‘เจ้าขุนทอง’ ความสำเร็จการ์ตูนไทย ในยุคที่สื่อออนไลน์ยังมาไม่ถึง

“อรุณเบิกฟ้า นกกาโบยบิน ออกหากิน ร่าเริงแจ่มใส เราเบิกบาน รีบมาเร็วไว ยิ้มรับวันใหม่ ยิ้มให้แก่กัน เพื่อน ๆ พบหน้า พี่น้องพร้อมหมู่ ต่างมาดูรายการสุขสันต์ เจ้าขุนทองขับขานแล้วนั่น เจ้าขุนทองขับขานแล้วนั่น เพื่อนผองมากัน ยินดีปรีดา”

 

นี่คงเป็นบทเพลงที่เด็กยุค 90 รู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะเป็นเพลงประกอบการ์ตูนชุด ‘เจ้าขุนทอง’ การ์ตูนสำหรับเด็กที่อยู่คู่กับโทรทัศน์ไทยมาอย่างยาวนานกว่า 26 ปี นับตั้งแต่ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2534 จนกระทั่งยุติออกอากาศเมื่อช่วงปลายปี 2560

 

‘เจ้าขุนทอง’ จัดเป็นรายการเด็กที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงที่สื่อออนไลน์ยังเข้าไม่ถึง โดยแบ่งรายการเป็นช่วงต่าง ๆ ซึ่งหลัก ๆ จะเป็นการดำเนินเรื่องราวผ่านตัวละครหุ่นมือ ซึ่งจะมาในรูปแบบของการเล่านิทานที่แฝงแง่คิดให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ผ่านตัวละคร หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นช่วง ‘การ์ตูน’ ในรูปแบบของหุ่นมือแบบไทย ๆ ในยุคสมัยนั้นเลยก็ว่าได้ นอกจากนี้ ยังมีช่วงอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่เด็ก ๆ มากมาย อาทิ ช่วงหนอนด้นค้นห้องสมุด นำเสนอเรื่องราวของหนังสือที่น่าสนใจ โดยหุ่นหนอนด้น, ช่วงมือน้อยสร้างฝัน สอนการประดิษฐ์ของต่าง ๆ โดยป้าไก่, ช่วงสนุกกับคำ เรียนรู้สำนวนไทยกับลุงมะตูม และช่วงสิ่งละอันพันละน้อย โดยคุณมหัศจรรย์ สิงโตนักวิทยาศาสตร์ที่มาให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว

 

สำหรับตัวดำเนินเรื่องของรายการคือหุ่นมือในรูปแบบตัวละครสัตว์ที่มีคาแรกเตอร์แตกต่างกันไป โดยตัวละครหลักที่มักปรากฏตัวบ่อย ๆ ได้แก่

1. ขุนทอง – นกขุนทองที่มีนิสัยเป็นน่ารัก ฉลาด นิสัยดี ซึ่งถือเป็นตัวเอกของรายการ

2. ขอนลอย – จระเข้กินจุ มีนิสัยเกเร

3. เหยิน – หนูฟันเหยินจอมคุยโวโอ้อวด มักมีนิสัยเจ้าเล่ห์ขี้โกง

4. น้าด๊องส์ – ลาสีม่วงที่มีบุคลิกเป็นคุณน้าใจดี ซื่อสัตย์ มีวิถีชีวิตแบบไทย ๆ และมักสวมใส่ชุดไทยอยู่เสมอ

5. ป้าไก่ – ไก่ใจดีที่มีบุคลิกเป็นคุณป้าแม่บ้านแม่เรือนที่ดูอบอุ่น เป็นห่วงเป็นใยและหวังดีกับเด็ก ๆ เสมอ

6. ย่น – สุนัขหน้าย่น ทำตัวเป็นนักเลง ชอบการทะเลาะวิวาท

7. ฉงน – ควายผู้แสนซื่อ ใฝ่รู้ มีความน่ารักและยุติธรรมเสมอ

8. ลุงมะตูม – เต่าผู้อาวุโสคอยให้ความรู้แก่เด็ก ๆ

9. หางดาบ – สุนัขบ้านสีน้ำตาล ชอบช่วยเหลือผู้อื่น มีนิสัยเสียสละ

10. เป็ดน้อย – เป็ดน้อยผมสีชมพูผู้น่ารัก นิสัยร่าเริง มีจิตใจดีและบริสุทธิ์

 

นอกจากนี้ยังมีตัวละอื่น ๆ อีกมากมายที่คอยมาสร้างสีสันให้กับรายการ อาทิ ตาไฉน, น้าชุม, น้องฉงาย, ฉิ่ง, ฉับ, ฉุย มหัศจรรย์, วอแว, หนอนด้น, โคจร, จูจี๊ด, สาปศักดิ์, ฝูงหนู และผองเพื่อน เป็นต้น

 

โดยในสมัยนั้น ‘เจ้าขุนทอง’ ถือเป็นรายการเด็กที่ประสบความสำเร็จในแง่ของการครองใจผู้ชมวัยจิ๋วได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากจะหาเหตุผลถึงสิ่งที่ทำให้เป็นเช่นนั้น อาจจะแบ่งเป็นข้อคร่าว ๆ ได้แก่

 

ความแปลกใหม่

หากจะย้อนไปในช่วงยุค 90 การมีรายการที่ดำเนินเรื่องโดย ‘หุ่นมือ’ ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ของวงการโทรทัศน์ในยุคสมัยนั้นเลยก็ว่าได้ เนื่องจากรายการส่วนใหญ่มักจะใช้ผู้ดำเนินรายการที่มีชื่อเสียง หรือหากเป็นการ์ตูนสำหรับเด็ก ก็มักจะเป็นการ์ตูนที่มาจากต่างประเทศ การที่ ‘เจ้าขุนทอง’ เลือกที่จะดำเนินรายการผ่านหุ่นมือ จึงถือเป็นความแปลกใหม่ของเด็กในยุคสมัยนั้น และถือเป็น ‘การ์ตูน’ แบบไทย ๆ เรื่องหนึ่งเลยทีเดียว

 

ช่วงเวลาออกอากาศ

จากเนื้อเพลงก็น่าจะบอกได้แล้วว่า ‘เจ้าขุนทอง’ นั้น ออกอากาศในช่วงเช้า โดยในยุคแรก ออกอากาศในช่วงเวลา 7 นาฬิกา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เด็กบางคนกำลังเตรียมตัวไปโรงเรียน ทำให้มีโอกาสได้ดูรายการก่อนออกจากบ้าน หรือถึงแม้บางคนอาจจะไม่มีเวลาดูรายการ แต่เชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่เด็กในยุคนนั้นต้องได้รับฟังและจดจำได้มาจนถึงทุกวันนี้ คือเพลงประกอบอันเป็นเอกลักษณ์ที่เด็กสามารถร้องตามได้ไม่ยาก

 

เป็นยุคทองของโทรทัศน์

เด็กรุ่นใหม่อาจจะคุ้นชินกับโทรศัพท์มือถือ, แท็ปเล็ต หรือสื่อออนไลน์มากมายที่มีให้เลือกสรรตามความชื่นชอบของแต่ละบุคคล ในขณะที่เด็กยุค 90 ไม่ได้มีตัวเลือกมากนัก ซึ่งหากจะรับชมอะไรสักอย่าง ก็มักจะเป็นการรับชมผ่านโทรทัศน์เสมอ อีกทั้งในยุคนั้น ยังไม่ได้มีตัวเลือกในส่วนของช่องโทรทัศน์ให้เลือกชมมากเท่ากับในสมัยนี้ ดังนั้น การที่ ‘เจ้าขุนทอง’ ได้ออกอากาศในช่องหลักอย่างช่อง 7 จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่หนุนให้รายการประสบความสำเร็จในการเข้าถึงผู้ชมเป็นจำนวนมาก

 

เนื้อหาที่เหมาะกับเด็ก

นอกจากเสน่ห์ของตัวละครจากหุ่นมือแล้ว การดำเนินเรื่องผ่านการเล่านิทาน ถือเป็นสิ่งที่ดึงดูดเด็กได้ดีเลยทีเดียว นอกจากนี้ เนื้อหาช่วงอื่นของรายการที่สอดแทรกความรู้ให้กับเด็ก ๆ ก็เป็นการใช้คำและเลือกเนื้อหาที่จะสอนที่ไม่ได้ดูเข้าใจยากจนเกินไป โดยเฉพาะการฝากข้อคิดประกอบการเล่านิทาน ถือเป็นการสอนที่เด็ก ๆสามารถมองเห็นภาพและเข้าใจสถานการณ์ได้อย่างชัดเจน อีกทั้งการสอนงานประดิษฐ์ให้กับเด็ก ๆ ที่กำลังอยู่ในวัยของการเรียนรู้, การทดลอง ก็ถือเป็นสิ่งที่ช่วยให้เด็กได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์อีกด้วย

 

คาแรกเตอร์ของตัวละคร ‘หุ่นมือ’

แน่นอนว่าเสน่ห์ของ ‘เจ้าขุนทอง’ ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย คงหนีไม่พ้นคาแรกเตอร์ของบรรดาหุ่นมือที่นอกจากจะเป็นการใช้ตัวละครสัตว์ที่เป็นที่ชื่นชอบของเด็ก ๆ แล้ว การที่ตัวละครเหล่านั้นมีคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนเป็นของตัวเอง ก็ยิ่งช่วยเพิ่มเสน่ห์ดึงดูดให้เด็ก ๆ ยิ่งหลงรักตัวละครเหล่านั้นเพิ่มขึ้นไปอีก

 

นี่คงเป็นเหตุผลเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ผลักดันให้ ‘เจ้าขุนทอง’ เป็นที่ชื่นชอบของใครหลาย ๆ คนมาจนถึงทุกวันนี้ และแม้ว่ารายการนี้จะหลุดจากผังช่องหลักที่คุ้นเคยไปแล้ว แต่ความมีเสน่ห์ที่ไม่มีใครเหมือนของ ‘เจ้าขุนทอง’ คงจะยังติดตรึงอยู่ในใจของผู้คนที่เติบโตมาพร้อมกับรายการไปอีกนานแสนนาน

 

ที่มา : thenormalhero, petmaya

 

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

 

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #เจ้าขุนทอง #ยุค90 #เด็กยุค90 #ChaoKhunTong