ส่องตลาดรีไซเคิลในอิตาลี กับ 4 โครงการที่รัฐหนุนทำ Circular Economy

เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นแนวนโยบายสำคัญอีกรูปแบบหนึ่งของรัฐบาลหลาย ๆ ประเทศ เพราะนอกจากเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้จะทำให้การค้าขายกับต่างประเทศมีสัมพันธ์ุที่ดีตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ แล้ว Circular Economy ยังช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ ได้อีกด้วย เนื่องจากช่วยประหยัดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะที่ลดน้อยลง และเป็นการลดผลกระทบจากมลพิษของการผลิตทางอุตสาหกรรมและจากสิ่งเหลือทิ้งที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับประเทศ อิตาลี เป็นประเทศที่รัฐบาลให้การสนับสนุน Circular Economy ได้อย่างน่าสนใจ เพื่อให้สอดคล้องตามนโยบาย European Green Deal หรือแผนการปฏิรูปสีเขียวและมาตรการทางภาษีของสหภาพยุโรป (EU) ที่มีการดำเนินการอย่างเข้มข้นและจริงจัง

โดยข้อมูลจาก ‘สถาบัน Politecnico di Milano’ มหาวิทยาลัยรัฐชื่อดังของอิตาลี ได้ทำการสำรวจ การดำเนินธุรกิจของบริษัทในอิตาลีที่ได้นำแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้เป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปี พบข้อมูลว่า ปี 2565 มีจำนวนบริษัทในอิตาลีที่มีการลงทุนทางธุรกิจเพื่อดำเนินตามแนวปฏิบัติของเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างน้อย 1 ข้อจำนวน 57% ในขณะที่ในปี 2564 มีจำนวน 44% (ในขณะที่บริษัทอีกจำนวน 65% ยังไม่พร้อมจะนำแนวปฏิบัติดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในอนาคตอันใกล้)

ซึ่งข้อมูลดังกล่าว ได้เปิดเผยจำนวน 7 ภาคส่วนอุตสาหกรรมที่ได้นำแนวปฏิบัติเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ โดยภาคส่วนที่มีการนำแนวปฏิบัติของเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างน้อย 1 แนวทางมาใช้มากที่สุด คืออุตสาหกรรมสิ่งทอ (82%) อันดับที่ 2 คือ ภาคธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (80%) และอันดับที่ 3 ภาคอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า (15%)

ในขณะที่การรีไซเคิล (Recycle) เป็นแนวปฏิบัติที่แพร่หลายที่สุดของบริษัทในอิตาลี โดยพบว่า การรีไซเคิลผลิตภัณฑ์และส่วนประกอบ เกิดขึ้นมากที่สุด โดยคิดเป็นจำนวน 61%

โดยสาเหตุที่ทำให้อิตาลี มีการรีไซเคิลจำนวนมากเกิดจากการที่โครงการที่กำลังพัฒนาและดำเนินการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอิตาลีและหน่วยงานท้องถิ่น โดยมีโครงการที่น่าสนใจมากมาย เช่น

– Ricibiamo คือ การใช้ประโยชน์จากอาหารเหลือทิ้งโครงการใช้ประโยชน์อาหารเหลือทิ้ง “Ricibiamo” เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจที่จะสร้างแนวร่วมระหว่างผู้ประกอบการด้านอาหาร โดยที่นักศึกษาและผู้บริโภคโดยมีเป้าหมายหลักเพื่อลดของเหลือทิ้งและขยะของร้านอาหาร มีการให้รางวัลการลดภาษีขยะ แก่ร้านอาหารที่ปฏิบัติตามอย่างได้ผลยอดเยี่ยม เป็นโครงการระดับท้องถิ่นเพื่อใช้ประโยชน์จากอาหารเหลือทิ้ง ยาเหลือใช้ด้วยการรับบริจาคเพื่อนำไปแปรรูป จำหน่ายแจกจ่ายให้ผู้ยากไร้และใช้ในโรงอาหารเพื่อสาธารณะประโยชน์

– Marketplace Waste2Resource หรือ การเปลี่ยนของทิ้งทางอุตสาหกรรมให้เป็นทรัพยากร การจัดตั้งตลาดออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปสำหรับขยะ ผ่านแพลตฟอร์ม “marketplace Waste2Resource” ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถค้นหาทรัพยากรและวัตถุดิบเหลือทิ้งจากภาคอุตสาหกรรม ขยะ ของชำรุด เศษวัสดุ เครื่องจักร และวัสดุรีไซเคิล ให้ได้พบกับผู้ซื้อที่มีศักยภาพทั้งในประเทศอิตาลีและในยุโรป

โดย marketplace ดังกล่าวเป็นตัวกลางในการพิจารณาข้อเสนอของผู้ขายและค้นหาประกาศขายที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ซื้อแต่ละราย ปัจจุบัน มีการติดต่อเจรจาซื้อขายกันแล้วกว่า 15,000 บริษัท ใน 126 ประเทศ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการขจัดวัสดุของเหลือและของทิ้งต่อปีได้ระหว่าง 15 – 45%

