Carbon

เปิดข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ของไทย แต่ละภาคเศรษฐกิจปล่อยมากน้อยแค่ไหน?

ประเทศไทยกำหนดเป้าหมายมุ่งสู่พลังงานสะอาด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนไดออกไซด์) สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายใน ค.ศ. 2065-2070 หรือ พ.ศ.2608-2613 (อีก 41 ปีข้างหน้า) และยังมีแผนลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 30% ภายในปี 2567 เท่ากับว่าเราเหลือเวลาอีกเพียง 6 ปีเท่านั้นที่จะต้องทำให้ถึงเป้าหมายให้ได้

อย่างไรก็ตามเมื่อดูจากเทรนด์ของการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของไทย ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกมากที่สุดพบว่า มีการปรับตัวลดลงตั้งแต่ปี 2560 ในเกือบทุกภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในส่วนของภาคขนส่ง และอุตสาหกรรมเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ภาพรวมทั้งหมดก็ยังเป็นการลดลงได้เพียงปีละเล็กน้อยเท่านั้นเพราะยังได้รับปัจจัยกดดันจากภาคการผลิตไฟฟ้าที่ปล่อยคาร์บอนฯ เพิ่มขึ้นสวนทางกับภาคเศรษฐกิจอื่น

ล่าสุด สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยยอดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการใช้พลังงาน 6 เดือนแรกของปี 2567 พบว่า การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงาน อยู่ที่ระดับ 121.9 ล้านตัน CO2 ลดลง 2.5% เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปีก่อน

โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 เศรษฐกิจของไทยขยายตัวได้ดี GDP ไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 ขยายตัว 2.3% ซึ่งจริงๆแล้วการที่เศรษฐกิจดีขึ้นเท่ากับว่ามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เช่น มีการบริโภคเพิ่มขึ้นทำให้เกิดการผลิตมากขึ้น การท่องเที่ยวฟื้นตัวทำให้เกิดการเดินทางมากขึ้น และการส่งออกนำเข้าดีขึ้นทำให้เกิดการขนส่งมากขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 มีการใช้พลังงานขั้นต้น เพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ที่น่าสนใจคือประเทศไทยมีการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น 6.6% และมีการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงานลดลง 2.5%

ทั้งนี้เมื่อแยกตามภาคเศรษฐกิจ จะพบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

การขนส่ง ซึ่งมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 ที่ 34% ในครึ่งปีนี้มีการปล่อยก๊าซ CO2 ลดลง 1.2% โดยสาเหตุที่ทำให้การปล่อยก๊าซ CO2 ในภาคขนส่งลดลงมาจากทั้งการใช้น้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ลดลง สอดคล้องกับการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล น้ำมันกลุ่มเบนซิน และ NGV ที่ลดลง โดยเกิดจากการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของยานยนต์ไฟฟ้ามีผลต่อความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูป และ NGV ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 ในภาคขนส่งลดลง

ภาคอุตสาหกรรม มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 ที่ 21% มีการปล่อยก๊าซ CO2 ลดลง 16.8% สอดคล้องกับข้อมูลอัตราการใช้กำลังผลิตสินค้าอุตสาหกรรมในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 59% ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 61% เนื่องจากการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกที่หดตัวในไตรมาสแรกของปี 2567

ภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ (ภาคครัวเรือน เกษตรกรรม พาณิชยกรรม และอื่นๆ) มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 ที่ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า

ส่วนภาคการผลิตไฟฟ้า มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 ที่ 40% มีการปล่อยก๊าซ CO2 เพิ่มขึ้น 5.8% จากความต้องการ ใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและสภาพอากาศที่ร้อนกว่าปกติ

ขณะที่ภาพรวมตลอด 7 ปีที่ผ่านมาการปล่อยคาร์บอนฯ ภาพรวมของประเทศ และแยกเป็นรายภาคเศรษฐกิจเป็นดังนี้

carbon

โดยการที่ภาพรวมการปล่อยคาร์บอนของไทยในช่วงครึ่งปี 2567 ลดลงนั้น จริงๆเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้น แต่ก็รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในบางภาคอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้การผลิต การขนส่งลดลงตามไปด้วย ดังนั้นหากจะวิเคราะห์เทรนด์ของการปล่อยคาร์บอนฯจึงต้องมองภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศในช่วงนั้นๆ เช่นกัน

ขณะที่หากเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซ CO2 ต่อการใช้พลังงานของประเทศไทยเทียบกับต่างประเทศ จากข้อมูลของ International Energy Agency (IEA) ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ในปี 2565 ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซ CO2 ต่อการใช้พลังงานอยู่ที่ 2.05 พันตัน CO2 ต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมประเทศจีน) ประเทศจีน และประเทศสหรัฐอเมริกา อยู่ที่ 2.29 2.34 2.79 และ 2.12 พันตัน CO2 ต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซ CO2 ต่อการใช้พลังงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรป ซึ่งอยู่ที่ 1.95 พันตัน CO2 ต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE ซึ่งประเทศไทยมีนโยบายด้านพลังงานที่คำนิงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นพลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงทำให้มีการปล่อยก๊าซ CO2 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ซึ่งจะช่วยทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดปลดปล่อยก๊าซ CO2 ตามเป้าหมายของการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้ (สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน)

ที่มา : eppo.go.th , สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ,Data Analytics By Business+

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus

Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #อุตสาหกรรม #คาร์บอนเครดิต #คาร์บอนไดออกไซต์ #CO2