CMMU ชี้เป้า “Mega Trends for SMEs” โอกาสใหญ่ที่ใคร ๆ ก็โตได้ในความเปลี่ยนแปลง
แนะอยากโตต้อง “โกดิจิทัล – ตลาดสุขภาพ สัตว์เลี้ยง” พร้อมไกด์ทางรอดยุคพี่จีนดิสรัปต์
ในช่วงเวลาที่ธุรกิจไทยกำลังเผชิญความท้าทายอย่างหนัก ทั้งผลกระทบจากการถดถอยของเศรษฐกิจโลก การชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ การเข้ามาของทุนจีนที่หลายฝ่ายวิตกกังวลว่าอาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันทางธุรกิจในประเทศ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีที่ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
แต่ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ ก็ยังมีช่องทางและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่รอให้ผู้ประกอบการเข้าไปคว้า ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้ร่วมกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จัดเสวนา “Mega Trends for SMEs 2024” เพื่ออัพเดตเทรนด์ธุรกิจและเทรนด์การตลาดเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาปริญญาโทที่กำลังจะก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการมือใหม่ รวมถึงผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไปก้าวทันเทรนด์แห่งอนาคต ปรับตัวทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เข้าใจและมองเห็นโอกาสจากการตลาดยุคดิจิทัลเพื่อนำไปประยุกต์ใช้และพัฒนาธุรกิจ โดยได้เชิญกูรูระดับแถวหน้าของประเทศทั้งในแวดวงธุรกิจที่เป็นเมกะเทรนด์และด้านการตลาดดิจิทัลมาร่วมแบ่งปันความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์
กูรูชี้ช่อง 2 เมกะเทรนด์ SMEs ต้องห้ามพลาด!
คุณธงชัย โชคถนอมทรัพย์ นายกสมาคมการค้าธุรกิจผู้สูงอายุและเวลเนสเพื่อการมีสุขภาวะ
ที่ยั่งยืน และประธานกรรมการบริหาร KIN – Rehabilitation & Homecare และ Kin Origin health care ได้เผยถึงเทรนด์ธุรกิจที่น่าจับตามองในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคตซึ่งมีหลายกลุ่มธุรกิจที่มาแรงแต่ที่โดดเด่นและเป็นเมกะเทรนด์โลก ได้แก่ ธุรกิจด้านสุขภาพ (Health & Wellness) และธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง
สำหรับ “ธุรกิจสุขภาพ” ยังคงเป็นเมกะเทรนด์ที่มาแรงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุโดยคุณธงชัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) อย่างเต็มตัวมีประชากรผู้สูงอายุประมาณ 20% ของประชากรทั้งหมด และมีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 27%ในอีก 10 ปีข้างหน้า ทำให้ไทยเข้าสู่ภาวะ “Super Aged Society” เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ส่งผลให้ธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุเติบโตอย่างรวดเร็วและมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมากในอนาคต โดยมีปัจจัยหนุนที่สำคัญ ได้แก่
- ธุรกิจ Wellness โตเร็วทั่วโลก ภาพรวมธุรกิจ Wellness ทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องจาก 5.6 ล้านล้านบาท ในปี 2022 และได้รับการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 8.5 ล้านล้านบาทในปี 2027 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 8.6%
- กลุ่มผู้สูงวัยคือสายเปย์ตัวจริง กลุ่มผู้สูงอายุ หรือ Silver age (อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป) เป็นวัยที่มีความพร้อมทั้งด้านการเงินและเวลา อีกทั้งยังสนใจในการดูแลสุขภาพและให้ความสำคัญกับการป้องกันมากกว่าการรักษา จึงเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง
- คู่แข่งยังน้อย เริ่มก่อน ได้เปรียบกว่า ข้อมูลที่น่าสนใจจากNielsen IQ (Thailand) ระบุว่ามูลค่าตลาดค้าปลีกกว่า 9 แสนล้านบาท ที่ขายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตมีสินค้าที่เจาะจงกลุ่มผู้สูงอายุไม่ถึง 1% ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับตลาดโดยรวม จึงเป็นตลาดที่มีโอกาสอย่างมากในการนำเสนอสินค้าและบริการใหม่ๆ
- การดูแลผู้สูงวัย ธุรกิจน้องใหม่มาแรง เมื่อเทียบกับธุรกิจการดูแลสุขภาพอื่นๆ พบว่าสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพและความงามมีการเติบโตสูงสุด ในขณะที่ธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นแต่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในอนาคต
สรุปได้ว่าไม่ว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุ ล้วนมีโอกาสเติบโตสูงในตลาดนี้
ธุรกิจสัตว์เลี้ยง โตสวนกระแส ไม่แคร์เศรษฐกิจทรุด
อีกหนึ่งเมกะเทรนด์ที่มาแรงไม่แพ้ธุรกิจสุขภาพ คือ “ธุรกิจสัตว์เลี้ยง” คุณธีระนันท์ เฉลยวิมาน ผู้บริหารธุรกิจสัตว์เลี้ยง บริษัท เอ็มอาจีเอ็น เพ็ทแคร์ จำกัด และผู้บริหารห้างสรรพสินค้า ได้กล่าวถึงสถานการณ์ที่ผ่านมาว่าไม่ว่าจะเศรษฐกิจตกต่ำหรือภาวะแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่หลายธุรกิจต่างได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่ธุรกิจสัตว์เลี้ยงกลับโตสวนกระแสโดยมีอัตราการเติบโตมากกว่า 10% ต่อปี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าธุรกิจนี้มีศักยภาพและยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก ทั้งนี้เพราะ
- เทรนด์ Pet Parent มาแรง แซงมีลูกจริง ข้อมูลจากงานวิจัย Petsumer Marketing เจาะลึก
อินไซต์โดนใจทาสสายเปย์ ของ CMMU พบว่าปัจจุบันคนไทยมีแนวโน้มที่จะมีลูกน้อยลงหรือเลือกที่จะไม่มีลูกเลย แต่นิยมเลี้ยงสัตว์แทนลูก ทำให้สัตว์เลี้ยงเหล่านี้ได้รับการดูแลเหมือนสมาชิกในครอบครัว และมีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงต่อ 1 ตัว อยู่ที่ประมาณ 14,000 บาท – 20,000 บาท ต่อปี - โอกาสมากมายเพราะตลาดสัตว์เลี้ยงไทย มูลค่ามหาศาล ตลาดสัตว์เลี้ยงในไทยมีมูลค่าสูงถึง 75,000 ล้านบาท โดยอาหารสัตว์เลี้ยงครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดถึง 44,600 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน ไทยเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 3 ของโลก และมีแนวโน้มที่จะก้าวขึ้นเป็นอันดับสองในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น อุปกรณ์และแฟชั่น (Accessories) 22,900 ล้านบาท
การรักษาพยาบาล 6,600 กว่าล้านบาท และบริการอื่นๆ เช่น เสริมสวยสำหรับสัตว์เลี้ยง (Grooming) มูลค่าประมาณ 900 ล้านบาท - มีช่องว่างให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามาได้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็น Food & Restaurant
ที่สามารถนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาทานอาหารร่วมกับเจ้าของได้ Pet Hotel โรงแรมสำหรับสัตว์เลี้ยง Pet Society พื้นที่สำหรับสัตว์เลี้ยงและเจ้าของได้มาพบปะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และทำกิจกรรมร่วมกัน Pet Grooming บริการเสริมสวยสำหรับสัตว์เลี้ยง นวัตกรรมสำหรับสัตว์เลี้ยง เช่นการพัฒนาอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับสัตว์เลี้ยง หรือการใช้ AI เพื่อดูแลและสื่อสารกับ
สัตว์เลี้ยงจากระยะไกล รวมถึงการจัดงานศพสำหรับสัตว์เลี้ยง ซึ่งกำลังได้รับความนิยม โดยมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 30,000 บาทต่อครั้ง
ปั้นธุรกิจให้ปังด้วยพลังดิจิทัล
