ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ เปลี่ยนผ่านไปรษณีย์ไทย บน ‘เป้าหมายยิ่งใหญ่และไม่ยอมแพ้’

“การทำเรื่องยาก ๆ ให้ออกมาได้ หรือทำเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ให้เกิดขึ้นให้ได้นั้น วิธีการก็คือ ให้เราทุกคนคิดใหญ่และอย่ายอมแพ้ ‘Dream Big Never Quit'”
ธุรกิจโลจิสติกส์คือหนึ่งในธุรกิจที่แข่งขันกันดุเดือดที่สุดในเวลานี้ และหากจะพูดถึงเจ้าตลาดของประเทศไทย แบรนด์แรกที่คนจะนึกถึงก็คงหนีไม่พ้น ไปรษณีย์ไทย โดยการเติบโตของธุรกิจนี้ถือว่ามีความน่าสนใจมาก เพราะท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงในมิติของราคาทำให้โอกาสทำกำไรต่ำมาก
การออกไปบุกเบิกธุรกิจใหม่ ๆ ที่นอกเหนือจากการขนส่งกลายเป็นสิ่งที่ผู้บริหารของบริษัทจำเป็นต้องมองให้มากขึ้น เพราะวันนี้ธุรกิจโลจิสติกส์แทบจะกลายเป็นสาธารณูปโภคไปแล้ว
เรื่องนี้ทำให้การเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจของอุตสาหกรรมนี้ถือว่ามีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับ ไปรษณีย์ไทย ที่มีอายุมากกว่า 140 ปี มีคนทำงานและเครือข่ายการดำเนินงานที่กว้างไกล การเปลี่ยนผ่านจึงกลายเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของผู้นำสูงสุดอย่าง ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

ความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา

ดร.ดนันท์ เผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทย ได้ปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านในหลายด้าน โดยหนึ่งในเรื่องสำคัญลำดับแรกเลยก็คือ การมุ่งเน้นในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพในการให้บริการลูกค้า ซึ่งให้ความสำคัญมากกับสิ่งของที่ส่ง โดยจะมีการตรวจสอบดูว่าสิ่งของที่ส่งเป็นชนิดไหนเพื่อปรับระบบขนส่งสิ่งของให้เหมาะสมกับสินค้า

 

เนื่องจากที่ผ่านมาเรามีการส่งสิ่งของหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ผลไม้ ต้นไม้ ยา เวชภัณฑ์ รวมไปถึงขนาดของพัสดุ เช่น ของชิ้นใหญ่ อาหารสดที่ต้องส่งแบบเย็น สินค้าแต่ละชนิดก็มีรูปแบบการขนส่งที่แตกต่างกันออกไป

 

การเปลี่ยนผ่านอีกเรื่องที่สำคัญก็คือ การทำให้ไปรษณีย์ไทยสามารถทำงานได้ 7 วันโดยไม่มีวันหยุดเลย ทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการมั่นใจได้ว่าของที่ส่งมาจะได้รับการนำจ่ายทันที นำมาสู่การสร้างความพึงพอใจในการใช้บริการที่มากขึ้นไปด้วย

 

รวมไปถึงการเปิดตัว NFT แสตมป์เพื่อตอบโจทย์ทิศทางของโลกยุคใหม่ที่มีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของไทยและอาเซียนอีกด้วย

 

สร้างพันธมิตรเพื่อโตไปด้วยกัน

ต้องยอมรับว่าธุรกิจในปัจจุบันการเติบโตเพียงลำพังคงเป็นไปได้ยาก การร่วมมือกับพันธมิตรจะสามารถเข้ามาช่วยเสริมและทำให้บริการทุกอย่างไปได้เร็วขึ้น รวมไปถึงเมื่อทำงานร่วมกันแล้วตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้นก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ

 

จึงเป็นที่มาของการร่วมมือเป็นพันธมิตรกับผู้นำอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรด้านอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเรียกใช้บริการรับส่งสิ่งของได้ถึงหน้าบ้าน

 

รวมไปถึงการร่วมมือกับผู้ให้บริการทางการเงินอย่างทาง “เอสซีบี ดีแบงก์” (SCB DBANK) หน่วยงานด้านดิจิทัลแบงกิ้ง ของทางธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อส่งเงินกู้ขนาดเล็กหรือ Micro Loan ทำให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการทำธุรกิจให้กับพวกเขา

 

