Concert

จัดคอนเสิร์ตใหญ่แต่ละทีเกิดธุรกิจอะไรใหม่บ้าง?

การจัดคอนเสิร์ตนอกจากจะสร้างรายได้มหาศาลให้กับบริษัทจัดคอนเสิร์ตแล้ว ยังทำให้เกิดการจ้างงานอีกมากมาย เพราะการจัดคอนเสิร์ตแต่ละครั้งจะต้องเกี่ยวข้องกับงานในหลายส่วน ทั้งผู้สนับสนุนการแสดงคอนเสิร์ต เช่น ทำการโฆษณาเพื่อโปรโมทศิลปินและงานในช่วงก่อนและหลังคอนเสิร์ต รวมไปถึงการจ้างงานนักดนตรี คนทำงานด้านเทคนิคการควบคุมแสงสีเสียง รวมไปถึง Staff และ Security guard ที่ต้องดูแลความเรียบร้อยอำนวยความสะดวกให้คนเข้าร่วมงาน

ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีการจัดคอนเสิร์ตจากศิลปินต่างชาติมากมาย โดยในปี 2022 มีคอนเสิร์ตในไทยทั้งหมด 210 งาน มากกว่าปี 2019 ถึง 22% ซึ่งการจัดคอนเสิร์ตใหญ่แต่ละที โดยเฉพาะคอนเสิร์ตศิลปินเกาหลีที่มีฐานแฟนคลับจำนวนมากนั้น ได้ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ มากมาย

คอนเสิร์ตในไทย

โดยธุรกิจใหม่ที่เกิดจากการคอนเสิร์ตมีดังนี้

– ธุรกิจรับกดบัตรคอนเสิร์ต ซึ่งราคากดต่อใบนั้น ผู้รับกดบัตรจะบวกค่ากดใบละ 150-1,500฿ ขึ้นอยู่กับความยาก ที่วัดจากการจัดงานคอนเสิร์ตครั้งก่อน และฐานแฟนคลับในแต่ละปี ซึ่งธุรกิจนี้น่าสนใจตรงที่ต้นทุนของการกดบัตรมีเพียงแค่ค่าไฟ กับค่าเสียเวลา เพราะค่าบัตรทั้งหมดลูกค้าจะเป็นคนจ่ายเอง เราเป็นเพียงคนทำหน้าที่กดในวันและเวลาที่เปิดขายตั๋วเท่านั้น แต่กำไรแต่ละใบไม่ได้สูงมาก คนกดบัตรจึงต้องเน้นไปที่ปริมาณ โดยอาชีพนี้ยังไม่ได้เกิดเป็นธุรกิจแบบจริงจัง แต่ในอนาคตคาดการณ์ว่าจะเกิดเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ออกมาได้ โดยเฉพาะ Start-Up ต่างๆ ที่เล็งเห็นโอกาสเหล่านี้

– ธุรกิจเช่ามือถือ ซึ่งเกิดมาจากการใช้โซเชียลมีเดียอย่าง ‘ทวิตเตอร์’ โดยส่วนใหญ่การเช่าต่อครั้ง/คอนเสิร์ต จะเริ่มต้นอยู่ที่ 1,000-1,500 บาท และมีค่ามัดจำมือถือกันชำรุดและสูญหายครั้งละ 500 บาทขึ้นไป พร้อมทั้งมีการใช้สำเนาบัตรประชาชนในการทำสัญญาเช่ายืม ซึ่งฟังก์ชั่นที่ได้จะเป็นไปตามมือถือที่เราเลือกเช่า ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการมือถือที่ Zoom ได้หลายเท่า ก็เลือกเช่ามือถือที่มีฟังก์ชั่นนี้ที่มือถือของเรายังไม่มี โดยการเช่าเพื่อนำไปอีเวนต์และคอนเสิร์ตต่าง ๆ เพียงไม่กี่ครั้ง จะคุ้มค่ากว่าการซื้อมือถือใหม่ ซึ่งราคาเต็มจะสูงถึง 30,000 บาทเป็นต้นไป แต่ถ้าเราเช่ามือถือก็จะมีค่าใช้จ่ายเพียงครั้งละ 1,500 บาท ในมุมของผู้ใช้บริการก็จะพบว่าตนไม่จำเป็นจะต้องซื้อมือถือใหม่หรือเสียเงินเป็นก้อนเพื่อการเก็บภาพ โดยการเช่าจะอยู่ในช่วงราคาเช่าเครื่องละ 1,000-1,500 บาท

ขณะที่ในแง่ของผู้ให้เช่านั้น ก็จะได้ทุนคืนจากการปล่อยเช่าเพียงแค่ไม่กี่ครั้ง และที่เหลือก็จะเป็นกำไร เพราะโทรศัพท์เครื่องหนึ่งนั้นสามารถใช้งานได้หลายปี และหากเครื่องเสียหายก็สามารถหักค่าประกันจากผู้เช่าได้อีกด้วย หากต้องการอ่านรายละเอียดคอนเทนต์เกี่ยวกับธุรกิจเช่ามือถือ สามารถตามอ่านกันได้ที่คอนเทนต์ ธุรกิจเช่ามือถือเข้าคอนฯ เพื่อไอดอลคนโปรด