ไม่เพียงแค่เทรนด์ธุรกิจที่ต้องจับตา แต่เทรนด์การตลาดก็ต้องอัพเดทและตามให้ทันเช่นกัน โดยเฉพาะการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนธุรกิจในยุคนี้ โดยคุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮาคูโฮโด เฟิร์ส จำกัด ได้พาไปเจาะลึกถึงทิศทางและเทรนด์การตลาดดิจิทัลที่ SMEs จำเป็นต้องรู้ ปรับตัวให้ทัน และปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจ เพื่อให้สามารถอยู่รอด
และเติบโตท่ามกลางตลาดที่มีการแข่งขันสูงและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยมี 3 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
ประเด็นที่ 1: เทรนด์การตลาดดิจิทัล ที่ SMEs ควรรู้
- สื่อดิจิทัลโตแรงแซงสื่อดั้งเดิม สื่อดิจิทัลมีอัตราการเติบโตสูงกว่าสื่อดั้งเดิมอย่างทีวี สื่อสิ่งพิมพ์และวิทยุ ถึง 5 เท่า อีกทั้งจากผลสำรวจพบว่า 39% ของนักการตลาดยังมีแผนจะลดค่าใช้จ่ายในทีวีลงแต่การใช้งานทีวีในรูปแบบ “จอ” ยังคงมีอยู่ แต่จะอยู่ในรูปแบบที่ผสานกับดิจิทัล เช่น สมาร์ตทีวีที่เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่าง YouTube หรือแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งต่างๆ ทำให้การโฆษณาผ่านช่องทางดิจิทัลยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง
- All gen เทใจให้ดิจิทัล ปัจจุบันผู้บริโภคทุกเจเนอเรชันปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลหมดแล้วโดยมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่ Alpha Gen: ใช้ชีวิตในโลกจริงและโลกเสมือนควบคู่กันไปอย่างกลมกลืน Gen Z: เชื่อถือข้อมูลจากโซเชียลมีเดียมากกว่าคำแนะนำจากเพื่อน และใช้รีวิวเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อสินค้า Gen Y: เกิดและเติบโตมากับโซเชียลมีเดีย ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์บนโลกออนไลน์
Gen X: เติบโตมาในยุคอนาล็อกแต่ก็พยายามปรับตัวเข้ากับโลกดิจิทัลเพื่อไม่ให้ตกเทรนด์
Baby Boomer: เป็นน้องใหม่ในโลกโซเชียล ส่วนมากอยู่ในวัยเกษียณ มีเวลาว่างมากจึงใช้เวลาบนโลกออนไลน์เยอะ จะเห็นได้ว่าธุรกิจสามารถใช้ช่องทางออนไลน์เข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกเจน - เกิด Customer Journey ใหม่ๆ ที่ Short Cut กว่าเดิม การทำธุรกิจในยุคดิจิทัลนี้ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมากและเกิดขึ้นได้ทันที เช่น การดูรีวิวสินค้าใน TikTok ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจซื้อสินค้าได้ทันทีที่เห็นสินค้าหรือบริการโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการค้นหาหรือศึกษาข้อมูลนานๆ เหมือนแต่ก่อน
- ถึงเวลาต้องปรับ ก่อนถูก Disruption! ธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวสู่ดิจิทัล (Digital Transformation)
เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและไม่เสียเปรียบในการแข่งขันซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่ปรับตัวเพียงเล็กน้อย เช่น การขยายช่องทางการขายไปสู่ช่องทางดิจิทัล การปรับผลิตภัณฑ์หรือบริการให้เป็นดิจิทัล หรือการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เช่น ธุรกิจประกันภัยที่ใช้โมเดลจ่ายเบี้ยประกันรถยนต์ตามการใช้งานจริง ไปจนถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ดิจิทัลใหม่ๆ ขึ้นมา อย่างเช่น Tesla ที่นอกจากขายรถยนต์แล้วยังขยายไปสู่ธุรกิจแบตเตอรี่เก็บไฟภายในบ้าน Powerwall
ประเด็นที่ 2 : ใช้ประโยชน์จาก AI ผู้ช่วยมือทองของธุรกิจยุคดิจิทัล