– Circular Housing ซึ่งโครงการนี้เป็นบริการให้เช่าเครื่องใช้ไฟฟ้า ของใช้ในครัวเรือน และเฟอร์นิเจอร์โดยเป็นสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้ผู้ผลิตสินค้าเป็นผู้ให้เช่าแบบ payper-use โดยเสนอให้ผู้เช่าอพาร์ทเมนท์ เช่าผลิตภัณฑ์โดยชำระค่าธรรมเนียมรายเดือนที่รวมอยู่ในค่าเช่าบ้าน รวมการบำรุงรักษา เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการเช่าสินค้าและบริการ บริษัทจะนำผลิตภัณฑ์มาตรวจสอบและปรับสภาพให้ใช้การได้ดีเพื่อเสนอให้กับผู้เช่ารายใหม่ หรือนำไปรีไซเคิลอย่างถูกต้องเมื่อหมดสภาพและอายุขัย โครงการนำร่องกับกลุ่มผู้เช่าที่อยู่อาศัยในเขต Affori และเขต Crescenzago ของเมืองมิลาน

– InnoWEEE – การรวบรวมอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์โครงการ “InnoWEEE”
(โครงการจัดการขยะอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์) ที่ส่งเสริมการนำกลับมาใช้ใหม่ การใช้ซ้ำ และการรีไซเคิล โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรวบรวมขยะประเภทดังกล่าวผ่านการใช้นวัตกรรมถังขยะอัจฉริยะSmart Bins

โดยสร้างแพลตฟอร์มเว็บไซต์ที่เชื่อมต่อกับหน่วยงานระดับท้องถิ่นที่จัดเก็บของหลือทิ้งประเภทนี้ในการจัดการ การขนส่งต่อ และการประเมินสภาพว่าจะนำกลับมาใช้ใหม่หรือนำไปรีไซเคิลของเหลือทิ้งที่รวบรวมมาได้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและช่องทางการรวบรวมและการใช้เทคโนโลยีเพื่อยืดอายุผลิตภัณฑ์ เป็นโครงการร่วมระหว่างอิตาลีและอังกฤษ มีการจัดกิจกรรมการรวบรวมที่แคว้น Trentino-Alto Adige ของอิตาลี และเมือง Bathes ประเทศอังกฤษ

– Coffeefrom – จากกากกาแฟนำไปสู่บรรจุภัณฑ์โครงการ “Coffeefrom” เป็นอีก
หนึ่งโครงการเศรษฐกิจหมุนเวียน จากกากกาแฟในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นวัสดุชีวภาพ นำมาผลิตบรรจุภัณฑ์แทนพลาสติกใช้แล้วทิ้ง เป็นการคิดค้นในอิตาลี ผลิตภัณฑ์จากกากกาแฟชิ้นแรก คือ ชุดกาแฟ (ถ้วยและจานรอง) ที่ได้รับการรับรองแล้วว่าปลอดภัยสำหรับอาหาร การแปรรูปกากกาแฟจากภาคอุตสาหกรรมที่มีปริมาณมหาศาล สามารถลดต้นทุนด้านการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม คือ ช่วยลดการปล่อย CO2 ที่เกิดจากการทิ้งกากกาแฟในหลุมฝังกลบ การปนเปื้อนการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์และการจัดการของเสีย

– RE.WIND® เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับฟิล์มยืดสำหรับห่อหุ้มพาเลทสินค้า เพื่อการใช้ฟิล์มพลาสติกแบบหมุนเวียน บริษัทไม่ต้องทิ้งฟิล์มยืด แต่เก็บส่งไปรีไซเคิลแบบ F2F (FILM to FILM) กระบวนการที่สามารถแปลงผลิตภัณฑ์ฟิล์มใช้แล้วให้ออกมาเหมือนเดิมได้เพิ่อนำไปใช้ได้อีก โดยไม่สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ

โดยผู้ประกอบการไทยสามารถศึกษาแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนของอิตาลีเพื่อนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการวัสดุและสิ่งของเหลือใช้จากการผลิต โดยให้ตระหนักถึงแนวคิดสำคัญๆ ที่สินค้าที่จะเข้าสู่ตลาดอิตาลีต้องเป็นไปตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรป ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน ไม่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม มีการใช้วัตถุดิบและพลังงานที่สะอาด ซึ่งปัจจุบันอิตาลีพัฒนาผลิตภัณฑ์มากมายจากการวิจัยค้นคว้าจนได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยวัตถุดิบที่ใช้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรจุภัณฑ์ ที่มีการใช้อย่างกว้างขวางและเป็นที่ต้องการมากของตลาด บรรจุภัณฑ์ชีวภาพย่อยสลายได้จึงเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผู้ผลิตไทยสามารถเข้ามาทำตลาดได้ เนื่องจากประเทศไทยมีผลผลิตทางเกษตรมากมายที่สามารถนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ และผลักดันให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกได

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน

เรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
.
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #รีไซเคิล