– ธุรกิจผลิต และขายอุปกรณ์เชียร์ แน่นอนว่าการเข้าคอนเสิร์ตแต่ละครั้งจำเป็นต้องมีอุปกรณ์เพื่อเชียร์ ให้กำลังใจศิลปินที่ตัวเองชื่อชอบ โดยเฉพาะ ‘แท่งไฟ’ ประจำวง ซึ่งทำให้เกิดความต้องการในตลาดเป็นอย่างมาก และแท่งไฟ หรือป้ายไฟต่างๆ ก็จะยิ่งถูกพัฒนา และปรับเปลี่ยนรูปแบบไปทุกๆ ปี นั่นยิ่งทำให้ตลาดแท่งไฟ และอุปกรณ์เชียร์จะอยู่คู่คอนเสิร์ตไปตลอด ซึ่งราคาของอุปกรณ์เชียร์มีตั้งแต่แบบธรรมดาไปจนถึงแบบพรีเมียม ราคาจะตกอยู่ในช่วงชิ้นละ 25-1,500 บาท ซึ่งปัจจุบันเราได้เห็นว่ามีคนออกมารับทำแท่งไฟขายจำนวนมาก จนสามารถเปิดเป็นธุรกิจของตัวเองได้เลยทีเดียว

– ธุรกิจรถรับส่งก่อน และหลังคอนเสิร์ต โดยรถรับส่งนี้อาจจะคล้ายกับการเรียกบริการ Grab ซึ่งมีตั้งแต่เป็นรถส่วนบุคคล และรถตู้ โดยค่าโดยสารนั้นเริ่มต้นที่ 100 บาทต่อหัว ขึ้นอยู่กับบริเวณที่ไปรับ-ส่ง โดยลูกค้าจะได้รับความสะดวกสบายเพราะช่วงที่มีคอนเสิร์ตในไทยนั้น ส่วนใหญ่จะจัดงานที่เมืองทองธานี และยังไม่มีรถไฟฟ้า BTS หรือ MRT (ขณะนี้ยังก่อสร้างไม่เสร็จ ซึ่งอนาคตจะเป็นรถไฟฟ้าสีชมพู) จึงทำให้การเดินทางเข้าและออกค่อนข้างลำบาก โดยเฉพาะช่วงที่มีคนจำนวนมากทำให้รถสาธารณะ หรือแท็กซี่ไม่เพียงพอ

– โฮสเทล (แบ่งบ้านให้เช่า) โดยธุรกิจนี้เกิดขึ้นเพราะความต้องการโรงแรม หรือที่พักที่ใกล้กับสถานที่จัดคอนเสิร์ต แต่แน่นอนว่าราคา และปริมาณของห้องพักก็ไม่เพียงพอ และอาจไม่ตอบโจทย์ ดังนั้น คนที่มีคอนโด ห้องพัก หรือแม้แม่บ้านในพื้นที่ใกล้เคียงจึงเกิดเป็นไอเดียในการแบ่งห้องเช่าให้พักเป็นรายคืน ซึ่งราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 300 บาท เป็นต้นไป ขึ้นอยู่กับสถานที่ว่าห่างจากสถาที่จัดคอนเสิร์ตมากน้อยแค่ไหน

– ธุรกิจรับเฝ้าของหน้าคอนเสิร์ต โดยปกติแล้วนั้น ในคอนเสิร์ตมักจะมีสิ่งของที่ห้ามนำเข้าไปหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม  สิ่งเทียมอาวุธ วัตถุอันตราย สัตว์เลี้ยงทุกชนิดเข้าภายในงาน ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งกลุ่มคนที่รู้ หรือไม่รู้อยู่แล้วแต่ไม่สามารถจะทิ้งของเหล่านั้นได้จึงต้องการสถานที่รับฝากของ หรือแม้แต่ต้องการฝากสัมภาระที่มีขนาดใหญ่ และหนัก ซึ่งทำให้ลำบาก และไม่คล่องตัวในคอนเสิร์ต ดังนั้น จึงเกิดเป็นไอเดียการรับฝากของโดยคิดค่าเฝ้าของเป็นรายชั่วโมง หรือบางรายอาจเหมาจ่าย ซึ่งคนรับเฝ้าของนั้นจะคิดราคาตั้งแต่ 50 บาทต่อชั่วโมงไปจนถึงราคาแบบเหมา

จะเห็นได้ว่าการจัดคอนเสิร์ตในแต่ละครั้ง ทำให้เกิดช่องทางสร้างรายได้ที่หลากหลาย โดยหลายส่วนเราอาจจะมองว่าไม่จำเป็น แต่หากเข้าไปสัมผัสในพื้นที่คอนเสิร์ตจริงแล้ว จะรู้ว่า การให้บริการเล็กๆ เหล่านี้ล้วนเกิดจากความต้องการของคน และประสบการณ์ตรงในงานทั้งนั้น ซึ่งการให้บริการเหล่านี้ปัจจุบันยังอยู่ในรูปแบบของการให้บริการส่วนบุคคลใน Twitter มากกว่า แต่ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นการพัฒนาการให้บริการเล็กๆ เหล่านี้ไปในรูปแบบโมเดลธุรกิจที่ชัดเจนขึ้น ปลอดภัยขึ้น เป็นระบบมากขึ้น และเป็นรูปแบบที่น่าเชื่อถือได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2566 ซึ่งในประเทศไทยได้มีคอนเสิร์ตมาจัดมากมายไปตลอดจนสิ้นปี และยังมีโอกาสที่ปีต่อ ๆ ไปจะมีคอนเสิร์ตมาจัดจำนวนมากจากเสถียรภาพทางการเมืองที่ดีขึ้น เศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว และโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นนั่นเอง

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #Business #รับกดบัตร #คอนเสิร์ตในไทย #จัดคอนเสิร์ต #เช่ามือถือ