สินค้าจากจีนที่ทะลักเข้าสู่ตลาดไทยกลายเป็นประเด็นใหญ่ทางเศรษฐกิจที่คนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะกระทบต่อผู้ประกอบการที่ต้องแข่งขันกับสินค้าจีนโดยตรงแล้ว ยังกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคทั้งด้านแรงงาน รายได้ของประเทศ และการขาดดุลการค้าที่เพิ่มมากขึ้น
อย่างเช่นที่เป็นกระแสก่อนหน้านี้คือ แพลตฟอร์ม TEMU E-Commerce เจ้าใหม่จากจีนที่เพิ่งบุกเข้ามาเปิดตลาดในไทยไม่นาน ด้วยกลยุทธ์ขายสินค้าราคาถูกเพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาดจากเจ้าอื่นและเป็นการขายจากโรงงานจีนสู่ลูกค้าโดยตรง ด้วยการรวมออเดอร์สินค้าจากทั่วโลกที่สั่งตรงเข้ามาและส่งต่อไปยังโรงงาน ซึ่งแต่ละโรงงานที่ผลิตจะไม่มีแบรนด์ เน้นขายถูก ที่สุด ซึ่งโมเดลนี้พ่อค้าแม่ค้าคนไทยไม่สามารถเป็นร้านใน TEMU ได้
จึงทำให้สินค้าของคนไทยเองขายได้น้อยลงเพราะต้องแข่งขันด้านราคากับสินค้าจีน และเมื่อสินค้าขายได้น้อยลงก็กระทบไปทั้งห่วงโซ่อุปทานของการผลิตสินค้าแต่ละประเภทนอกจากนี้แล้วยังมีเรื่องของภาษีที่กระทบสู่เศรษฐกิจมหภาค เพราะปัจจุบันไทยยังไม่สามารถเก็บภาษีได้แบบเต็มรูปแบบ เพราะ TEMU ไม่ได้จดทะเบียนในไทยจึงไม่ได้เข้าสู่ระบบภาษี เพียงแต่มีการจัดเก็บ VAT ของกรมศุลกากรในกลุ่มสินค้านำเข้ามูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาทเท่านั้น
ทีนี้มาดูกันค่ะว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้สินค้าจากจีนไหลทะลักเข้าสู่ประเทศไทยและเข้ามาทำลายห่วงโซ่อุปทานของเราได้มากขนาดนี้
- พัฒนาการการเติบโตที่รวดเร็วของแพลตฟอร์ม e-Commerce ในจีน โดยและธุรกรรมในประเทศจีนมีขนาดใหญ่กว่า 50% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งโลก และยังขยายธุรกิจส่งออกโดยอาศัย e-Commerce ข้ามประเทศ (Cross-border e-Commerce) ซึ่งเติบโตขึ้นถึง 15% ในปี 2021 โดยประเทศไทยมีสัดส่วนจากการส่งสินค้าข้ามประเทศจากจีนขนาดประมาณ 24% ของมูลค่า e-Commerce ทั้งหมด
- เศรษฐกิจภายในประเทศของจีนที่ชะลอตัวลงจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้จีนต้องหันมาพึ่งพาภาคการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ
- ประเทศไทยมีกฎระเบียบที่เอื้อต่อการนำเข้าสินค้าจากจีน ตัวอย่างเช่น การคิดอัตราภาษีจากสินค้าจีนในระดับต่ำ
- การให้ Free visa กับนักท่องเที่ยวจากจีน ทำให้ไม่มีการตรวจสอบการเข้าออกประเทศอย่างเข้มงวด เปิดช่องทางให้คนจีนเข้ามาทำการค้าทำธุรกิจในไทยได้โดยง่าย
ที่มา : KKP
ทีนี้มาดูกันต่อว่า ในช่วงที่ผ่านมาสินค้าที่ทะลักเข้าไทยมากที่สุดมีสินค้าใดบ้าง
1) กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ส่งผลให้มีการขาดดุลการค้ามากที่สุด โดยสินค้าที่สำคัญที่ไทยนำเข้าจากจีนจำนวนมาก คือ สินค้าในกลุ่ม smartphone ซึ่งเป็นสินค้าที่สามารถซื้อขายได้ผ่าน e-Commerce Platform
2) สินค้าในกลุ่มเครื่องจักร ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในประเภทสินค้าที่ไทยเกินดุลการค้ากับจีน อย่างเช่น Hard Disk Drive แต่ภายหลังสินค้าเครื่องจักรจากจีนเริ่มเข้ามาในตลาดไทยมากขึ้น นำโดย Laptop และเครื่องใช้ไฟฟ้า
3) สินค้าในกลุ่มยานยนต์ ซึ่งสินค้าที่ไทยขาดดุลกับจีนเป็นอันดับต้น ๆ เป็นชิ้นส่วนรถยนต์ ขณะที่สินค้าที่เกินดุลการค้ากับจีนเป็นสินค้ารถยนต์ที่ประกอบสำเร็จแล้ว โดยในปี 2022 เริ่มเห็นสัญญาณความเสี่ยงจากการที่ไทยเริ่มขาดดุลการค้ากับจีนในสินค้ารถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV โดยมีการขาดดุลเพิ่มขึ้นแซงหน้าชิ้นส่วนยานยนต์ทุกประเภท
4) เหล็กกล้าและอะลูมิเนียม โดยพบว่าเหล็กและอะลูมิเนียมขาดดุลการค้ามากขึ้นทุกปีกับจีน โดยมีสาเหตุจากกำลังการผลิตที่เกินอุปสงค์ภายในประเทศจีนที่ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ สุดท้ายจึงต้องส่งออกเหล็กสำเร็จรูปเหล่านั้นมาที่ประเทศอื่น ๆ รวมถึงประเทศไทย
5) เคมีภัณฑ์และพลาสติก เปลี่ยนจากการเกินดุลการค้าเป็นขาดดุลการค้าในช่วงที่ผ่านมา โดยข้อมูลจากองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่าในปัจจุบันจีนมีการพัฒนาเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรม โดยมีกำลังผลิตรวมมากกว่ายุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้รวมกันเสียอีก จีนจึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าอีกต่อไป
ที่มา : KKP
เรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus
Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #สินค้าจีนทะลัก #สินค้าจีน #รับมือสินค้าจีน