ยุคนี้ AI เข้ามามีบทบาทในทุกวงการ SMEs จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะนำพลังของ AI มาช่วยทุ่นแรง โดยเฉพาะนำมาประยุกต์เข้ากับ MarTech Tools เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการตลาด เช่น การเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล ช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าใจปัญหา เข้าใจพฤติกรรมของลูกค้า และนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุง ออกแบบ พัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ตรงใจลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น โดย AI ที่นิยมนำมาใช้ เช่น ChatGPT ที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูล สร้างคอนเทนต์ หรือช่วยทำ Presentation ได้ และ Midjourney ที่ช่วยสร้างภาพที่สวยงามได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในธุรกิจโฆษณา เพราะช่วยประหยัดเวลาและลดต้นทุนการผลิตในหลายด้าน เช่น ไม่ต้องจ้างนักแสดง ไม่ต้องเสียค่า Production สร้างสรรค์งานได้เร็วขึ้น เพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน
และสำหรับใครที่กังวลว่า AI จะมาแย่งงาน คุณชุติมาได้ให้คำแนะนำว่า “วิธีที่ธุรกิจจะปรับตัวให้เข้ากับยุค AI คือ ต้องแยกแยะให้ได้ว่า อะไรที่สามารถประหยัดและใช้ประโยชน์จาก AI ได้ และอะไรที่ AIยังทำแทนคนไม่ได้… สิ่งที่ AI แทนไม่ได้เลย คือ ไอเดีย และความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ เราสามารถใช้ AIทำในสิ่งที่ทดแทนแรงงานคนได้ แล้วนำคนไปพัฒนาศักยภาพอีกขั้นที่เหนือกว่า เช่น การเข้าใจปัญหาลูกค้า
การนําเสนอไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ที่ตอบโจทย์ธุรกิจ วิธีคิดนี้สำคัญมากสำหรับ SMEs เราต้องอยู่เหนือ AI ควบคุม AI และพัฒนาตัวเองไปสู่จุดที่ AI มาแทนเราไม่ได้ เมื่อใดที่ไปถึงจุดนั้นได้ เราจะมีความได้เปรียบในการแข่งขัน”
ประเด็นที่ 3 โซเชียลมีเดียและดิจิทัลแพลตฟอร์ม: ทางลัดสู่ความสำเร็จของธุรกิจยุคใหม่
คุณชุติมา เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมว่าปัจจุบันคนไทยใช้เวลาบนโลกออนไลน์เฉลี่ยถึง 7.2 ชั่วโมงต่อวันโดยในจำนวนนี้ใช้เวลาไปกับโซเชียลมีเดียถึง 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาที่มากพอที่จะทำให้ธุรกิจสามารถนำเสนอสินค้าและบริการและสร้างโอกาสทางธุรกิจได้อย่างมหาศาล โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจเปิดเผยว่าคนไทยซื้อสินค้าออนไลน์มากกว่าซื้อจากร้าน 7-11ทุกสาขารวมกัน และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าถ้า SMEs สามารถนำธุรกิจเข้าสู่โซเชียลคอมเมิร์ซได้ จะช่วยสร้างยอดขายได้อย่างรวดเร็ว เพราะโซเชียลคอมเมิร์ซคือช่องทางขนาดมหึมาที่เข้าถึงผู้บริโภคได้
คุณชุติมา ได้สรุปว่า ในยุคที่ถนนทุกสายมุ่งสู่ดิจิทัล ธุรกิจต้องปรับตัวและเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มดิจิทัล และ AI ให้เต็มที่ ซึ่งเปรียบเหมือนทางลัดที่ช่วยลดระยะเวลา ลดค่าใช้จ่าย สร้างยอดขายได้จริง ธุรกิจไหนปฏิเสธดิจิทัลคือเลือกแล้วที่จะตามหลังคนอื่น
จีนบุก – เศรษฐกิจแย่ กูรูแนะ SMEs อยู่อย่างไร ท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน
นอกเหนือจากเมกะเทรนด์แล้ว ในเวทีเสวนายังพูดคุยถึงความท้าทายที่ SMEs ต้องเผชิญทั้งจากการที่จีนเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ที่ล้วนแล้วแต่อาจส่งผลกระทบต่อ SMEsโดย ดร.อุดมธิปก ไพรเกษตร รองประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ได้แสดงมุมมองที่มีต่อการเข้ามาของจีนไว้อย่างน่าสนใจว่า การที่จีนเข้ามาลงทุนหรือทำตลาดในไทยแสดงว่าจีนมองเห็นโอกาสและศักยภาพของประเทศซึ่งแทนที่จะกลัวหรือต่อต้าน แต่ควรคิดว่าจะใช้ประโยชน์หรือมองหาโอกาสจากการเข้ามาของจีนอย่างไร และมองหาช่องว่างทางการตลาดจากสิ่งที่จีนยังไม่เชี่ยวชาญหรือยังทำไม่ได้ เช่น ธุรกิจบริการต่างๆ ซึ่ง SMEs สามารถใช้เป็นจุดแข็งสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้