หรือจะในเรื่องของความร่วมมือกับบริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ซึ่งอันนี้เป็นการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายของไปรษณีย์ไทย อย่าง Human Network ที่มีความแข็งแกร่งและครอบคลุมทั่วประเทศ เนื่องจาก BAM มีหน้าที่ดูแลสินทรัพย์ที่มีอยู่มากกว่า 20,000 แห่ง ซึ่งทาง BAM ก็ต้องไปตรวจสอบดูว่าสินทรัพย์ของบริษัทมีการถูกบุกรุกหรือโดนทำลายหรือไม่

 

โดยทางไปรษณีย์ไทยจะใช้เครือข่ายของบุรุษไปรษณีย์ที่มีช่วยตรวจสอบดูแลสินทรัพย์ตรงนั้น และส่งข้อมูลไปที่ BAM โดยที่ทางพันธมิตรไม่ต้องส่งคนออกไปสำรวจสินทรัพย์เอง ถือเป็นการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น และลดต้นทุนให้กับพันธมิตรไปด้วยในตัว

 

รวมถึง การใช้เครือข่ายบุรุษไปรษณีย์ในการให้บริการ Food Delivery แบบ On Demand โดยทาง ไปรษณีย์ไทย ได้จับมือกับ Robinhood เนื่องจากธุรกิจ Food Delivery มีไรเดอร์ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน คนส่งมีจำนวนจำกัดแต่ปริมาณคำสั่งซื้อมีมหาศาล ทำให้ต้องมีการแย่งชิงกัน ซึ่งเครือข่ายบุรุษไปรษณีย์สามารถเข้าไปตอบโจทย์ได้

 

นอกจากนี้ยังมีการจับมือกับพันธมิตรด้านโลจิสติกส์กับอีก 2 รายคือ JWD และ Flash เพื่อเปิดให้บริการ FUZE POST ส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ ในช่วงที่ผ่านมาเทรนด์นี้เติบโตค่อนข้างมาก เนื่องจากพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสดต้องย้ายมาขายบนออนไลน์แพลตฟอร์ม ทำให้จำเป็นต้องส่งของแบบเย็นมากขึ้น

 

นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทย ยังเห็นโอกาสของธุรกิจคลังสินค้าครบวงจร จึงได้เปิดตัว Warehouse fulfillment เพื่อเป็นคลังสินค้าอัตโนมัติ ซึ่งลูกค้าสามารถเอาของมาเก็บที่ไปรษณีย์ได้ เมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามาทางไปรษณีย์ก็จะดำเนินการ จ่าหน้า แพ็กของ และส่งของให้ทันที ปัจจุบันมี Warehouse fulfillment จำนวน 7 แห่งทั่วประเทศ

แนวคิดในการบริหาร “เป้าหมายต้องมาก่อน”

เนื่องจากไปรษณีย์เป็นรัฐวิสาหกิจที่ถือหุ้น 100% โดยกระทรวงการคลัง รัฐในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่มองว่าบริการของไปรษณีย์ไทยเป็นไปเพื่อสังคมและทำเพื่อสังคม ความท้าทายของความเป็นหน่วยงานรัฐก็คือมีกฎระเบียบค่อนข้างมาก แต่จะทำอย่างไรให้สามารถให้บริการได้เหมือนเป็นเอกชน เช่น การเปิดให้บริการต่อเนื่อง 7 วันไม่มีวันหยุด เพราะเรามองว่าการให้บริการเป็นสิ่งสำคัญ

 

ไปรษณีย์ไทยให้ความสำคัญกับลูกค้า ลูกค้าอยากจะส่งของทันที แต่จะทำอย่างไรให้พร้อมให้บริการในวันที่ลูกค้าต้องการส่ง นี่คือสิ่งที่ต้องปรับตัว การดำเนินงานภายในก็มีการปรับเพื่อให้การบริหารจัดการเกิดความคล่องตัวมากขึ้น ด้วยการเอาเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อทำให้การทำงานรวดเร็วมากขึ้น และลดขั้นตอนการทำงานลง

 

และอีกหนึ่งแนวคิดสำคัญ คือ การนำเอารถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ทำให้มีการประหยัดต้นทุนค่าพลังงานและลดคาร์บอนฟุตพรินต์ไปพร้อม ๆ กัน ตรงนี้ทำให้ความคล่องตัวของเราเพิ่มมากขึ้น ทำให้เราสามารถสร้างศักยภาพในการแข่งขันได้

 

ข้อดีของไปรษณีย์ไทย คือ การเปิดให้บริการมานานทำให้กระบวนการในการดำเนินงานของธุรกิจมีความเข้มแข็ง จึงไม่ค่อยเห็นปัญหาหยุดชะงักในการดำเนินการ สิ่งนี้คือ ‘หัวใจสำคัญ’ ของไปรษณีย์ไทย

 

‘ความผูกพัน’ หัวใจของการบริหารคน

ดร.ดนันท์ ให้มุมมองเรื่องคนว่า เป็นสิ่งที่ท้าทายมากเพราะ ‘มนุษย์เป็นสิ่งที่ซับซ้อน’ ที่สุดในโลก ไม่มีอะไรซับซ้อนมากกว่าคนอีกแล้ว เรามีเป้าหมายเป็นที่ตั้ง เมื่อทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันและเข้าใจทุกอย่างตรงกันองค์กรจึงขับเคลื่อนไปได้

 

เพราะฉะนั้นการสื่อสารจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะทำให้ทุกคนเห็นเป้าหมายเดียวกัน โดยเฉพาะในเรื่องของนโยบาย ในเรื่องของทิศทางองค์กร เป็นเรื่องที่ต้องอธิบายว่าทำสิ่งเหล่านี้ไปเพื่ออะไร

 

ยกตัวอย่าง การเปิดให้บริการ 7 วัน แน่นอนว่าคนในระบบราชการจะไม่คุ้นชิน จากที่เคยหยุดไม่ได้หยุด ก็ต้องย้อนกลับมาที่เป้าหมายว่า พ่อค้าและแม่ค้าออนไลน์ เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีการเติบโตจากการมาของธุรกิจอีคอมเมิร์ซและเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของเรา

 

คำถามคือ พวกเขาหยุดในวันที่เราหยุดหรือเปล่า? ถ้าต้องการรักษาลูกค้ากลุ่มนี้เอาไว้ ก็จำเป็นต้องหาวิธีให้บริการอย่างต่อเนื่องกับเขาให้ได้ นี่คือจุดมุ่งหมายของเรา เมื่อเป้าหมายชัดเจนก็สามารถส่งต่อไปสู่การดำเนินการที่เหมาะสมและมีทิศทางที่ใช่

 

รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุรุษไปรษณีย์กับชุมชน บุรุษไปรษณีย์ได้สร้างเครือข่ายของความไว้วางใจเอาไว้อย่างยาวนาน ทำให้มีความน่าเชื่อถือและเข้าอกเข้าใจชุมชนของไทยอย่างลึกซึ้ง สามารถต่อยอดไปยังธุรกิจค้าปลีกได้ และการที่องค์กรจะขับเคลื่อนได้ “ความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กร” คือหัวใจสำคัญที่จะผลักดันให้องค์กรเติบโต เพราะเมื่อพนักงานมีความสุขพวกเขาก็อยากทำงาน อยากอยู่ในองค์กรต่อไปนาน ๆ

 

ดร.ดนันท์ ปิดท้ายว่า การทำเรื่องยาก ๆ ให้ออกมาได้ หรือทำเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ให้เกิดขึ้นให้ได้นั้น วิธีการก็คือ ให้เราทุกคนคิดใหญ่และอย่ายอมแพ้ “Dream Big Never Quit” มองภาพใหญ่ให้ออก แล้วเดินหน้าอย่าล้มเลิก ต่อให้วันนี้ไม่ได้วันหน้าก็ต้องเอาให้ได้ ทางนี้ไม่ได้ก็ต้องมีทางอื่นที่ทำได้

 

ไปรษณีย์ไทยในวันที่ ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ เป็นผู้นำได้มีการปรับตัวให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวมากขึ้น มีการให้บริการหลากหลายรูปแบบ และมีการจับมือกับพันธมิตรที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับไปรษณีย์ไทยได้มากยิ่งขึ้น ผสานจุดแข็งเดิมคือความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับชุมชน ความเข้าใจผู้คนในชุมชน จากการสร้างเครือข่ายมาอย่างยาวนาน จะทำให้ไปรษณีย์ไทยก้าวผ่านไปสู่โลกแห่งความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้

 

เขียนและเรียบเรียง : เอกพล มงคลพัฒนกุล
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/o9fQ6fA
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #Thaipost #ไปรษณีย์ไทย