‘ธนาคารไทยเครดิต’ หลังจากเข้าตลาดหุ้นแล้ว แต่ทำไมมูลค่าบริษัทยังไม่ไปไหนสักที?

ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) หรือ ธนาคารไทยเครดิต เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย วันที่ 9 ก.พ.2567 ซึ่งถือว่าเป็นหุ้นธนาคารแรกในรอบ 10 ปีที่เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นไทย จึงเป็นที่น่าจับตามองอย่างมากสำหรับอุตสาหกรรมการธนาคาร

แต่ภายหลังจากเข้าตลาดหุ้นไปแล้วหลายเดือน จนจบไตรมาส 1/2567 ก็พบว่าราคาหุ้นยังไม่ขยับไปไหนสักที และล่าสุดยังคงต่ำกว่าราคา IPO ที่เข้าตลาดเสียอีก

หนึ่งในสาเหตุหลักอาจจะเป็นเรื่องของกำไรสุทธิไตรมาสแรกประกาศวันที่ 22 เม.ย. ลดลงจากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนเกือบ 52% โดยสาเหตุจะเกิดจากอะไร? และมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างหลังจากเข้าตลาดหุ้น วันนี้ ‘Business+’ ได้ทำการสำรวจตัวเลขทางการเงินที่สำคัญๆ เอาไว้แล้วในคอนเทนต์ก่อนหน้า

Credit

โดยจะเห็นว่า รายได้ของไทยเครดิตเพิ่มสูงขึ้นจากปีที่แล้ว แต่กำไรสุทธิของบริษัทปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอย่างมากจาก 926.86 ล้านบาท เหลือเพียง 449.58 ล้านบาท ซึ่งรายได้ดอกเบี้ยนั้นเพิ่มขึ้น 19.6% จากเดิม 3,615.6 ล้านบาท เป็น 4,325.9 ล้านบาท เกิดจากปริมาณเงินสินเชื่อ ที่เติบโตเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์สินเชื่อหลักของธนาคาร โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์สินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี และยังได้รับปัจจัยบวกจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารฯ

แต่สาเหตุที่ทำให้กำไรสุทธิลดลงเกิดจาก 2 ส่วนหลักๆ คือ 1.การตั้งผลขาดทุนด้านเครดิต 2.ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

ซึ่งเราพบว่าไทยเครดิตได้ตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 1,643 ล้านบาท ในไตรมาส 1/67 (เพิ่มขึ้น 112.1%) เพื่อให้สอดคล้องกับการเติบโตของสินเชื่อลูกหนี้ และการเพิ่มขึ้นของเงินให้สินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อตามมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จาก ธปท. ซึ่งอาจจะทำให้ธนาคารได้ดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าสินเชื่อประเภทอื่นๆมาก และมีความเสี่ยงสูงอีกด้วย

ส่วนที่ 2 ที่ทำให้กำไรสุทธิลดลงอย่างมากคือ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของธนาคารที่เพิ่มขึ้น 18.6% จาก 1,123 ล้านบาทในไตรมาส 1/66 เป็น 1,331.4 ล้านบาท  ส่วนหนึ่งคือค่าใช้จ่ายพนักงานที่เพิ่มขึ้น 131.3 ล้านบาท ตามการขยายสาขาเงินฝาก อีกส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายอาคารอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้น 28.7 ล้านบาท จากการเข้าลงทุนระบบสารสนเทศ และยังมีค่าภาษีอากรที่เพิ่มขึ้น 22.3 ล้านบาท รวมไปถึงการทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น

ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของกำไรสุทธิที่ลดลงไปมากถึง 52% ในไตรมาสแรก หลังจากเข้าตลาดหุ้น เป็นที่น่าจับตามองต่อไปว่าผลงานทั้งปีหลังจากเข้าตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร เพราะกำไรสุทธิที่ลดลงอย่างมากนั้น ก็ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นของไทยเครดิตยังคงต่ำกว่าราคา IPO

อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงความใหญ่ หรือมูลค่าบริษัทของธนาคารแห่งนี้ ‘Business+’ พบว่า ธนาคารไทยเครดิต เป็นธนาคารขนาดเล็กที่มีมูลค่าบริษัท (Market Cap) ต่ำที่สุดหากนำมาเทียบกับ 8 ธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในตลาดหุ้นไทยอยู่แล้ว ด้วยมูลค่าราว 35,000 ล้านบาท (จากราคา IPO) และปัจจุบันเหลือ 33,525 ล้านบาท

แต่ข้อดีคือ ไทยเครดิตเป็นธนาคารที่มีความสามารถในการสร้างรายได้สูงอย่างมาก โดย ธนาคารไทยเครดิต ถือว่าเป็นธนาคารที่มีความสามารถในการหารายได้สูงที่สุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในตลาดทั้งหมด โดยสัดส่วน NIM สูงถึง 8.70% เทียบกับธนาคารพาณิชย์อื่นที่เฉลี่ยเพียง 3-5%

ซึ่งสาเหตุเกิดจากโครงสร้างต้นทุนที่ต่ำทำให้เกิดการได้เปรียบเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นๆ เพราะกลุ่มลูกค้าหลักๆ ของธนาคารไทยเครดิตคือ ลูกค้ารายย่อย และธนาคารจะเน้นการปล่อยสินเชื่อจำนวนเล็กๆ ซึ่งมีทั้งกลุ่ม Micro-Finance และ Micro-SMEs โดยหลักการคือ ปล่อยเงินกู้ให้กับให้แก่คนที่ไม่มีงานทำ และคนยากจนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อในรูปแบบปกติผ่านทางสถาบันทางการเงินรายอื่น

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ในช่องทางอื่นๆ ที่ Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #ไทยเครดิต #ธนาคารไทยเครดิต #CREDIT