ในทางกลับกัน การเข้ามาของจีนยังแสดงให้เห็นว่าไทยเองก็สามารถไปทำตลาดในต่างประเทศได้เช่นกัน และโดยเฉพาะในยุคที่มีเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รองรับอย่างทุกวันนี้ ยิ่งทำให้การส่งของไปขายต่างประเทศไม่ใช่เรื่องยาก อีกทั้งปัจจุบัน แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง Shopee และ Lazada ยังเปิดโอกาสให้ธุรกิจไทยส่งสินค้าไปขายต่างประเทศได้แล้ว ฉะนั้นจึงเป็นโอกาสที่ SMEs ไทยควรมองไปไกลกว่าแค่ตลาดในประเทศ
ดร.อุดมธิปก ได้ให้แนวคิดเพิ่มเติมว่า “ในยุคดิจิทัลนี้ เครื่องมือดิจิทัลอย่างอีคอมเมิร์ซและ AIเป็นเครื่องมือที่ทําให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถแข่งกันธุรกิจรายใหญ่ได้อย่างทัดเทียม ความได้เปรียบ เสียเปรียบ ลดน้อยลงไปมาก แต่ในเมื่อทุกคนสามารถเข้าถึงเครื่องมือเหล่านี้ได้เหมือนกันหมด อะไรคือสิ่งที่ทำให้ธุรกิจของเราแตกต่าง? คำตอบคือ “ตรรกะ” และ “วิธีคิด” ที่จะนำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการมีไอเดียที่สร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยสร้างธุรกิจที่แตกต่างและสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันได้”
สำหรับประเด็น SMEs จะรับมือและอยู่รอดอย่างไรในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คุณชุติมาได้ให้คำแนะนำว่า “สิ่งที่อยากฝากไว้คือ ทุกวิกฤตมีโอกาส เราต้องมองให้เห็น เศรษฐกิจมหภาคเราจำเป็นต้องรู้ไว้เพื่อให้เห็นภาพรวมว่ากำลังไปในทิศทางไหน แต่ในเชิง SMEs เราโฟกัสแค่ที่ตัวเราให้ชัด หันกลับมามองที่ธุรกิจของเราก่อนว่า เราทำธุรกิจอะไร และธุรกิจของเรายังสามารถสร้างประโยชน์และมอบคุณค่าให้ลูกค้าได้ดีอยู่หรือไม่ หากเรายังทำได้ พร้อมทั้งมีทางเลือกที่คุ้มค่าและนำเสนอให้ลูกค้าก่อนที่เขาจะร้องขอ แน่นอนว่าจะต้องมีลูกค้าที่พร้อมจะจ่ายเงินให้เรา ขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักควบคุมต้นทุน บริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบ ไม่สร้างหนี้เกินความจำเป็นหรือใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้โดยตรง เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถอยู่ได้แบบไม่กระทบ”
ด้าน ดร.กฤษกร สุขเวชชวรกิจ หัวหน้าหน่วยการตลาดและสื่อสารองค์กร วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวปิดท้ายว่า หลักสูตรการเรียนการสอนของ CMMU ได้มีการประยุกต์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารจัดการธุรกิจที่มุ่งเน้นการผลิตผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่จะนำองค์ความรู้ไปใช้ในการทำงานเพื่อนำองค์กรสู่ความสำเร็จ พร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การจัดงานเสวนา “Mega Trends for SMEs 2024” ในครั้งนี้ จึงถือเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับนักศึกษาของวิทยาลัยการจัดการ ด้วยการเรียนรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์อย่างแท้จริง ซึ่งนักศึกษาสามารถนำองค์ความรู้ไปต่อยอดในการดำเนินธุรกิจในอนาคต
สำหรับผู้ที่สนใจ ซีเอ็มเอ็มยู เปิดสอนหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต ครอบคลุมทุกด้านของการบริหารจัดการธุรกิจและการตลาด ทั้งหลักสูตรไทย หลักสูตรนานาชาติ และหลักสูตรออนไลน์ นานาชาติ โดยทุกหลักสูตรได้รับการรับรองมาตรฐานจาก AACSB ซึ่งมีมหาวิทยาลัยเพียง 5% ของโลกที่ได้รับการรับรองนี้
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) โทรศัพท์
02-206-2000 หรือเพจเฟซบุ๊ก CMMU Mahidol (https://www.facebook.com/CMMUMAHIDOL)
####################
ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus
Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus