ส่อง 8 ข้อเท็จจริงการเป็นหนี้ของคนไทย พฤติกรรมเสี่ยงดันหนี้ปี 67 แตะ 91.4% ต่อ GDP

ปัญหาหนี้สิน ถือเป็นปัญหาที่ผู้คนยังคงต้องเผชิญอยู่ในทุกยุค ทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นในระดับครัวเรือน ระดับองค์กร ไปจนถึงระดับประเทศ โดยปัจจัยที่ก่อให้เกิดหนี้สินก็มีด้วยกันหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นหนี้สินที่เกิดจากปัญหาด้านรายได้, หนี้สินที่เกิดจากความต้องการส่วนตัว หรือแม้แต่หนี้สินที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำก็ตาม แต่ทุก ๆ การเป็นหนี้ย่อมนำมาซึ่งภาระผูกพัน อาจแตกต่างกันไปในส่วนของระยะเวลา บางคนอาจเป็นภาระผูกพันในระยะสั้น แต่ในบางรายก็อาจเป็นภาระผูกพันในระยะยาว โดยในวันนี้ Business+ ได้หยิบยกเอาบทความ “8 ข้อเท็จจริงการเป็นหนี้ของคนไทย” จาก ‘ธนาคารแห่งประเทศไทย’ มานำเสนอให้ได้เห็นถึงพฤติกรรมการเป็นหนี้ของคนไทยที่อาจนำมาซึ่งการผลักดันหนี้ครัวเรือนไทยในปี 2567 ให้เพิ่มขึ้นแตะระดับ 91.4% ต่อ GDP ตามคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ดังนี้

1. เป็นหนี้เร็ว
คนวัยเริ่มทำงาน (อายุ 25–29 ปี) มากกว่า 58% เป็นหนี้ และมากกว่า 25% เป็นหนี้เสีย (non-performing loan : NPL) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้ส่วนบุคคล และหนี้รถยนต์/มอเตอร์ไซค์ ที่บางส่วนไม่นำไปสร้างรายได้ ทำให้เป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มอายุน้อยกว่า 25 ปี ซึ่งรวมนักเรียน นักศึกษา เป็นหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน

2. เป็นหนี้เกินตัว
เกือบ 30% ของลูกหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคล มีหนี้เกิน 4 บัญชีต่อคน วงเงินรวมต่อคนสูงถึง 10–25 เท่าของรายได้ในแต่ละเดือน ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ของต่างประเทศที่ห้ามไม่ให้มีหนี้เกินกว่า 5–12 เท่าของรายได้ต่อเดือน จนทำให้รายได้เกินกว่าครึ่งต้องเอาไปจ่ายคืนหนี้ ซึ่งเป็นภาระหนี้ที่มาจากหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคลเกิน 50% หนี้สองประเภทนี้จึงถือเป็นศูนย์กลางของปัญหากับดักหนี้ของคนไทย ที่สำคัญหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคลมีดอกเบี้ยสูง เนื่องจากเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ระยะเวลาผ่อนสั้น ทำให้มีหนี้ที่ต้องชำระคืนต่อเดือนสูง ลูกหนี้จึงมีความเสี่ยงที่จะจ่ายไม่ไหวจนกลายเป็นหนี้เสีย เห็นได้จากจำนวนบัญชีของลูกหนี้รายย่อยที่เป็นหนี้เสีย เป็นหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคลมากกว่า 60%

3. เป็นหนี้โดยไม่ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนหรือถูกต้อง
4 ใน 5 ของปัญหาในขั้นตอนการเสนอขายสินเชื่อของสถาบันการเงิน คือ ลูกหนี้มักได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง6 ทำให้ไม่รู้และไม่เข้าใจเงื่อนไขการได้รับสินเชื่อ โดยเฉพาะดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ทั้งกรณีปกติและกรณีผิดนัดชำระ นอกจากนี้ ลูกหนี้บางส่วนยังได้รับข้อมูลด้านเดียว เช่น โปรโมชันผ่อนน้อย แต่ไม่ระบุให้ชัดว่าต้องผ่อนนาน ทำให้ลูกหนี้อาจตกอยู่ในวังวนการเป็นหนี้โดยไม่จำเป็น


4. เป็นหนี้เพราะมีเหตุจำเป็น
กว่า 62% ของครัวเรือนไทยมีเงินออมเผื่อฉุกเฉินไม่เพียงพอ และหากเกิดเหตุที่ทำให้รายได้ลดลง 20% จะมีครัวเรือนเกินครึ่งที่มีเงินไม่พอจ่ายหนี้ ทำให้ต้องไปกู้จากทั้งในและนอกระบบเพื่อดำรงชีพ และส่วนใหญ่ไม่สามารถจ่ายคืนได้ เพราะรายได้ไม่แน่นอน ซึ่งพบในหลายกลุ่มอาชีพ เช่น เกษตรกร อาชีพอิสระ ค้าขาย รับจ้าง บริการ และพนักงานโรงงาน

