ChatGPT ถูกนำมาพูดถึงกันมากมายทั่วโลกตั้งแต่ปลายปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าตัว ChatGPT นี้ได้สร้างความสั่นสะเทือนหลาย ๆ วงการ หลาย ๆ อาชีพในอนาคต แต่กลุ่มแรกที่มองว่าจะได้รับผลกระทบอย่างหนักคือ Search Engine ที่มีเจ้าตลาดคือ Google นั่นจึงทำให้ ‘Microsoft’ ได้ให้ความสนใจและพยายามที่จะดึงระบบนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ หรืออาจจะคิดไปถึงขั้นการใช้เพื่อพัฒนา Bing (บิ้ง) Search Engine ของตัวเองที่เปิดตัวมานานแต่ไม่ได้รับความนิยมสักที
ก่อนอื่นเราต้องทำความรู้จัก ChatGPT กันก่อน โดย ChatGPT คือ AI chatbot หรือปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสื่อสารผ่านข้อความกับมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ พัฒนาขึ้นโดยบริษัท OpenAI ที่ดำเนินธุรกิจในแง่ของการวิจัยในด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI)
โดย ChatGPT ถูกปล่อยออกมาในช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2565 และโด่งดังมากเพราะสามารถหาคำตอบให้กับเราได้ทุกเรื่อง และสามารถช่วยย่นเวลาในการหาข้อมูล รวมไปถึงสามารถช่วยเขียนสคริปต์การเรียนการสอน หรือเขียนคอนเทนต์ ทำรายงาน หรือแม้กระทั่งเขียนโปรแกรมได้ด้วยเวลารวดเร็ว
ยิ่งไปกว่านั้นผู้เชี่ยวชาญในวงการคิดนั้นอาจส่งผลกระทบไปถึงขั้นไป Disruption วงการ ‘Search Engine’ อย่าง Google ได้เลย เพราะ ChatGPT สามารถให้คำตอบเราได้อย่างรวดเร็ว เพียงแค่พิมพ์ข้อมูลลงไป และด้วยข้อมูลขนาดใหญ่ นอกจากนี้สิ่งที่เหนือกว่า Search Engine คือ โดยปกติแล้วหากเราค้นหาข้อมูลใน Google แต่ยังได้ข้อมูลไม่ครบ หรือมีส่วนที่ไม่เข้าใจ ก็จะต้องค้นหาบทความใหม่ ๆ แต่หากเราใช้ ChatGPT เราจะสามารถพิมพ์ข้อความที่ไม่เข้าใจไปใหม่ และระบบจะช่วยหาบทความใหม่ หรืออธิบายในส่วนที่เราไม่เข้าใจได้ทันที และยังตอบคำถามด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย
หากใครนึกไม่ออก ให้ลองนึกถึง ‘ซิมซิมิ (SimSimi)’ แอพพลิเคชั่นที่เคยโด่งดัง นับตั้งแต่ออกฉายครั้งแรกในปี 2546 ซึ่ง ซิมซิมิ มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 100 ล้านครั้ง ถือเป็นที่มีชื่อเสียงระดับโลก และยังได้มีการพัฒนาโดยการพูดคุยของผู้ใช้หลายล้านราย จนปัจจุบัน ซิมซิมิ ยังคงมีเวอร์ชั่น 8.5.0 ซึ่งออกมาให้ดาวน์โหลดเมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา
ทีนี้ย้อนกลับมาที่แผนของ Microsoft ผู้ผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์รายใหญ่ของโลก ซึ่งวันนี้ (9 ก.พ.) ได้มีข่าวการเพิ่มความสามารถสไตล์เดียวกับ ChatGPT ไปยังหลายๆ ระบบ หนึ่งในนั้นคือการเพิ่ม ChatGPT เข้ากับ Bing ซึ่งเป็น Search Engine หรือเว็บบริการค้นหาออนไลน์จาก Microsoft ที่มีลักษณะการใช้ค้นหาข้อมูลต่างๆ เหมือนที่เราต่างคุ้นเคยกันจาก Google ซึ่ง Bing มีทั้งเป็นเว็บไซต์ และ Application ทั้งระบบ IOS และ Android
