เทียบค่าเงินประเทศหลักในเอเชีย หลังดอลฯแข็งปั๊ก กดสกุลต่างประเทศอ่อนยวบ

หลังจากไม่กี่วันก่อนสหรัฐฯ ได้ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อออกมารอบเดือนมิถุนายน ออกมาที่ 9.1% ถือว่าเป็นตัวเลข (CPI) ซึ่งเป็นตัวแทนของอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ สูงสุดในรอบเกือบ 41 ปี

ซึ่งตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างไม่ลดละ ทำให้มีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในเดือนกรกฏาคม ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ปรับขึ้นสู่ระดับ 1.5-1.75% (รุนแรงสุดในรอบ 28 ปี นับตั้งแต่ปี 1994)

แน่นอนว่าภายหลังการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะทำให้ประเทศอื่นๆ ถูกดึงเม็ดเงินออกไป เพื่อไปหาผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าและเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่แทน

การที่เม็ดเงินไหลออกจากประเทศจะทำให้เกิดการขายสกุลเงินในแต่ละประเทศออกมา นั่นจึงทำให้สกุลเงินของประเทศอื่นๆ อ่อนค่า และค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น

ไทยเป็นหนึ่งประเทศที่ค่าเงินบาทอ่อนค่ามาอย่างต่อเนื่องหลังสหรัฐฯ ขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยค่าเงินปัจจุบันคือ 36.30 บาทต่อดอลลาร์ หากมาย้อนดูข้อมูลนับตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบัน (YTD) เราจะเห็นว่าค่าเงินบาทอ่อนค่ามาแล้ว 2.99 บาทต่อดอลลาร์ฯ คิดเป็นการอ่อนค่า 8.98% จากระดับ 33.310 บาท เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2564

แต่ในประเด็นนี้ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่า เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 7 ปี แต่เป็นการอ่อนค่าในระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น เช่น เงินเยน เงินวอน และเงินเปโซ เป็นต้น ที่มีทิศทางการอ่อนค่ามากกว่าเงินบาท

ทีนี้เรามาดูกันบ้างดีกว่าสกุลเงินต่างๆ ในเอเชียเป็นอย่างไรบ้างนับตั้งแต่ต้นปี เราจะเห็นว่า สกุลเงินที่อ่อนค่ามากที่สุดนับตั้งแต่ต้นปีคือเงินเยน ของญี่ปุ่น ซึ่งอ่อนค่าไป 20.70% ถือเป็นการอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 20 ปี สาเหตุสำคัญของเงินเยนที่อ่อนค่ามาจากการใช้นโยบายการเงินที่มีความแตกต่างกันมากระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ

โดยที่ทางธนาคารกลางของญี่ปุ่นต้องการคงอัตราดอกเบี้ยเพื่อรักษาอัตราผลตอบแทนท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังตกต่ำ สวนทางกับสหรัฐฯ ที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ จนทำให้ค่าเงินสหรัฐฯที่แข็งค่าขึ้น อันดับที่ 2 คือ เงินวอน ของเกาหลีใต้ ซึ่งอ่อนค่าไป 11.19% อันดับที่ 3 คือ เงินเปโซ ของฟิลิปปินส์ ซึ่งอ่อนค่าไป 10.84%

ส่วนของประเทศไทยเป็นอันดับที่ 4 ซึ่งอ่อนค่าไป 9.89% โดยเป็นการอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2560 โดยโดยในระยะข้างหน้า ประเมินว่าแรงกดดันต่อค่าเงินบาทจะชะลอลง คาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการคาดการณ์ว่าในช่วงท้ายปี ค่าเงินจะกลับมาแข็งค่าขึ้น หลังจากธนาคารกลางแห่งประเทศไทยเตรียมขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 3-4/2565 ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อเงินบาท

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : tradingview

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ค่าเงินบาท #เงินบาทอ่อน #อัตราแลกเปลี่ยน