5. เป็นหนี้นาน
มากกว่า 1 ใน 4 ของคนอายุเกิน 60 ปี ยังมีภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระ โดยมีหนี้เฉลี่ยสูงกว่า 415,000 บาทต่อคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ในภาคเกษตรที่ได้รับการพักชำระหนี้เป็นเวลานาน รวมทั้งหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคลที่ลูกหนี้มักผ่อนจ่ายขั้นต่ำ (เกือบ 40%)10 ทำให้หมดหนี้ได้ช้า เช่น ถ้าผ่อนชำระหนี้ส่วนบุคคลขั้นต่ำ 3% จะต้องใช้เวลาถึง 7 ปี จึงจะผ่อนหมด

6. เป็นหนี้เสีย
ลูกหนี้ 10 ล้านบัญชีที่เป็นหนี้เสีย เกือบครึ่งหรือ 4.5 ล้านบัญชี เพิ่งเป็นหนี้เสียในช่วง COVID-19 (คิดเป็นลูกหนี้ 3.1 ล้านคน และมียอดหนี้รวม 4 แสนล้านบาท) แบ่งเป็นบัญชีหนี้เสียที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) 70% ผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) 20% และธนาคารพาณิชย์ 10% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ส่วนบุคคล และหนี้ในภาคเกษตร11

7. เป็นหนี้ไม่จบไม่สิ้น
เกือบ 20% ของบัญชีหนี้เสียถูกยื่นฟ้อง โดย 1 ใน 3 ของลูกหนี้ในคดีที่จบด้วยการยึดทรัพย์มาขายทอดตลาดแล้ว ก็ยังปิดหนี้ไม่ได้ และอาจถูกอายัดทรัพย์เพิ่มเติม ส่วนหนึ่งชี้ว่าลูกหนี้ไม่มีตัวช่วยหาทางออก เข้าไม่ถึงการไกล่เกลี่ยหนี้ ทั้งก่อนฟ้อง หลังฟ้อง และหลังมีคำพิพากษา และในกรณีที่ลูกหนี้ไปต่อไม่ไหว ก็ยังไม่มีช่องทางให้ลูกหนี้รายย่อยทั่วไปที่ไม่ได้ทำธุรกิจเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูหรือล้มละลาย ซึ่งแม้การเป็นบุคคลล้มละลายจะมีข้อจำกัดในการกู้ใหม่ แต่ก็ช่วยให้ลูกหนี้มีทางออกได้

8. เป็นหนี้นอกระบบ
42% ของกว่า 4,600 ครัวเรือนทั่วประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือแก้หนี้ มีหนี้นอกระบบเฉลี่ยคนละ 54,300 บาท จากการที่

  1. เข้าไม่ถึงหนี้ในระบบเพราะมีรายได้ไม่แน่นอน เจ้าหนี้ไม่เห็นข้อมูลรายได้ จึงไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ และหากจะปล่อย อาจคิดดอกเบี้ยสูง
  2. เลือกกู้นอกระบบเอง เพราะสะดวก ได้เงินเร็ว ไม่ต้องมีหลักประกัน แม้ดอกเบี้ยจะแพง
  3. ใช้/ขอสินเชื่อในระบบเต็มแล้ว จนต้องกู้หนี้นอกระบบไปจ่ายหนี้ในระบบ

อย่างไรก็ดี เมื่อพอจะเห็นภาพรวมการเป็นหนี้ของคนไทยแล้ว อาจกล่าวได้ว่าหลาย ๆ พฤติกรรมการเป็นหนี้ก็มีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ปริมาณหนี้สินในภาพรวมของประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดย ttb analytics’ ประเมินสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทย ณ สิ้นปี 2567 จะอยู่ที่ 91.4% หรือราว 16.9 ล้านล้านบาท โดยสถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังคงน่าเป็นห่วงทั้งในมิติของปริมาณการก่อหนี้ที่ไม่สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเร็ว และคุณภาพหนี้มีแนวโน้มด้อยลง ส่วนหนึ่งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเชื่องช้า ส่งผลให้ระดับรายได้ของครัวเรือนฟื้นตัวได้อย่างจำกัด ขณะที่ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้และคุณภาพของหนี้ อีกทั้งอุปสรรคจากการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบของลูกหนี้บางส่วน ทำให้ต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบและเผชิญกับปัญหาวังวนหนี้ไม่รู้จบ โดยมองว่าหนี้ครัวเรือนไทยในระยะต่อไปยังมีความเปราะบางสูงจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

  1. เศรษฐกิจและระดับรายได้ฟื้นช้า
  2. ต้นทุนทางการเงินสูงกว่าในอดีต
  3. พฤติกรรมการก่อหนี้โดยขาดวินัยทางการเงินที่ดี

ซึ่งหากดูจากปัจจัยที่ทำให้หนี้ครัวเรือนมีความเปราะบาง จะเห็นว่าปัญหาจากพฤติกรรมการก่อหนี้ของประชาชนก็ยังคงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมหนี้ครัวเรือนในระยะยาว ดังนั้น การพยายามเคลียร์หนี้ให้ได้ไวและไม่ก่อหนี้สินเพิ่มเติมก็ยังคงเป็นวิธีที่ดีที่จะแก้ปัญหาหนี้สินไม่ให้กลายเป็นแผลเรื้อรังจนส่งผลกระทบทั้งต่อตนเองและภาพรวม

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย, ttbbank

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #หนี้ #หนี้สิน #หนี้สินคนไทย #พฤติกรรมเสี่ยงหนี้ #หนี้ครัวเรือน