ซึ่ง Bing มีต้นกำเนิดมาจาก ‘เอ็มเอสเอ็น เสิร์ช วินโดวส์ ไลฟ์ เสิร์ช และไลฟ์ เสิร์ช’ ซึ่งเป็น Search Engine ก่อนหน้าของ Microsoft แต่แตกต่างที่ Bing ให้บริการการค้นหาที่หลากหลายทั้ง เว็บไซต์ วิดีโอ รูปภาพ ผลิตภัณฑ์ และแผนที่ และเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2009
โดย Bing เป็น Search Engine ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกโดยมีปริมาณการใช้งาน 4.58% รองจาก Google (77%) และไป่ตู้ (14.45%)
ถึงแม้จะเปิดตัวมากว่า 13 ปี แต่ที่ผ่านมา Bing ยังไม่ได้รับความนิยมมากเท่าไหร่นัก เพราะก่อนที่ Bing จะเปิดตัวทาง Google มีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ มากถึง 64% ขณะที่ Yahoo มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 20% ทำให้ Bing ชิงส่วนแบ่งการตลาดได้ยากมาก ทั้งจากความคุ้นเคยของผู้คน และความครอบคลุม ความใหม่ของข้อมูล
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือน Microsoft จะยังไม่ยอมแพ้กับธุรกิจนี้ และยังคงพัฒนาต่อเนื่อง ด้วยการเพิ่มความสามารถเหมือนกับ ChatGPT ลงใน Search Engine อย่าง Bing ซึ่งไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ‘ยูซุฟ เมห์ดี’ หัวหน้าฝ่ายการตลาดผู้บริโภคของไมโครซอฟต์ประกาศว่าจากนี้ Bing จะถูกขับเคลื่อนโดยปัญญาประดิษฐ์ และทำงานบนโมเดลภาษาขนาดใหญ่ รุ่นใหม่ ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ChatGPT
ด้าน ‘แดเนียล อีฟส์’ นักวิเคราะห์จาก Wedbush Securities Wedbush Securities บริษัทที่ปรึกษาและการจัดการทรัพย์สิน กล่าวว่า การแข่งขันในการพัฒนาเสิร์ชเอนจิ้นด้วยปัญญาประดิษฐ์กำลังจะเป็นหนึ่งในการแข่งขันที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และมองว่าไมโครซอฟต์กำลังมองหาชัยชนะในสงครามปัญญาประดิษฐ์ครั้งนี้
ในมุมมองของ ‘Business+’ แล้วการดึงเทคโนโลยีที่เหนือกว่า รวดเร็วกว่า เข้ามาใช้อย่างรวดเร็วจะช่วยให้พวกเขาได้เปรียบทางธุรกิจ และเกิดความสามารถในเชิงแข่งขัน และเป็นการป้องกันความเสี่ยงในการถูก Disruption ในอนาคต ซึ่งระยะสั้นจะส่งผลดีต่อยอดผู้ใช้บริการที่เพิ่มสูงขึ้น และผลลัพท์ที่แสดงออกมาให้เราเห็นแล้ว คือ ยอดการดาวน์โหลด Bing ติด Top Chart แอปสโตร์ในสหรัฐอเมริกาในหมวดหมู่ของแอปฟรีด้วยยอดดาวน์โหลดที่เพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าตัวเพียงไม่กี่วัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ Bing ไม่เคยติดอันดับ Top Chart เลยสักครั้ง แม้ไมโครซอฟท์มีความพยายามจะผลักดันอย่างหนักมากแค่ไหนก็ตาม
ที่มา : IQ ,Microsoft
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
Businessplus #Business #นิตยสารBusinessplus #Bing #Microsoft #ChatGPT