหรัฐจำนวน 81.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน

ซึ่งในอนาคตหากดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าไปต่อเนื่อง ในที่สุดก็จะถูกเทขายมากขึ้นจนเสื่อมมูลค่า และพลิกกลับมาอ่อนค่าลง แน่นอนว่ามูลค่าของพันธบัตรนั้นก็มีแนวโน้มที่จะลดลงด้วย ดังนั้น ไทยจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอนในแง่ของเงินสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นเงินที่สำคัญมาก เพราะเป็นทุนสำรองที่จะสามารถนำมาใช้ได้ทันทีเมื่อมีการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศอย่างฉับพลัน หรือช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวรุนแรง

ถึงแม้ว่า เราคงยังไม่ได้เห็นเงินดอลลาร์หลุดจากการเป็นเงินสกุลหลักของโลกเร็ว ๆ นี้ (เพราะปัจจุบันการค้าโลกใช้ดอลลาร์มากถึง 88% และใช้เงินหยวนเพียง 7%) แต่ในแง่ของการลงทุนแล้วนั้น ต้องบอกว่าการเสื่อมค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีผลต่อทั่วโลก และประเทศไทยอย่างมากเลยทีเดียว เพราะการเสื่อมค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่ได้ส่งผลดีต่อตลาดทุนไทย หรือตลาดเกิดใหม่ในระยะยาว เพราะจะยิ่งทำให้คนทั่วโลกมองว่าเศรษฐกิจของโลกกำลังสั่นคลอน และมีโอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจใหม่ ซึ่งระหว่างที่ยังเผชิญปัญหาเหล่านี้ นักลงทุนมักจะถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยเอาไว้แน่นกว่าที่จะเลือกความเสี่ยงจากการลงทุน มูลค่าการซื้อขายหรือการลงทุนทั่วโลกจึงชะลอตัวลงตาม

ที่มา : BOT , tradereport

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #Business #ดอลลาร์สหรัฐฯ