เปิดสาเหตุที่ ‘เกาหลีใต้’ เข้าร่วม CPTPP ข้อตกลงทางการค้าที่ถูกหลายฝ่ายคัดค้าน

เมื่อไม่กี่วันมานี้ ‘เกาหลีใต้’ ได้ตัดสินใจเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรี CPTPP หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก โดยรัฐบาลเกาหลีจะยื่นเอกสารสมัครอย่างเป็นทางการภายหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการภายในประเทศ ซึ่งมีแผนจะยื่นภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 (ก่อนประธานาธิบดี ‘มุน แจ-อิน’ จะอำลาจากตำแหน่งประธานาธิบดี)

ทีนี้มาทำความรู้จักกันก่อนว่า CPTPP คืออะไร?

CPTPP มีชื่อเต็มว่า Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership (CPTPP) เป็นข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก รวมไปถึงประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม และกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ

ซึ่ง CPTPP ถือว่าเป็นความตกลงฉบับใหม่ ปรับจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TransPacific Partnership : TPP) ที่ริเริ่มโดย ‘บารัค โอบามา’ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่ง TPP ถูกมองว่าจะเป็นกุญแจสำคัญในการถ่วงดุลอิทธิพลทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของจีน

แต่ในปี 2560 ประธานาธิบดี ‘โดนัลด์ทรัมป์’ ได้ถอนตัวออกจาก TPP ทำให้ CPTPP ปรับเปลี่ยนเป็นเวอร์ชั่นใหม่ที่ไม่มีสหรัฐอเมริกา และ CPTPP ได้มีผลบังคับใช้เมื่อปลายปี 2561 ลงนามโดย 11 ประเทศซึ่งเป็นสมาชิกในขณะนี้ ได้แก่ ออสเตรเลีย , บรูไน , แคนาดา , ชิลี , ญี่ปุ่น , มาเลเซีย , เม็กซิโก , นิวซีแลนด์ , เปรู , สิงคโปร์ และเวียดนาม

ทั้งนี้ CPTPP ถือเป็นหนึ่งใน FTA สมัยใหม่ซึ่งมีข้อตกลงที่คลอบคลุมมากกว่า FTA เพราะเป็นข้อตกลงที่ขยายขอบเขตไปถึงภาคบริการ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

ยกตัวอย่างเช่น สมาชิกต้องเข้าร่วมอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ รวมทั้งต้องมีการเชื่อมโยงระบบแจ้งเตือนสิทธิบัตรยา หรือแม้แต่การคุ้มครองสิทธิแรงงาน ตามอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ

สำหรับข้อดีของการเข้าร่วม CPTPP ได้แก่

– ขนาดของตลาด และ GDP ที่จะเพิ่มขึ้น เพราะประเทศสมาชิก CPTPP มีประชากรกว่า 495 ล้านคน (6.7% ของประชากรโลก) และมี GDP กว่า 11 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (13.5% ของ GDP โลก) หากเราไม่ได้ทำ FTA กับประเทศใดในสมาชิก ก็จะทำให้สามารถส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้นหากเข้าร่วม CPTPP

ทั้งนี้มาดูมุมมองของทางประเทศเกาหลีใต้กันบ้าง โดยสาเหตุที่ทำให้เกาหลีใต้ตัดสินใจเข้าร่วมเนื่องจากเกาหลีใต้ตั้งเป้าที่จะสร้างความหลากหลายในการส่งออกของประเทศ ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น

ซึ่ง ‘สถาบันนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของเกาหลี’ ประเมินว่า การเข้าร่วม CPTPP จะช่วยกระตุ้นการค้าและการลงทุนของเกาหลีใต้เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP สูงขึ้น 0.33-0.35%

ถึงแม้จะมีหลายส่วนที่ข้อตกลง CPTPP มีข้อดี แต่เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ข้อตกลง CPTPP ในหลาย ๆ ประเทศมักจะถูกคัดค้าน เช่นกันกับเกาหลีใต้ ซึ่งเกษตรกรและชาวประมงได้ออกมาเคลื่อนไหวและคัดค้าน โดยอ้างถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับภาคการเกษตรและการประมง

สาเหตุเป็นเพราะข้อตกลงในแง่ของอนุสัญญาการคุ้มครองพันธ์พืชใหม่ อาจทำให้ต้นทุนการเกษตรจะสูงขึ้นจากการผูกขาดเมล็ดพันธุ์พืช

ขณะที่ในแง่ของระบบการผลิตยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ อาจจะทำให้การเข้าถึงยาบางประเภทได้น้อยลง รวมไปถึงอาจกระทบในแง่ของค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคและยารักษาโรคสูงขึ้น เพราะจะมีการยกเลิกอุดหนุนรัฐวิสาหกิจที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อรัฐวิสาหกิจ ธุรกกิจ และอุตสาหกรรมของต่างประเทศ เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า ยารักษาโรค

อย่างไรก็ตามรัฐบาลเกาหลีใต้ได้ชี้แจ้งและให้คำมั่นว่าจะพยายามเป็นกระบอกเสียงให้กับส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในการเจรจาข้อตกลงกับ CPTPP และจัดทำมาตรการช่วยเหลือเมื่อมีความจำเป็น

ซึ่งก็ต้องเป็นประเด็นจับตาต่อว่า เกาหลีใต้จะสามารถยื่นสมัครได้ภายในกำหนดการเดิมคือวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 หรือไม่? ขณะที่หากการเข้าร่วมสำเร็จขึ้นมาจริง ๆ จะสามารถทำให้การเติบโตของ GDP เพิ่มขึ้นได้หรือไม่ และจะมีผลกระทบต่อเกษตรกร และทางการแพทย์อย่างไร

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #เกาหลีใต้ #korean #CPTPP